Rabbit Brand ภาชนะเคลือบตรากระต่าย ที่หวังว่าจะกระโดดเข้าไปปรุงแต่งความสุขในการทำครัวให้กับคนไทยไปอีกหลายร้อยปี

    เชื่อว่าแม้จะไม่รู้จักกับคำว่า อีนาเมล (enamel) แต่หลายๆ บ้านอาจจะมีหม้ออวยไว้ใส่น้ำมันหมู และถาดลายดอกที่ใส่หมูเห็ดเป็ดไก่มาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า ก่อนที่จะส่งต่อมาไว้ในครัวของแม่ แล้วทำให้คนรุ่นใหม่อย่างรุ่นเราเริ่มเห็นว่า เจ้าหม้อทรงนี้มีเสน่ห์น่ารักดีเหมือนกัน หรืออย่างน้อยคงมีสักครั้งที่เคยเห็นสำรับอาหารใส่จานชามเคลือบสีเหลืองขอบเขียวจัดวางมาบนถาดรูปดอกไม้สีสันสดใส อย่างที่ใครๆ มักเรียกกันติดปากว่า จานชามสังกะสีและถาดพ่นลาย ทั้งๆ ที่ภาชนะเหล่านั้นไม่มีส่วนประกอบของสังกะสีเลยสักนิดเดียว
    สำหรับภาชนะเคลือบเครื่องหมายการค้า ตรากระต่าย (Rabbit Brand) ภายใต้การผลิตโดย บริษัท โรงงานอุตสาหกรรมภาชนะเคลือบ จำกัด หรือ สยามอีนาเมล (Siam Enamel) ถือว่าเป็นหนึ่งในยี่ห้อหรือแบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมานานตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ก่อตั้งโดยรุ่นคุณปู่ โศภณ สันติพันธ์พิทักษ์ ผู้บุกเบิกการผลิตภาชนะและเครื่องใช้ในครัวรูปแบบต่างๆ ก่อนที่ในรุ่นคุณพ่อ สนิท สันติพันธ์พิทักษ์ จะเริ่มขยับขยายการเติบโตเป็นฐานการผลิตให้กับต่างประเทศ แล้วกำลังส่งต่อถึงรุ่นลูก พิริยะ สันติพันธ์พิทักษ์ ผู้เป็นผู้สืบทอดรุ่นที่สามของผลิตภัณฑ์ตรากระต่าย และหวังว่าเขาจะสามารถพาธุรกิจของครอบครัวดำเนินต่อไปเพื่อก้าวเข้าสู่หลักร้อยปีอย่างยั่งยืน

    หากเทียบกับอายุคนถือได้ว่า เข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้ว แต่ภาชนะและเครื่องครัวแบบดั้งเดิมที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้ยังคงรูปแบบคลาสสิก คู่สีร่วมสมัย ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาการออกแบบภาชนะคอลเลกชันใหม่ๆ จากลวดลายการออกแบบที่ร่วมกับศิลปินไทยออกมาให้เลือกใช้กัน ประสบการณ์ที่คนไทยมีต่อตรากระต่าย จึงเป็นแบรนด์รุ่นใหญ่ที่อบอุ่นคุ้นเคย แต่ก็ยังพูดคุยกับรุ่นลูกหลานได้อย่างสนุกสนานเป็นกันเอง

หนึ่งก้าวกระโดดของตรากระต่าย
    พิริยะเชื้อเชิญให้เข้ามาคุยในห้องประชุมซึ่งแบ่งส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงสินค้า ภาชนะเคลือบอีนาเมลทั้ง ถาด ปิ่นโต แก้ว จาน ชาม กะละมัง หม้อ และเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งแบบชิ้นและเป็นชุดจัดเรียงกันอยู่บนชั้น รับรองได้ว่า ถ้าคนรักเครื่องครัวมาเห็นจะต้องเพลิดเพลินกับการเดินชมและอดไม่ได้ที่จะหยิบจับขึ้นมาดู ที่สำคัญสินค้าหลายๆ ชิ้นก็ให้ความรู้สึกคุ้นเคย และกระตุ้นความทรงจำในวันวานของแต่ละคนอย่างแน่นอน
