มะม่วง คาแรกเตอร์เด็กหญิงผมสีน้ำตาลสวมชุดกระโปรงสีเหลืองรูปร่างกระทัดรัดที่คนไทยมักเรียกติดปากว่า น้องมะม่วง หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกเธอว่า มะม่วงจัง เป็นผลงานของ ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร นักวาดที่มีผลงานการ์ตูนรวมเล่มมากมาย เช่น hesheit, ควันใต้หมวก, Everybody Everything, สัตว์เลี้ยงหลังบ้าน ฯลฯ และแน่นอนว่ายังมีหนังสือรวมเล่มของมะม่วงออกมาอีกหลายเล่มทั้งในไทยและญี่ปุ่นอีกด้วย
รูปร่างหน้าตาและบุคลิกของมะม่วงดูจะเข้ากับอะไรได้ง่าย เราจึงได้เห็นมะม่วงปรากฏอยู่ตามสิ่งของหรือตามสถานที่ต่างๆ เสมอ ทั้งบนเสื้อยืด รองเท้า กระเป๋า เครื่องเขียน เครื่องประดับ แก้วน้ำ ปิ่นโต สติกเกอร์ไลน์ ฯลฯ แล้วเธอยังก้าวเข้าไปในวงการดนตรีด้วยการแสดงมิวสิกวิดีโอ อยู่บนปกอัลบั้ม มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงาน มีพื้นที่ให้เธอไปวิ่งเล่นอยู่บนผนังขนาดใหญ่ข้างลานไอซ์สเก็ตช์ในงาน Yokohama Art Rink ที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นมะม่วงยังได้ร่วมงานกับคาแรกเตอร์ชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็นเฮลโลคิตตี และฟูจิโกะที่เป็นกาชาปองหญิงสาวเกาะแก้วยอดฮิต เป็นต้น
ในกรุงเทพฯ เองมี Mamuang Cafe ที่ก่อตั้งจากแรงบันดาลใจและความชอบที่มีต่อมะม่วงอยู่บริเวณหัวมุมถนนหลานหลวงเคียงข้างร้าน Mamuang Shop และไหนๆ happening จะสัมภาษณ์ตั้ม วิศุทธิ์เกี่ยวกับมะม่วงแล้ว ครั้งนี้เราจึงเขามายังคาเฟ่มะม่วงสักหน่อย
ตั้มเลื่อนประตูร้าน เดินตรงเข้ามายิ้มน้อยๆ เพื่อทักทาย แล้วนั่งร่วมโต๊ะกับเราอย่างผ่อนคลาย ก่อนที่การพูดคุยครั้งนี้จะทำให้เรารับรู้เรื่องราวหลายสิ่งเกี่ยวกับมะม่วงที่ไม่เคยรู้มาก่อน
หากเปรียบเทียบกับผลงานอื่นๆ ของวิศุทธิ์แล้ว มะม่วงถือเป็นผลงานคาแรกเตอร์ตัวแรกที่มีการนำเสนอความคิด วิถีชีวิต และความรู้สึกของเธออย่างเรียบง่าย ซึ่งใครๆ ต่างลงความเห็นตรงกันว่ามะม่วงน่ารัก ทั้งหน้าตา ท่าทาง และการแสดงออกทางอารมณ์ประกอบถ้อยคำของเธอ ในขณะเดียวกันมะม่วงยังมีหลายเรื่องราวที่เป็นครั้งแรกของผู้วาดเอง ไม่ว่าจะเป็นโอกาสการทำงานภาพประกอบครั้งแรก และการตั้งชื่อให้กับคาแรกเตอร์เป็นตัวแรก และเป็นตัวละครที่เขาไม่สามารถกำหนดชีวิตของเธอได้อีกด้วย
