สำนักพิมพ์ Biblio เปิดตัวหนังสือเล่มแรกในปี 2563 ด้วย Last Letter จดหมายรักฉบับสุดท้าย ผลงานเขียนของ อิวาอิ ชุนจิ โดยสำนักพิมพ์ Bibli ที่อยู่ในเครือ หนังสือเล่มนี้เป็นนิยายต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่อง Last Letter (2020) ซึ่ง อิวาอิ ชุนจิ ทำหน้าที่เขียนบทควบตำแหน่งผู้กำกับภาพยนตร์ด้วยตัวเองอย่างเคย (อ่าน Review: Last Letter สัมผัสของหน้ากระดาษที่ทั้งบาดและสมานแผลในใจ ที่นี่)
การเลือกหนังสือผลงานของนักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์ที่แฟนๆ ชาวไทยรู้จักเป็นอย่างดีจากภาพยนตร์เรื่อง Love Letter (1995) และ All about Lily Chou-Chou (2001) ถือเป็นก้าวแรกที่เรียกร้องให้คอภาพยนตร์และนักอ่านนิยายแปลหันมาสนใจสำนักพิมพ์ Biblio พร้อมเฝ้ารอว่าทางสำนักพิมพ์จะออกหนังสือเล่มใหม่มาให้อ่านอีกเมื่อไร
ส่วนเหตุผลที่สำนักพิมพ์เลือกหนังสือ จดหมายรักฉบับสุดท้าย มาเป็นหนังสือเปิดตัวเล่มแรกของสำนักพิมพ์ จี-จีระวุฒิ เขียวมณี บรรณาธิการบริหาร Biblio เป็นผู้อธิบายไว้ว่า "ตอนที่เราวางแผนทำสำนักพิมพ์ใหม่ ตอนนั้นเราเตรียมแผนตีพิมพ์หนังสือที่อยู่ในมือไว้เยอะมาก ผมมองว่า อิวาอิ จุนจิ เป็นคนทำหนังที่คอหนังรู้จักกันดี แล้วหนังสือของเขามีความละเมียดละไมไม่ต่างกับหนังของเขา พอเราได้มาอ่านต้นฉบับที่แปลจากภาษาญี่ปุ่นแล้ว มันเป็นนิยายที่ให้ความสำคัญต่อพลังของตัวหนังสือมาก การที่ตัวเอกเลือกที่จะเขียนจดหมายในการบันทึกความรู้สึกและความทรงจำที่เขามีต่อผู้หญิงที่เขารัก ตรงนี้แหละมันคือพลังของการเขียน และที่สำคัญเมื่อเขียนเสร็จแล้ว สุดท้ายช่วงเวลาที่ตัวละครหนึ่งได้อ่านจดหมายเหล่านี้ มันทำให้คนอ่านที่อ่านไปพร้อมกับตัวละครเข้าใจว่า พลังของตัวหนังสือมันมีศักยภาพมาก มันมีพลังที่สามารถทำให้ชีวิตของคนๆ หนึ่งปลดล็อกได้เลย ผมเลยคิดว่าออกหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรก คิดว่ามันน่าจะสะท้อนถึงความรู้สึกของผมตอนที่ทำสำนักพิมพ์นี้ด้วย เพราะผมอยากทำหนังสือที่เมื่อคนอ่านได้อ่านแล้ว มันไปกระทบกับความคิด ความรู้สึกข้างในของเขา บางเรื่องที่เขายังไม่ตกผลึก บางเรื่องที่เขายังไม่เข้าใจตัวเอง ผมก็หวังว่า เศษเสี้ยว หรือบางส่วนของหนังสือที่ผมทำ มันจะช่วยเข้าไปตอบคำถามตรงนั้นได้"
ซึ่งคนที่ได้อ่านคงสัมผัสได้ถึงคุณค่าของตัวหนังสือบนหน้ากระดาษเหล่านั้น ที่สะท้อนคอนเสปต์ It's not just about books ของสำนักพิมพ์ Biblio อย่างที่เขาและ บิ๊ก-วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร บรรณาธิการ ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ มีการวางแนวทางเอาไว้จริงๆ