    เมื่อนั่งลงที่โต๊ะ สิ่งที่โดดเด่นอยู่เบื้องหลังของเขาคือ ลายเส้นรูปกระต่ายสีน้ำเงินในวงกลมสีเหลืองที่อยู่ในกรอบหกเหลี่ยมอีกที ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของตรากระต่ายนั่นเอง เราจึงเริ่มต้นด้วยการถามถึงที่มาของแบรนด์ตรากระต่ายจากเขา "เดิมทีอากงของผมเป็นคนจีนที่ย้ายมาอยู่ที่เมืองไทยนานแล้วนะครับ ท่านเคยค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคมาหลายอย่าง ในกลุ่มนั้นจะมีเครื่องครัวและภาชนะต่างๆ ด้วย ซึ่งท่านเห็นว่าสินค้ากลุ่มนี้น่าจะมีโอกาสทำตลาดในเมืองไทยอีกเยอะ จึงตัดสินใจลงทุนซื้อเครื่องจักรในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อผลิตภาชนะเคลือบอีนาเมลในเมืองไทย แล้วก่อตั้งบริษัท โรงงานอุตสาหกรรมภาชนะเคลือบ สยามอีนาเมล ขึ้นเมื่อปี 2498" 
    โดยภาชนะที่เริ่มผลิตช่วงแรกเริ่มจากของที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง จาน ชาม และกะละมัง ก่อนที่จะเริ่มสร้างสรรค์ ปิ่นโต หม้อ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามมา ซึ่งเมื่อคนเริ่มนิยมใช้กันอย่างกว้างขวางจึงเริ่มเรียกกันติดปากว่า จานชามสังกะสีเคลือบ จากเสียงของวัสดุที่กระทบกันแล้วฟังเหมือนโลหะนั่นเอง 
    ขณะที่แท้จริงวัสดุด้านในคือ เหล็กที่นำมาขึ้นรูปแล้วเคลือบด้วยสีที่มีส่วนผสมทางเคมีในเทคนิคที่เรียกว่าอีนาเมล แล้วอบในอุณหภูมิสูงถึง 800 องศา จนออกมาเป็นภาชนะเคลือบที่มีพื้นผิวมันวาวคล้ายแก้ว กลายมาเป็นภาชนะที่แข็งแรงคงทน ปลอดภัยสำหรับใส่อาหาร ใส่ได้ทั้งของร้อนของเย็น สามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย ที่สำคัญภาชนะเคลือบอีนาเมลสามารถนำไปใช้กับเตาแก๊ส เตาอบ เตาไฟฟ้า หม้อทอดไร้น้ำมัน ซึ้งนึ่งอาหาร สำหรับทำอาหารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นต้ม อบ ทอด นึ่ง หรือจะใช้แทนหม้อสุกี้ชาบูบนเตาแม่เหล็กไฟฟ้าก็ได้ เพราะภาชนะเคลือบอีนาเมลนั้นสามารถเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟไฟ้าได้นั่นเอง ขณะเดียวกันภาชนะเคลือบอีนาเมลที่มีคุณสมบัติการใช้งานที่หลากหลายขนาดนี้ แต่ควรระวังไม่นำเข้าไมโครเวฟ เพราะวัสดุด้านในเป็นเหล็กนั่นเอง
    พิริยะเล่าว่า เทคนิคการผลิตตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันยังคงใช้เทคนิคเดียวกัน ในยุคคุณปู่อาจจะเป็นช่วงที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อทดลองตลาดคนไทย เมื่อธุรกิจดำเนินมาถึงรุ่นคุณพ่อตอน พ.ศ. 2526 มีการย้ายฐานการผลิตมาตั้งโรงงานขนาดใหญ่ขึ้น มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเครื่องมือที่ทันสมัยยิ่งขึ้นเพื่อกระบวนการที่ต่อเนื่อง รวมถึงขนาดเตาอบใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับปริมาณการผลิต แล้วช่วง พ.ศ. 2540 จึงเริ่มมีลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาหาแหล่งผลิตสินค้า นี่จึงเป็นอีกก้าวที่สยามอีนาเมลเริ่มผลิตสินค้าส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน
    เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันเขาจึงอยากกระโดดเข้ามาสร้างการรับรู้ในกลุ่มคนในประเทศอีกครั้ง เนื่องจากส่วนตัวมองเห็นศักยภาพของสินค้าซึ่งมีคุณสมบัติที่ดี กระบวนการผลิตและเทคนิคการเคลือบอีนาเมลมีสีสันที่หลากหลาย และกลุ่มสินค้าที่เป็นภาชนะเครื่องครัวเหล่านี้ยังมีพื้นที่สำหรับตรากระต่ายอยู่อีกมาก 
    "พอมาถึงตอนนี้ผมพยายามสร้างแบรนด์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น แน่นอนว่า เรายังผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศและเป็น OEM ที่รับผลิตสินค้าให้ต่างประเทศอยู่ แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยุคนี้การทำธุรกิจกับต่างประเทศจึงแตกต่างไปจากเมื่อก่อน และผมเองมองว่าตลาดในเมืองไทยยังมีพื้นที่ในการเติบโตอยู่ และอยากให้ตรากระต่ายได้สร้างความผูกพันกับพี่น้องคนไทยให้มากยิ่งขึ้น"
    เมื่อพูดถึงการทำแบรนด์ตรากระต่ายในยุคของเขา พิริยะเริ่มอธิบายให้เราเห็นภาพการเดินทางของแบรนด์มากขึ้น "แต่ละแบรนด์มีคาแรกเตอร์ไม่เหมือนกัน ปัจจุบันตรากระต่ายมีอายุ 66 ปีแล้วนะครับ แต่ถ้าพูดกันจริงๆ ยังมีแบรนด์เก่าแก่ที่อายุหลักร้อยซึ่งเป็นรุ่นพี่เราอีกหลายยี่ห้อ ซึ่งผมรู้สึกว่าอยากให้แบรนด์ตรากระต่ายของเรามีอายุถึงร้อยปีและสืบต่อไป เราอยากมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนว่าเราคือผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนที่ร่วมสมัย ไม่ใช่ของเก่าที่คนไม่ใช้แล้ว"
    ดังนั้นไม่ว่าจะมีสินค้ารุ่นเดิมนำกลับมาผลิตอีกครั้ง หรือมีการปรับเปลี่ยนดีไซน์และสีสันให้เข้ากับยุคสมัย แต่เขายังพยายามคงความเป็นต้นแบบภาชนะเคลือบอีนาเมลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของผลิตภัณฑ์ตรากระต่ายไว้ให้ผู้คนสัมผัส แล้วปล่อยให้ตัวสินค้าที่มีความผูกพันกับคนไทยเหล่านั้น ทำหน้าที่สร้างความเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ด้วยตัวเองต่อไป
เอกลักษณ์ ความคลาสสิก และการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่
    พิริยะอธิบายถึงกระบวนการผลิตภาชนะต่างๆ ว่า แม้ปัจจุบันจะมีเครื่องจักรและเครื่องมือทันสมัยเข้ามา แต่ในกระบวนการผลิตยังมีขั้นตอนที่ต้องใช้ทักษะฝีมือคนเป็นสำคัญ โดยนอกเหนือจากจาน ชาม แก้ว หม้ออวย และปิ่นโตสีพื้นมีขอบคู่สีเข้มที่หลายบ้านใช้อยู่เป็นประจำแล้ว ยังมีจานชามและถาดพ่นลายรูปดอกไม้สีสันสดใสที่คนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยมีความใกล้ชิด ยังถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าเอกลักษณ์ของตรากระต่ายเลยทีเดียว
    "ยุคสมัยของคุณปู่ผมพอมีสินค้าที่เป็นจานชามสีขาวขอบน้ำเงินกับสีเหลืองขอบเขียวแล้ว เริ่มอยากเติมลวดลายต่างๆ เข้าไป จนเกิดเป็นถาดพ่นลายขึ้นครับ โดยเริ่มต้นจากการทำถาดสีพื้นขึ้นมาก่อน แล้วจึงนำแบบที่แกะลวดลายแบบสเตนซิลมาวางแล้วพ่นสีเป็นชั้นๆ ถาดแต่ละแบบจะมีลวดลายและสีที่พ่นแต่ละชั้นไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับจินตนาการและการออกแบบของทีมช่างที่สร้างสรรค์ขึ้นมา"