การปรากฏตัวครั้งแรกและที่มาของชื่อ 'มะม่วง'
ตั้มเริ่มเล่าให้ฟังถึงการวาดคาแรกเตอร์มะม่วงว่าเกิดขึ้นตอนไปเรียนที่ญี่ปุ่น ซึ่งระหว่างนั้นเขาวาดการ์ตูนเป็นหนังสือทำมือไปวางขายในร้านต่างๆ แล้วเริ่มได้รับโอกาสนำผลงานไปจัดแสดง เมื่อเริ่มมีคนสนใจงานของเขาจึงมีการติดต่อเข้ามาให้ทำงานภาพประกอบนิตยสารเป็นครั้งแรก
"ตอนนั้นเราอยู่ที่โกเบ จะเป็นช่วงประมาณพ.ศ. 2546 ครับ มีนิตยสารแฟชั่นติดต่อมาให้พื้นที่วาดภาพประกอบเป็นกรอบเล็กๆ คือนิตยสารญี่ปุ่นเขาจะมีช่องเล็กๆ เยอะใช่ไหม เขาบอกว่าตั้มเขียนอะไรก็ได้ในช่องนี้ จริงๆ เราเป็นคนชอบวาดคอมมิกแล้วงานภาพประกอบเราไม่เคยทำ พอเขาให้พื้นที่เรามาแค่นี้ก็เลยคิดตัวนี้ขึ้นมา เพราะในนิตยสารเป็นช่องเล็กมากเราจะวาดผู้หญิงหรือคนตัวสูงๆ ไม่ได้ ก็เลยต้องวาดคนตัวเล็กๆ พอได้ลงครั้งหนึ่งเขาก็ให้ลงอีก"
หลังจากมะม่วงเริ่มเป็นงานภาพประกอบนิตยสารแล้ว ตั้มซึ่งวาดการ์ตูนเก็บไว้เรื่อยๆ ก็มีผลงานการ์ตูนรวมเล่มเป็นหนังสือ Everybody Everything ที่ออกมาใน พ.ศ. 2548 ซึ่งตัวละครมะม่วงไปปรากฏเป็นตัวประกอบตัวหนึ่งอยู่ในการ์ตูนตอนรถไฟเพียงไม่กี่หน้า แล้วเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเขารู้สึกว่าคาแรกเตอร์นี้มีความแตกต่างจากตัวละครอื่นของเขาคือตอนที่นำผลงานไปจัดแสดงแล้วนำภาพที่วาดไปผลิตเป็นเสื้อยืดออกมาวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก
เสื้อยืดมะม่วงที่ขายอยู่ที่ Mamuang Shop
"ตอนอยู่ญี่ปุ่นเราเขียนการ์ตูนหลายตัว พอไม่มีที่ให้ลงการ์ตูนก็มีวิธีแสดงงานโดยจัดนิทรรศการให้คนได้เห็น ทีนี้เวลาวาดรูปสำหรับจัดนิทรรศการจะมีมะม่วงเป็นผลงานอยู่สักประมาณ 5% ในนั้น ซึ่งในนิทรรศการก็มีการนำลาย hesheit กับมะม่วงมาสกรีนเสื้อวางขายด้วย ปรากฏว่าเสื้อมะม่วงขายได้อยู่คนเดียว คนไม่รู้จักเรา ไม่รู้จักรูปวาดเรา แต่เห็นมะม่วงแล้วเขาบอกว่าน่ารัก พอเสื้อมะม่วงหมดทางแกลเลอรีก็โทรมาบอก เราก็ทำไปวางใหม่ แล้วเริ่มสังเกตว่าตัวนี้มันขายได้ คือเราก็รักทุกตัวที่วาดมานะ แต่คนจำมะม่วงได้ พอคนจำได้เราก็ต้องตอบรับเขา"