หลังจากเปิดตัวหนังสือเล่มแรกไปไม่นาน Bibli ก็เปิดปกหนังสืออีก 7 เล่มที่กำลังเตรียมจัดทำในปี 2563 มาให้ทายกันว่าหนังสือเล่มไหนจะออกเป็นเล่มถัดไป แล้วเราก็ได้เห็น ชื่อของเธอคือ... โดย โชนัมจู ผลงานของผู้เขียน คิมจียอง เกิดปี 82, ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ โดย นัตสึคาวะ โซสุเกะ, ขนมปังของพรุ่งนี้ แกงกะหรี่เมื่อวันวาน ของผู้เขียน คิซาระ อิซึมิ, ที่จริงแล้ว ฉันเป็นคนเก็บตัวนะ ของ นัมอินซุก หรือกระทั่ง รหัสลับพันธุกรรมฆาตกร นิยายสืบสวนผลงานของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ ที่ยังไม่เคยตีพิมพ์ในไทยมาก่อน และขณะที่นักอ่านกำลังไล่อ่านหนังสือที่พวกเขาซื้อมาอยู่นั้น Bibli ยังส่งท้ายปีด้วยการเปิดลิสต์นิยายแปลจากเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน อีก 12 เล่มที่เตรียมทำมาให้อ่านในปี 2564 ไม่ให้ขาดช่วง
ตลอดปีที่ Biblio ขยันทำหนังสือนิยายแปลจากเอเชียมาให้อ่านนั้น ยังมีหนังสือประเภทนอนฟิกชั่นที่ตีพิมพ์ออกมาภายใต้สำนักพิมพ์ในเครือ Be(ing) เช่น วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต เขียนโดย เบท เคมป์ตัน, ระเบียบแห่งการระบาด ผลงานของ อดัม คูชาร์สกี้, เลโอนาร์โด ดา วินชี โดยผู้เขียน วอลเตอร์ ไอแซกสัน, คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง ของ จอห์น พี. สเตรเลกกี เป็นต้น แถมยังเปิดตัวหนังสือ มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน ผลงานเขียนของ แมตต์ เฮก นิยายแปลจากฝั่งตะวันตกเล่มแรกจาก Beat สำนักพิมพ์ในเครือที่วางแนวทางว่าจะคัดสรรนิยายดีๆ จากอเมริกา อังกฤษ และประเทศในยุโรป มาให้อ่านกันอีกด้วย
หากจะมองว่า Biblio เป็นสำนักพิมพ์ที่มาแรงคงไม่ผิด เพราะใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็สามารถจับหัวใจของนักอ่านให้ติดตามหนังสือของพวกเขาได้แล้ว เราจะพาไปทำความรู้จักกับสำนักพิมพ์แห่งนี้ ที่หยิบจับหนังสือเล่มไหนมาแปล ก็น่าอ่านไปเสียทุกเล่มจริงๆ
ดังนั้นเมื่อจีระวุฒิมีเวลามานั่งคุยยาวๆ กับเรา happening จึงชวนเขาแบ่งปันประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสำนักพิมพ์ แนวทางการทำงาน ความสำคัญของหนังสือต่อผู้คน ตลอดจนความสุขที่เขาได้รับจากการทำสำนักพิมพ์ ซึ่งสะท้อนความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของมนุษย์ในยุคสมัยนี้ได้อย่างกลมกล่อมเหลือเกิน
จี-จีระวุฒิ เขียวมณี และ บิ๊ก-วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ Biblio
ที่มาของสำนักพิมพ์ Biblio เป็นอย่างไร?