    โดยช่างจะนำแผ่นเหล็กมาฉลุขึ้นลาย ลายของถาดแต่ละลายจะมีการใช้แบบสำหรับพ่นสีเป็นชั้นๆ ที่ไม่เหมือนกัน โดยมีลายหนึ่งที่มักนำมาใช้ในงานมงคลคือลาย เล่งหงษ์ ที่เป็นรูปมังกร หงษ์ และตัวอักษรจีนว่า ซังฮี้ หรือ ซวงสี่ ซึ่งมีความหมายว่า ความสุขคู่กัน ซึ่งเขาบอกว่า ต้องใช้แบบสำหรับพ่นลายถึง 30 ชั้นเลยทีเดียว 
    "ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นกึ่งงานคราฟต์ครับ จึงใช้เวลาในการผลิต และสินค้าที่ผลิตออกมาอาจจะมีรายละเอียดของตัวชิ้นงานที่แตกต่างกันบ้าง แต่ก็ถือเป็นเอกลักษณ์ของภาชนะแต่ละชิ้นนะครับ"
    ขณะที่สินค้าซึ่งมีสีสันลงตัวมาตั้งแต่ยุคแรกๆ อย่าง จาน ชาม แก้วน้ำ หรือช้อน ก็ดูคลาสสิกและสามารถใช้ร่วมโต๊ะได้ทุกยุคทุกสมัย แต่ถึงกระนั้นเขาก็บอกว่ามีการเดินทางของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วยเหมือนกัน "ผมมาทำงานตรงนี้ได้ 3 ปีกว่าๆ เวลามองสินค้าบางอย่างเรารู้สึกว่ามันมีสินค้าบางชนิดที่ดูแล้วแปลกสำหรับผม ยกตัวอย่าง ช้อนรุ่นหนึ่งที่มีลักษณะเหมือนช้อนแต่ขนาดใหญ่มากนะครับ ผมสงสัยว่าทำไมต้องทำใหญ่ขนาดนี้ แต่พี่ๆ พนักงานก็จะบอกว่านี่เป็นขนาดดั้งเดิม OG ที่เราเริ่มผลิตมา และคนเห็นจะรู้ว่าเป็นของแบรนด์เรา ซึ่งผมเพิ่งนำออกมาผลิตขายอีกครั้งเมื่อ 2 ปีที่แล้วและขายดีมาก ผมก็งงว่าคนเขาเอาไปทำอะไรกัน จนสุดท้ายถึงรู้ว่าเขานำไปใช้เป็นช้อนกลาง ผมเลยมองว่า ในอนาคตน่าจะต้องทำขนาดที่เล็กลงมาให้เหมาะกับการรับประทานด้วย"
    "ปัจจุบันภาชนะหรือเครื่องใช้ในครัวเรือนต่างๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงเท่านั้นนะครับ ทุกคนสามารถใช้ด้วยกันหมด ผู้ชายก็หันมาสนใจสินค้าของเราด้วยเหมือนกัน กลุ่มนักท่องเที่ยว เดินป่า ตั้งแคมป์ ก็หันมาสนใจสินค้าของเราไม่น้อยเลย ทำให้ที่ผ่านมาเรามีสินค้าหลายตัวที่มีการปรับเปลี่ยนรูปทรงและขนาดให้เหมาะกับการใช้งาน แต่ยังต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่เปลี่ยนไปเสียจนไม่เหลือตัวตนของเรา"
    เขาเล่าว่าการปรับขนาดและรูปทรงของสินค้านั้นไม่ได้เพิ่งทำในสมัยเขาเท่านั้น เพราะตั้งแต่สมัยคุณพ่อเองก็มีการปรับขนาดชั้นของปิ่นโตให้มีขนาดเท่ากัน จากเดิมที่ปิ่นโตชั้นล่างมักจะเป็นชั้นที่หนาที่สุด เนื่องด้วยในอดีตคนไทยมองว่าข้าวเป็นสิ่งสำคัญของมื้ออาหาร แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อุปนิสัยการกินก็เปลี่ยน ทำให้การใส่ข้าวมาเยอะอาจจะรับประทานไม่หมด จึงปรับให้ทุกชั้นเท่ากันมาจนถึงทุกวันนี้

    ขณะที่ภาชนะเคลือบอีนาเมลยังมีข้อดีตรงที่มีสีสันให้เลือกหลากหลาย ตรากระต่ายยังคงผลิตจาน ชาม หม้อ ปิ่นโต ถาดพ่น ฯลฯ สีดั้งเดิมที่คนนิยมใช้ออกมา โดยมีสินค้าที่ปรับให้สีทันสมัยมากขึ้น และเห็นคู่สีใหม่ๆ ที่เข้ากับผู้ใช้ทุกคนได้ไม่ยากเลย

พื้นที่ศิลปะบนภาชนะตรากระต่าย
    ท่ามกลางภาชนะเครื่องครัวที่มีรูปทรงและสีสันคุ้นเคย แบรนด์นี้ยังมีการร่วมมือกับศิลปินนักวาดรุ่นใหม่เพื่อสร้างสรรค์คอเลกชันสนุกๆ ไม่ว่าจะเป็น หนูคิดถึงสงกรานต์ ฝีมือพิจิตรา สีลานุชิต นักวาดและนักออกแบบฟรีแลนซ์ชาวเชียงใหม่ หรือ คอลเลกชันไก่ลำปาง ที่เชิญศิลปินผู้วาดภาพชามตราไก่ที่เป็นเอกลักษณ์มาวาดบนภาชนะเคลือบอีนาเมลบ้าง 