มะม่วงจึงเป็นคาแรกเตอร์ที่ถือว่าเกิดที่ญี่ปุ่นและเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนญี่ปุ่นทั้งจากภาพประกอบในนิตยสารและการจัดแสดงผลงานในนิทรรศการ แต่ด้วยชื่อที่ตั้งจากคำไทยประกอบกับทรงผมหนานุ่มและสีกระโปรงที่คล้ายมะม่วงน้ำดอกไม้สุกทำให้ชื่อของเธอดูเหมาะเจาะจนคนไทยรู้สึกคุ้นเคยและเปิดรับเธอทันทีที่ได้รู้จักเหมือนกัน
พอเราถามถึงที่มาของชื่อมะม่วง เขาหมุนแก้วเครื่องดื่มในมือแล้วมองรูปมะม่วงบนแก้วสักพักก่อนตอบว่า "เราวาดคาแรกเตอร์มาหลายตัว แต่ไม่เคยตั้งชื่อตัวอะไรเลย พอวาดมะม่วงออกมาแล้วใครเห็นเขาก็ทักว่าน่ารัก เพื่อนๆ ที่ญี่ปุ่นถามว่าชื่ออะไร เราก็บอกว่าไม่ได้ตั้งเลย ชื่ออะไรดี ตอนแรกเราบอกว่าชื่อมังคุดไหม เขาก็บอกว่าไม่เวิร์ก เราเลยบอกว่างั้นแมงโกละกัน ไม่ใช่แมงโกสทีน (mangosteen) เพื่อนญี่ปุ่นถามว่ามีภาษาไทยไหม เราบอก 'มะม่วง' เขาก็บอกว่า 'เออ มะม่วงนี่แหละ' ชื่อนี้เลยมีเพื่อนช่วยคิด ช่วยฟัง และดูเอ็นจอยดีตอนที่เขาได้ยินชื่อภาษาไทย" น้องมะม่วงเกือบจะมีชื่อว่ามังคุดซะแล้วสิ
MAMUANG WALK ชิ้นงานขนาด 30 เซนติเมตรที่ผลิตออกมาวางจำหน่ายเพียง 200 ชิ้น
เสน่ห์ที่เหนือความคาดหมายเมื่อมะม่วงปรากฏตัว
ในช่วงแรกของการทำงานสื่อผสมที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมะม่วงเข้าไปมีส่วนร่วมในงาน ทั้งบุคลิกและสีสันที่สดใสของเธอนั้นมาจากความตั้งใจที่ตั้ม วิศุทธิ์ต้องการสร้างสรรค์ให้ดูขัดแย้งจากผลงานเรื่องอื่นของเขา ซึ่งเมื่อเข้ามาอยู่ในการแสดงแล้วเขากลับรับรู้ถึงผลตอบรับอย่างที่ไม่เคยได้รับจากคาแรกเตอร์ตัวอื่นๆ ที่เคยวาดมาก่อน
ตั้มค่อยๆ เล่าถึงช่วงเวลานั้นให้ฟังว่า "ตอนนั้นมีงานแอนิเมชันในอีเวนต์งานหนึ่ง เรายังอัดเสียงเข้าไปในแอนิเมชันไม่เป็นก็เลยบอกว่าขอเล่นดนตรีสดตรงหน้าจอเลยละกัน ซึ่งงานนั้นจะมีนักร้องคนอื่นในงานและเป็นกลุ่มลูกค้าผู้หญิงด้วย วันงานนำเปียโนไปตั้งหน้าจอโปรเจกเตอร์ พอถึงคิวเราก็มีแอนิเมชันประกอบกับเปียโนที่เราเล่นไล่ไปตั้งแต่ hesheit โคตรโหดและเละที่สุด พอจบ hesheit เป็นมะม่วงขึ้นมา คนดูเขากรี๊ด บอกว่า 'คาวาอี้' ทั้งๆ ที่เขาไม่รู้จักตัวนี้มาก่อน" ตั้มเล่าด้วยความรู้สึกทึ่งกับปฏิกิริยาที่ได้จากคนดูเป็นครั้งแรกปนเสียงหัวเราะ "แล้วพอกลับมาเป็น hesheit เขาก็เงียบ คือมันทำให้เรารู้ว่ารีแอคชันมันสว่างกับมืด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตั้งใจนะ เพราะว่าเราชอบทำงานที่มีหลายมุมมอง เราตั้งใจวาด hesheit ให้เละที่สุดแล้วสลับกับมะม่วงซึ่งโผล่มาครึ่งนาทีเอง เลยเริ่มสังเกตว่าเราไม่เคยเจอรีแอคชันแบบนี้"