เริ่มมาจากตอนที่ผมกับคุณบิ๊ก-วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร ทำงานด้วยกันมาหลายช่วงเวลา ตั้งแต่ตอนทำสำนักพิมพ์ Marsspace และอีกช่วงเวลาหนึ่งคือช่วงที่อยู่สำนักพิมพ์ในเครือ โมโนกรุ๊ป เรียกได้ว่าค่อนข้างที่จะรู้มือกันดี สไตล์เราจะเข้ากันได้ หลังจากนั้นเราก็มานั่งคิดว่า เรามีประสบการณ์ทำสำนักพิมพ์กันมาถึงระดับหนึ่งแล้ว หรือเราจะลองมาทำของเราเองดีเลย พอคุยกับคุณบิ๊กแล้วคุณบิ๊กสนใจที่จะออกมาร่วมทำด้วยกัน เลยเป็นจุดตั้งต้นของสำนักพิมพ์ Biblio
เราคุยกันว่าถ้าจะเริ่มทำแบรนด์ เราจะทำสำนักพิมพ์แบบไหน หน้าตาเป็นอย่างไร แล้วมาร่วมกันบรีฟรายละเอียดว่า แต่ละคนมองภาพหนังสือที่ตัวเองอยากจะทำอย่างไร ผมมองอย่างไร คุณบิ๊กมองอย่างไร แล้วหาคอนเสปต์ร่วมกันที่จะได้ออกมาตรงกับประสบการณ์การทำงาน และตรงกับทัศนคติของเรามากที่สุด จนออกมาเป็น Biblio
มองคาแรกเตอร์ของ Biblio ไว้อย่างไร และกลุ่มผู้อ่านของสำนักพิมพ์คือใคร?
จุดร่วมในการทำหนังสือที่เราถนัดด้วยกันทั้งคู่คือ การทำงานหนังสือแปลทั้งนิยายและนอนฟิกชั่นที่น่าอ่าน ในฝั่งนิยายผมมองว่า ตลาดหนังสือบ้านเราคนอ่านนิยายค่อนข้างเยอะฮะ น่าจะเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในหมวดหนังสือตอนนี้ ซึ่งผมมองว่านิยายแปลไม่ว่าจะเป็นนิยายจากเอเชียหรือนิยายจากตะวันตก มันเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แล้วเราสามารถที่จะคัดสรรหนังสือหลากหลายแนวหลากหลายประเภทมานำเสนอได้ เหมือนการที่เราเป็นคนทำอาหารแล้วเดินไปตลาดนะครับ เราต้องไปคัดสรรเนื้อปลา เนื้อกุ้ง วัตถุดิบต่างๆ นำมาทำอาหาร ซึ่งผมคิดว่าเรามีวิธีการเลือกที่อาจจะแตกต่างจากคนอื่นอยู่ ผมว่าคุณบิ๊กก็มีวิธีการมองการเลือกหนังสือที่แตกต่างจากคนอื่นเหมือนกัน เราเอาความต่างตรงนี้มาใส่รายละเอียดเข้าไปใหม่ให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไป เสริมคาแรกเตอร์บางอย่าง แล้วนำเสนอให้คนอ่าน เพื่อให้หนังสือที่เราทำแต่ละเล่มพอมันออกมาแล้ว มันดูแตกต่างจากหนังสือทั่วๆ ไปในท้องตลาด ให้คนอ่านรู้สึกว่ามันน่าสนใจ อยากจะลองเปิดอ่านดู
ก่อนที่จะมาเป็นชื่อสำนักพิมพ์ Biblio มีตัวเลือกอื่นบ้างไหม?