    "ผมรู้สึกว่าสมัยนี้เรามีศิลปินคนไทยที่เก่งและมีผลงานน่ารักออกมาค่อนข้างเยอะ การร่วมมือกับศิลปินท้องถิ่นเป็นโอกาสหนึ่งที่เราจะมีสินค้าลวดลายสวยงามพร้อมกับผลักดันกลุ่มศิลปินเหล่านี้ไปพร้อมกัน" โดยพิริยะเล่าให้ฟังว่าหากเขามีโอกาสไปเดินเล่นตามตลาดศิลปะหรืองานเทศกาลแล้วเห็นว่าผลงานของศิลปินสามารถนำมาปรับใช้กับภาชนะอีนาเมลได้ เขาก็มักจะเห็นโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ
    นอกจากศิลปินท้องถิ่นยังมีการร่วมมือกับ Zylostudio สร้างสรรค์คอลเลกชัน Tidlom x Rabbit ให้คาแรกเตอร์ติดลมมานุ่งผ้าขาวม้าวาดลวดลายสไตล์ไทยบนปิ่นโต แก้ว และหม้ออวย แถมด้วยคอลเลกชัน Mamuang x Rabbit ที่นำคาแรกเตอร์น้องมะม่วง หมามะนาว และน้องแมวลาล่า โดย ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร มาออดอ้อนแฟนๆ บนปิ่นโตและแก้วน้ำ คล้ายเปิดโอกาสให้เหล่าคาแรกเตอร์ทั้งหลายมากระโดดโลดเต้นไปด้วยกันกับภาชนะตรากระต่ายเลยทีเดียว
    "การร่วมงานกับศิลปินที่มีศักยภาพ แล้วร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ หรือคอนเทนต์สนุกๆ ให้คนไทยได้มีทั้งผลิตภัณฑ์และคาแรกเตอร์ หรืองานอาร์ตที่มาจากศิลปินคนไทย และยังผลิตโดยบริษัทไทยอีกด้วยนะครับ เพราะสำหรับผมไม่ว่าจะเป็นงานอาร์ต งานคาแรกเตอร์ หรืองานดีไซน์ต่างๆ ทั้งหมดคือรูปแบบของงานศิลปะที่เทคนิคเคลือบอีนาเมลสามารถรองรับได้เยอะพอสมควร ผมมองว่า ถ้าหากเราสามารถเป็นหนึ่งแพลตฟอร์มให้กับงานศิลปะสำหรับคนที่ทำงานแนวทางนี้ได้ ผมก็ยินดีที่จะเปิดโอกาสและหาทางร่วมมือกัน เพราะถือเป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน ที่สำคัญผมมองว่า การได้ทำงานร่วมกันเป็นสิ่งที่สนุกและได้เปิดมุมมองใหม่ๆ โดยที่ผมเชื่อว่ากลุ่มลูกค้าคนไทยก็จะมองเห็นถึงคุณค่าของผลงานเหล่านี้ด้วยครับ" 
    สำหรับแนวทางในการเลือกศิลปินที่จะมาร่วมงานกับตรากระต่ายนั้น พิริยะยังไม่ลืมที่จะยึดสไตล์การทำงานที่นำเสนอความเป็นไทยผ่านผลงาน เพื่อนำงานศิลปะนั้นมาอยู่บนภาชนะที่ผลิตโดยผู้ผลิตไทย แล้วร่วมนำเสนอตัวตนให้เด่นชัดไปด้วยกัน
การกระโดดไปสู่ปีที่ร้อยของตรากระต่าย
    เมื่อถามถึงความผูกพันของพิริยะที่มีต่อสินค้าตรากระต่าย ก็รู้ได้ทันทีว่า ความรู้สึกที่เขามีนั้นซึมซับเข้ามาโดยไม่รู้ตัว "ตอนเด็กๆ ผมเคยโดนเพื่อนล้อด้วยซ้ำว่าที่บ้านขายหม้อ เรายังไม่ได้รู้สึกผูกพันอะไรกับสิ่งที่ครอบครัวทำมาก แต่ตั้งแต่เด็ก ทุกกิจกรรมของครอบครัวตั้งแต่สมัยที่คุณปู่ยังมีชีวิตอยู่ งานวันเกิด วันไหว้เจ้า จะเห็นว่าที่บ้านใช้ของเหล่านี้อยู่ตลอด รู้แต่ว่าหน้าตาภาชนะเป็นแบบนี้ สีขาวขอบน้ำเงิน สีเหลืองขอบเขียว แต่ไม่รู้ว่า เอกลักษณ์ของตรากระต่ายเป็นอย่างไร จนกระทั่งโตขึ้น คุณพ่อเริ่มพาเข้ามาดูการทำงานที่บริษัทบ้าง ที่โรงงานบ้าง