การทำงานส่วนตัวที่อยากให้ผู้ชมรับรู้ความรู้สึกหลากหลายและจงใจที่จะวาดผลงานให้ดูขัดแย้งแตกต่างทั้งเรื่องราวและอารมณ์ ดูเหมือนจะเป็นการสร้างคาแรกเตอร์และบุคลิกของมะม่วงให้เป็นที่โดนใจของผู้ชมอย่างไม่รู้ตัว
ถึงกระนั้นระหว่างที่คุยกันตั้มก็เปิดเผยว่าเขาไม่สามารถรู้สึกถึงความน่ารักของมะม่วงอย่างที่คนอื่นสัมผัสได้จริงๆ "คือเราเป็นผู้ชาย เราไม่ได้ตั้งใจวาดสิ่งน่ารักขึ้นมาหรอก เราแค่วาดการ์ตูนหลายๆ ตัวไง เพียงแต่ว่าตัวมะม่วงนี้คนเขาเห็นแล้วเขาตอบเราในมุมที่เราไม่เคยเจอ แล้วลูกค้าเข้ามาในลักษณะที่ไม่เหมือนกับที่เราเคยเจอ คนที่เข้ามาไม่ใช่นักอ่านเนิร์ดๆ ไม่ใช่คนลึกๆ อย่างเดียว บางคนก็มาแบบ ...น่ารัก ซื้อ จบ อย่างนี้ แต่ก่อนเราคิดว่าคนเราต้องอาร์ตๆ ลึกๆ หน่อยใช่ไหม แล้วเราไม่เข้าใจคนที่ป๊อปๆ แบบนี้ แต่พอเราเขียนมะม่วงแล้วมันก็บอกอะไรเราหลายอย่าง มันทำให้ใจเราเปิดว่า เฮ้ยจริงๆ แล้ว คนเราก็มีหลายแบบนะ เหมือนโดนซะเองที่ว่าให้มองหลายๆ มุมน่ะ เมื่อก่อนเพลงป๊อปก็ไม่เคยฟัง เดี๋ยวนี้ได้หมดเลย ใจมันเปิดให้กับคนที่เราไม่เคยเข้าใจหมดเลย"
เสน่ห์ของมะม่วงจึงไม่เพียงก้าวเข้าไปในหัวใจของผู้พบเห็น แต่ยังทำให้ตั้มเองเปิดใจต่อมุมมองต่างๆ ที่เขาไม่เคยเห็นอีกด้วย
ความธรรมดาของมะม่วงที่ทำให้คนหลงรัก
ขณะที่มะม่วงเริ่มได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เขาจึงรู้สึกว่าผลงานของเขาได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปมากขึ้น รวมถึงคุณแม่ของเขาเองที่ไม่เคยอ่านการ์ตูนของเขารู้เรื่องมาก่อนด้วย
"เมื่อก่อนเราบอกแม่ว่ามีคนจ้างวาดการ์ตูนด้วย ตอนนั้นลงนิตยสาร Katch ของ B-Boyd ตั้งแต่ 2542 ก่อนที่จะมาลง a day ใช่ไหม ทีนี้เขาอ่าน hesheit แล้วไม่เข้าใจ หนึ่งไม่เข้าใจเนื้อเรื่อง สองไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่านี่คือรูปอะไร เราก็พยายามอธิบายเขาว่ามันเป็นอย่างนี้นะ มันไม่ได้พูดตรงๆ หรือบางตอนมันเซอร์มากแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่แม่เขาทำใจไม่ได้ว่าเรื่องนี้จะไปไหนรอด