มีตัวเลือกครับ แต่เป็นตัวเลือกที่คิดขึ้นมาแล้วลืมไปอย่างรวดเร็ว เราคิดกันมาหลายชื่อมาก ชื่อสั้นๆ ประหลาดๆ แต่พอไปจนถึงจุดที่เราคิดไม่ออก ผมก็เริ่มกลับมาคิดว่า เอ๊ะ จริงๆ เราจะตั้งชื่อสำนักพิมพ์เพื่ออะไร ก่อนที่เราจะเป็นคนทำหนังสือ เราก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือ แล้วระหว่างที่เราเป็นคนอ่าน เราก็คิดไปเยอะถึงเรื่องกระบวนการกว่าจะมาทำเป็นเล่มนี้มันเป็นอย่างไร มันผ่านอะไรมาบ้าง เราไม่เคยรู้ พอถึงจุดที่เรามาเป็นคนทำเอง เรารู้แล้วว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ต้องเรียนรู้อะไร เราจึงใช้คำว่า Biblio ละกัน คำว่า Biblio ผมมองว่ามันเป็นชื่อที่ทำให้รู้สึกถึงปรัชญาของคนทำหนังสือนั่นแหละ คือความเรียบง่ายบางอย่างที่เราตั้งใจที่จะสื่อสารมันออกมา เราเลยตั้งสโลแกนตามมาว่า Biblio: It's not just about books หนังสือที่ไม่ใช่แค่หนังสือเล่มหนึ่งเท่านั้น คือมันมีประสบการณ์ในหนังสือเล่มหนึ่ง มันสามารถที่จะพาเรา ทั้งคนทำหนังสือและคนอ่านหนังสือไปสู่จุดหมายที่แตกต่างกันได้ เราเลยชอบชื่อนี้ รู้สึกว่ามันเป็นชื่อที่ให้ความรู้สึกที่เป็นมิตร พอได้ยินหรือว่าได้ฟัง หรือแค่ได้เห็นฟ้อนต์โลโก้ของมันก็ทำให้เราเห็นถึงหน้าตาหนังสือของสำนักพิมพ์นี้ขึ้นมาได้ทันที
Biblio มีแนวทางในการเลือกหนังสืออย่างไร?
เวลาเลือกหนังสือแต่ละเล่ม เราจะให้ความสำคัญกับแมสเสจบางอย่างข้างในที่ผมมองว่ามันน่าจะอยู่ในความคิดหรือความสนใจของคนในช่วงเวลานั้นด้วย มันต้องเป็นหนังสือที่สามารถเดินทางเข้าไปตั้งคำถามหรือปั่นป่วนความรู้สึกข้างในบางอย่างของคนอ่านได้ เราต้องมองเห็นแล้วว่าหนังสือเรื่องนั้นต้องมีแมสเสจบางอย่างที่ทรงพลังมากพอ ที่จะทำให้คนอ่านในกระแสหลักหันมาสนใจหนังสือนอกกระแสได้
อย่างเช่น ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ หนังสือเล่มนี้ในความรู้สึกผมมันเหมือนเจ้าชายน้อยแห่งพ.ศ.นี้ฮะ มันเกือบๆ จะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเยาวชนได้ด้วยซ้ำ แต่รายละเอียดหลายๆ อย่างในหนังสือมันก็เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ที่ผ่านช่วงเวลาในการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทุกวันนี้เราอ่านหนังสือไปเพื่ออะไร เราซื้อหนังสือไปเพื่ออะไร กองดองที่บ้านเรามันคืออะไร แม้ว่าหนังสือจะไม่ได้ตอบทุกคำถามนั้นได้ เพราะทุกคนคงมีคำตอบหลักๆ อยู่ในใจ เพียงแต่ว่า หนังสือเล่มนี้มันเข้าไปชวนให้คนกลับมาคิดถึงคำถามเดิมในใจของตัวเองเหล่านี้อีกครั้งหนึ่งอะไรอย่างนี้ แล้วมันสามารถที่จะทำให้เรารู้สึกดีกับหนังสือที่เราอ่านทุกๆ เล่ม ซึ่งผมมองว่าแมสเสจเหล่านี้แหละที่มันอยู่ในรายละเอียดชีวิตประจำวันของคน