ได้เจอช่างและหัวหน้างานสมัยนั้น ขณะที่ตัวผมเคยมีโอกาสไปทำงานต่างประเทศ แล้วเวลาที่ญี่ปุ่นมีงานเทศกาลของไทย เราได้เห็นจาน ชาม กะละมังของบ้านตัวเอง สินค้าเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในร้านอาหารไทย แล้วมีคนญี่ปุ่นไปตามหาภาชนะแบบนี้มาใช้ เหมือนเป็นการตอกย้ำว่าธุรกิจที่ครอบครัวเราทำอยู่เป็นสินค้าที่มีคุณค่ามีเอกลักษณ์ ดังนั้นผมจึงหันกลับมามองธุรกิจนี้ว่าธุรกิจที่อยู่มานาน วันหนึ่งถ้าหายไปมันน่าเสียดาย แบรนด์ของเรายังมีศักยภาพอยู่มาก"
    นอกจากเรื่องการใช้งานและการออกแบบที่ร่วมสมัยแล้ว ตัวผลิตภัณฑ์ภาชนะเคลือบอีนาเมลที่มีความทนทาน ใช้งานได้นาน ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับวิถีชีวิตของคนที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งนิยมพกภาชนะของตัวเองไปใส่อาหารเครื่องดื่ม ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ในยุคสมัยนี้พอดี แต่พิริยะยังมีแนวทางการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนอกเหนือไปจากตัวสินค้า ด้วยการจัดการระบบการผลิตที่ช่วยลดมลภาวะอีกทางหนึ่ง 
    "ผลิตภัณฑ์ตรากระตายที่มีกลิ่นอายของการสามารถนำภาชนะมาใช้เพื่อลดการใช้กระดาษและพลาสติกได้ เป็นจุดยืนที่ผมอยากขับเคลื่อนไป แต่สิ่งที่ผมเน้นย้ำไม่แพ้กันคือการผลิตภายในของโรงงานเราเอง ของเหลือทิ้งที่เป็นวัตถุดิบในโรงงานหรือสำนักงานบางอย่างที่เราสามารถคัดแยกเป็นหมวดหมู่ เช่น เหล็ก ไม้ พลาสติก และกระดาษ เราจะส่งไปสำหรับการรีไซเคิล ขณะที่ระบบน้ำในโรงงานเรามีการลงทุนเรื่องการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของสินค้าที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อสิ่งแวดล้อมในสังคมเราและโลกของเราด้วยครับ"
    บนเส้นทางการทำธุรกิจนับตั้งแต่ก้าวแรกที่ก่อเป็นรูปเป็นร่างในยุคของคุณปู่ เติบโตในรุ่นของคุณพ่อ และยังมีโอกาสในการเรียนรู้ สร้างสรรค์ และพัฒนาอย่างไม่มีวันจบในรุ่นของพิริยะ แม้จะมีภารกิจที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปตามยุคสมัย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกรุ่นยึดถือไว้เหมือนกันคือ "คุณพ่อผมและคุณปู่เป็นคนพูดมาคือ อย่าเห็นแก่ตัว เป็นคำง่ายๆ แต่เป็นคำที่แสดงถึงจุดยืนในการทำธุรกิจที่ชัดเจนของเรา ที่ผ่านมาทั้งลูกจ้างของเรา ซัพพลายเออร์ ตัวแทนจำหน่าย และลูกค้าของเรา ทุกฝ่ายมีส่วนในการทำให้ธุรกิจของเราสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนยาวนาน"
    ไม่แปลกใจเลยที่ผลิตภัณฑ์ตรากระต่าย จะสามารถกระโดดเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของผู้ใช้จากรุ่นสู่รุ่นได้แบบนี้


รับชมสินค้าตรากระต่ายได้ทางเว็บไซต์: Siam Enamel

ติดตามความเคลื่อนไหวหรือสอบถามตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อซื้อสินค้าได้ทาง:

Facebook: @rabbitenamel

Instagram: rabbitenamel

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