ยังเป็นห่วงเหมือนเดิม ทีนี้เราก็คิดว่าทำไมเขาไม่เข้าใจเรา แต่พอเราวาดไปสักพักฝีมือมันดีขึ้นตามธรรมชาติ เริ่มวาดไม่ผิด เส้นน้อยลง ตัวมันดูง่ายขึ้นไม่ต้องขีดฆ่า แล้วก็เกิดตัวมะม่วงออกมา พอแม่เห็นมะม่วงเขาก็บอกว่าน่ารัก พูดเหมือนคนญี่ปุ่นเลย แสดงว่าอย่างน้อยเราก็มีตัวละครตัวหนึ่งที่ทำให้แม่ดูรู้เรื่องแล้ว ทีนี้พอมะม่วงน่ารักคนที่มาจ้างงานเราก็ไม่ใช่หนังสืออาร์ตๆ ไม่ใช่แกลเลอรีเซอร์ๆ แต่เป็นลูกค้าที่เป็นคนทั่วไป หนังสือแฟชั่นที่มีนางแบบ มีโฆษณา แล้วมีมะม่วงเป็นภาพประกอบอยู่ในนั้น มีงานที่บริษัทใหญ่ๆ จ้างเรามากขึ้นเพราะอิมเมจของมะม่วงไม่เซอร์ สิ่งนี้แหละที่ทำให้แม่เรายอมรับ แม่สบายใจเราก็ดีใจ" ตั้มหยุดคิดถึงคาแรกเตอร์ตัวนี้ที่มีส่วนคลี่คลายความรู้สึกระหว่างเขากับคุณแม่อยู่ครู่หนึ่ง "จริงๆ เราก็คิดเรื่องนั้นเยอะเหมือนกัน เพราะการที่แม่ไม่สบายใจก็เป็นส่วนหนึ่งของเราที่ไม่สามารถเพิกเฉยได้ และการยอมรับจากคนทั่วไปด้วย จริงๆ เราก็รู้ตัวว่าเราแค่อยากเป็นคนปกติ"
แน่นอนว่าใครต่อใครรู้สึกตรงกันว่ามะม่วงน่ารัก แล้วในฐานะของคนวาดเองตั้มรู้สึกต่อมะม่วงอย่างไร เขาหันมามองตาแล้วบอกความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาว่าคาแรกเตอร์นี้มีความธรรมดา ไม่มีเรื่องราวตื่นเต้นเหนือความคาดหมาย ไม่มีจุดหักมุมใดๆ เหมือนการ์ตูนเรื่องอื่นที่เขาเคยเขียนมา เพราะในฐานะนักวาดเขารู้สึกว่าคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจน่าจะต้องมีความเท่ แปลงร่างได้ มีพลังวิเศษ ย้อนเวลาได้หรือมีความพิเศษสักหน่อย
"เราไม่เข้าใจหรอกว่าคำว่าน่ารักคืออะไร เราเป็นผู้ชาย เราชอบอะไรแบบเหี้ยๆ เละๆ พังๆ ตาย หัวขาด อะไรอย่างนี้ เราก็เป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่เข้าใจว่าคำว่าน่ารักคืออะไร แต่พอวาดมะม่วงออกไปแล้วคนรอบๆ ตัวเขาบอกว่าน่ารัก แม่เรา แฟนเรา เพื่อนเรา เราก็อ๋อ ...น่ารักเหรอ เดี๋ยววาดให้อีกรูปแล้วกัน เป็นแบบนี้เรื่อยมาจน 19 ปีแล้ว" ตั้มหัวเราะกับการวาดคาแรกเตอร์น่ารักๆ ที่เขาเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน
"ในมุมมองผู้ชายอย่างเรารู้สึกว่ามะม่วงน่ะธรรมดา ไม่เห็นเจ๋งเลย แต่เราวาดไปเพื่อแกล้งตัวเอง หมายถึงว่าไม่ต้องทำแต่สิ่งที่ชอบก็ได้ เราไม่ใช่คนใสๆ แต่เมื่อมีความต้องการให้วาดมะม่วงเราก็วาดออกมาเยอะ เราไม่ได้เกลียดอะไรนะ มันทำงานได้ แล้วคนแฮปปี้กับมัน แรกๆ จะรู้สึกว่าทำเพื่อขจัดอีโก้ตัวเอง ทำด้วยความไม่คิดอะไรเลย ไม่คิดว่ามันเจ๋ง ไม่คิดว่ากูเจ๋งไง กูเลยวาดตัวนี้ เพราะมะม่วงมันไม่เจ๋ง ทำอะไรธรรมดา เนื้อเรื่องก็ไม่มี เราเป็นคนชอบคิดการ์ตูนชอบคิดสตอรี่มาก ถ้าเรื่องมีอะไรซับซ้อนแบบเจ๋งว่ะที่คิดสตอรี่นี้ออกมาได้ มันจะตอบสนองอีโก้เรา แต่มะม่วงไม่มีสตอรี่ มันก็ไม่สามารถตอบสนองอีโก้ของเราเต็มๆ ได้ แต่เราคิดว่าไหนลองทำสิ จะต้องใช้ความยอม ความกล้าที่จะไม่เจ๋ง เลยวาดไปแบบที่รู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นของเรา นั่นคือความรู้สึกตอนวาดแรกๆ ช่วงหลังเริ่มคิดว่าเรายังรู้สึกว่ามะม่วงเป็นตัวละครที่ไม่เหมือนเราวาดนะ ทั้งๆ ที่เป็นคนวาดออกมา มันเป็นคาแรกเตอร์ที่เราไม่อธิบายไม่ค่อยถูก เหมือนมองกระจกแล้วสบตากับตัวเองนานๆ มันจะหลอนประมาณหนึ่ง ตกลงนี่เราเหรอ สำหรับเรากับมะม่วงเป็นแบบนั้นแหละ เราไม่ใช่คนน่ารัก เป็นคนทื่อๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเขาก็คงเป็นส่วนหนึ่งของเรา"
มะม่วงเป็นคาแรกเตอร์ที่มีชีวิตเป็นของตัวเอง
เมื่อมะม่วงเป็นคาแรกเตอร์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มะม่วงจึงมีผลงานออกมาหลายรูปแบบทั้งแอนิเมชัน หนังสือการ์ตูน เสื้อยืด รองเท้า กระเป๋า สติกเกอร์ การ์ดอวยพร ผ้าเช็ดหน้า หมอน สมุดสติกเกอร์ เครื่องเขียน ภาชนะ ฯลฯ แล้วยังทำงานร่วมกับแบรนด์และคาแรกเตอร์อื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศมากมาย รวมถึงการทำสินค้าที่สะท้อนสินค้าที่คนไทยคุ้นเคยอย่างปิ่นโตและแก้วกับแบรนด์ Rabbit Brand เป็นต้น
หากรู้สึกว่าสินค้ามะม่วงถูกสร้างสรรค์ออกมามากมายแล้วล่ะก็ วิศุทธิ์บอกว่าสิ่งที่เขาผลิตออกมามีปีละชิ้นหรือสองชิ้นเท่านั้น แต่ระยะเวลาที่มะม่วงอยู่มาถึง 19 ปีแล้วทำให้มีสินค้าที่ยังคงมีจำหน่ายอยู่มาวางรวมกัน นอกจากนั้นจะเป็นการทำงานร่วมกับแบรนด์อื่นหรือมีคนติดต่อขอให้เขาวาดภาพเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าด้วยตัวเอง อย่าง Mamuang Cafe เขาก็มอบลิขสิทธิ์ให้ทางร้านนำไปทำ จนออกมาในรูปแบบคาเฟ่ที่มีขนม เครื่องดื่ม และสินค้าที่สร้างสรรค์จากคาแรกเตอร์ของมะม่วงอย่างที่เห็น
มะม่วงเป็นคาแรกเตอร์ที่มีบทบาทหลากหลาย เธอเป็นได้ทั้งเด็กผู้หญิงในการ์ตูนสี่ช่อง นอนพักผ่อนกับมะนาวหมาของเธอในวันที่คนอื่นกำลังทำงานกัน แต่ก็ยังขยันที่จะทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ และมีโอกาสเดินทางไปปรากฏตัวในต่างประเทศอยู่เสมอ
สำหรับวิศุทธิ์มะม่วงเป็นคาแรกเตอร์ที่เขาปล่อยให้เธอเป็นได้ทุกอย่าง "ผมรู้สึกว่าปล่อยไปเลย ไม่ต้องไปนั่งควบคุมว่างานนี้จะต้องเป็นเรา เหมือนเราเป็นสีน้ำเงินแล้วอยู่มาวันหนึ่งอีกคนเป็นสีแดง เขาเดินมาบอกว่าเรามาผสมกันเถอะ เราก็หยดไป ผสมมาเป็นสีม่วงน้ำเงิน หรือม่วงแดง มะม่วงทำกับคนนี้เป็นแบบนี้ บางคนปล่อยให้เราทำหมดเลยก็ออกมาเป็นเราเยอะหน่อย ซึ่งเราก็รู้สึกสนุกดีที่ได้เห็นมะม่วงในรูปแบบต่างๆ"
เราสามารถเห็นมะม่วงในรูปแบบที่ต่างไป แต่ไม่ว่าเธอจะทำอะไร มีสีสันที่ต่างไปจากเดิมแค่ไหน แต่มะม่วงยังคงเป็นมะม่วงที่มีบุคลิกเป็นตัวของตัวเองอยู่เสมอ นั่นทำให้เราสงสัยว่าตั้มมีการกำหนดคาแรกเตอร์ให้มะม่วงไว้อย่างไร แล้วเราก็ได้รับคำตอบจากเขาว่าเขาไม่ได้เป็นคนกำหนดเลย
"ผมไม่ได้กำหนด แต่สมมติเราคิดสตอรี่มาอยากให้มะม่วงเป็นคาแรกเตอร์ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบเอาขวานจามหัวหมาในซอยอย่างนี้ เราเขียนไม่ได้ เราจะไปวาดตัวอื่นที่ไม่ใช่มะม่วง เหมือนกับเราเป็นนักเขียนบทหนังแล้วเรามีนักแสดงในสังกัดหลายๆ ตัวใช่ไหม บทนี้เหมาะกับตัวนี้ ตัวนี้เล่นแล้วถึง สำหรับบทที่มะม่วงเล่นได้จะมีโซนหนึ่ง ซึ่งบทขวานจามหัวหมามะม่วงเล่นไม่เข้า" ตั้มยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพได้ชัดมาก
เขายังอธิบายถึงคาแรกเตอร์ของมะม่วงและตัวละครอื่นๆ ของตัวเองต่อว่า "ถ้าถามว่าเรากำหนดคาแรกเตอร์เขาหรือเปล่า เราไม่ได้คิดในมุมมองแบบนั้นนะ เราคิดว่าเนื้อเรื่องนี้ให้คนนี้เล่นได้ เพราะฉะนั้นเขาเป็นคนกำหนดคาแรกเตอร์ของเขาเอง เหมือนเขามีชีวิตของเขา เราไปยุ่งกับเขาไม่ได้ อย่างเราชอบคิดการ์ตูนทะลึ่งลามก แล้วสมมติวันหนึ่งเราคิดว่ามะม่วงถกกระโปรงแล้วมีช้างน้อยอะไรอย่างนี้ เราคิดเล่นๆ ได้ แต่เราวาดไม่ลง มันวาดไม่ได้ วาดเล่นๆ ยังไม่กล้าวาดเลย อยู่บ้านวาดคนเดียวดูคนเดียวเราก็ไม่กล้าวาด รู้สึกว่าเขาไม่ให้วาดน่ะ ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าเราสร้างเขาขึ้นมาหรือเขาสร้างเรากันแน่ หรือในอีกมุมมองคือตัวเรามีหลายนิสัยอยู่ในตัว แล้วมะม่วงก็เป็นด้านหนึ่งของเรา เราอาจจะมีความเป็นมะม่วงอยู่แค่ 1% แล้วมันดันโดนสั่งงานเยอะ จนเหมือนเราเป็นมนุษย์มะม่วง เราเลยรู้สึกว่านี่ไม่ใช่กู แต่จริงๆ แล้วมันก็คือส่วนหนึ่งของเราแหละ"
นับตั้งแต่วันที่มะม่วงเป็นภาพประกอบในนิตยสารญี่ปุ่น ปัจจุบันมะม่วงยังมีการ์ตูนลงนิตยสารญี่ปุ่น Big Issue Japan ต่อเนื่องมาเป็นเวลาสิบปีแล้ว รวมถึงมีการ์ตูนลงในนิตยสารแฟชั่นที่ขายดีติดอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่นอย่าง Linière ทุกเดือนด้วยเหมือนกัน ในไทยเองมะม่วงจะส่งท้ายปี 2564 ด้วยนิทรรศการ UOY MA I ที่จะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งตั้ม วิศุทธิ์จะได้วาดผลงานชิ้นใหญ่ครั้งแรกอีกด้วย
เขาพูดถึงการทำชิ้นงานมะม่วงขนาดใหญ่อย่างที่เขาไม่เคยทำมาก่อนไว้ว่า "เวลาคนชวนไปจัดนิทรรศการเราจะมีแต่ผลงานชิ้นเล็ก ซึ่งถ้าสถานที่จัดแสดงกำแพงใหญ่เราจะนำชิ้นเล็กๆ ไปจัดคงไม่เหมาะ ถ้าดูจากระยะไกลมันควรจะเห็นรูปใหญ่ใช่ไหม ทีนี้งานเพ้นต์เหมือนคนละโลก อย่างพื้นที่ในหน้ากระดาษเวลาขีดเส้นหนึ่งวินาทีเอง แต่พอจะขีดในแคนวาสกว่าจะได้เส้นหนึ่งเราว่ามันต่างกันเป็นร้อยเท่า" ดังนั้นมั่นใจได้ว่าคนที่ได้ชมนิทรรศการนี้คงจะได้รับประสบการณ์ใหม่ไม่ต่างจากตัวเขาเลยทีเดียว
เส้นทางความสำเร็จของมะม่วงเป็นตัวอย่างหนึ่งของคาแรกเตอร์ไทยที่ดังไปไกลในระดับนานาชาติเลยทีเดียว เราจึงลองถามตั้มถึงโอกาสและพื้นที่สำหรับคาแรกเตอร์ไทยดูบ้าง เขาตอบอย่างมั่นใจว่า "สบาย คนไทยเก่งจะตาย เราไม่ใช่คนไทยที่เก่งที่สุดในคนไทยนะ มีคนเก่งกว่าเราแล้วเขาก็ตอบโจทย์คนไทยได้เก่งกว่าเราแน่ๆ เรามันคนรุ่นเก่านะ คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ฉลาด ค้นคว้า มีอนาคตแน่นอน"
ขอเพียงแต่ละคาแรกเตอร์ได้มีจุดเริ่มต้นของตัวเอง เขาอาจจะเลือกทางเดินให้กับตัวเองอย่างที่มะม่วงเป็นอยู่ก็ได้
ขอบคุณ Mamuang Cafe และ Mamuang Shop เอื้อเฟื้อสถานที่สัมภาษณ์และถ่ายภาพ