หรือหนังสือ ขนมปังของพรุ่งนี้ แกงกะหรี่เมื่อวันวาน เป็นหนังสือที่ผมเลือกมานานแล้ว พอลองนำมาทำดู ผมเริ่มเห็นว่ารสชาติของหนังสือคือความเรียบง่ายที่บาดลึก ถ้าคนมองอิมเมจของหนังสืออาจจะมองว่าเป็นหนังสือฟีลกู๊ดใช่ไหม พอมาอ่านจริงๆ ก็คล้ายๆ จะเป็นอย่างนั้นอยู่ จนอ่านไปเรื่อยๆ จะรู้สึกว่า รายละเอียดที่บันทึกความเจ็บปวดของชีวิตคนเริ่มลึกขึ้นเรื่อยๆ คนอ่านเองอาจจะเริ่มรู้สึกว่า จริงๆ ชีวิตที่ปกติธรรมดาของเรามันไม่จำเป็นต้องหดหู่หรือรันทดอมเศร้าตลอดเวลา เพียงแต่เราพยายามที่จะประคับประคองชีวิตตัวเองให้อยู่ในเส้นทางที่มันปกติกันทุกคน ถ้าไม่ได้ทำเพื่อตนเอง ก็ทำเพื่อคนที่ยังห่วงใยเขาอยู่ ผมรู้สึกว่าชีวิตคนเราในเวลานี้มันก็คล้ายๆ แบบนั้น ไม่ว่าผม คุณ หรือผู้อ่านเอง ทุกคนเองมีบาดแผลอยู่ในใจ แต่เราก็ต้องตื่นเช้าขึ้นมา เพื่อทำงาน เพื่อหัวเราะ เพื่อแชร์เรื่องสนุกๆ บนเฟซบุ๊ค หรือทวิตเรื่องขำขันให้เพื่อนได้อ่านกัน ทุกวันเราต้องดำเนินชีวิตไปอยู่บนเส้นทางที่ยังทำให้เรารู้สึกอยากมีชีวิตต่อได้
นั่นคือนิยายฝั่งเอเชียโดย Bibli แล้วการแตกแขนงสำนักพิมพ์ในเครือเป็น Be(ing) และ Beat มีที่มาอย่างไร?
ก่อนหน้านี้ที่ผมทำหนังสือกับคุณบิ๊กกันมาเราก็ทำหนังสือหลากหลาย นิยายแปลเป็นขาหนึ่งที่เราทำ และทำออกมาได้ค่อนข้างดี ค่อนข้างมั่นใจว่าเราทำออกมาได้ เลยยังทำนิยายแปลกันอยู่เป็นหลัก ทีนี้หนังสืออีกฝั่งหนึ่งที่มันสร้างบทสนทนาที่แตกต่างออกมาได้คือ นอนฟิกชั่นบุ๊ค เพราะผมรู้สึกว่าหนังสือนอนฟิกชั่นยุคปัจจุบันไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของการสอนให้คนรวย สอนให้คนเก่ง หรือสอนให้เป็นที่หนึ่ง มันมีความหลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น ยังมีหนังสืออีกหลายแนวที่ชวนให้เราหันมาสนใจปรัชญาที่เรียบง่าย อย่าง วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต ซึ่งเป็นปรัชญาญี่ปุ่นที่เขียนโดยฝรั่ง แต่ว่ารายละเอียดในหนังสือทำให้คนทั่วโลกเข้าใจปรัชญานี้มากขึ้น ผมมองว่าหนังสือกลุ่มนี้ค่อนข้างน่าสนใจ และมีเนื้อหาให้เรานำมาเล่าได้เยอะ แม้ว่าหนังสือนอนฟิกชั่นจะเป็นรองฝั่งนิยายอยู่ แต่เป็นตลาดหนังสือที่โตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผมให้ความสำคัญต่อหนังสือประเภทนี้ผ่านสำนักพิมพ์ Be(ing) มากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ
Beat เป็นสำนักพิมพ์ที่เราให้ความเอ็นดูมาก คือมีการวางแผนตั้งแต่แรกแล้วว่าจะออกมาใกล้ๆ กัน แต่ด้วยกำลังของสำนักพิมพ์เราค่อนข้างเล็ก เราเลยค่อยๆ ทำ Bibli กับ Be(ing) ให้ตั้งหลักได้ก่อน จนกลางปีที่ผ่านมา เราพร้อมแล้วที่จะตั้งสำนักพิมพ์ Beat ขึ้นมาเพื่อรองรับตลาดนิยายแปลจากฝั่งอเมริกาและฝั่งยุโรป ซึ่งจะแตกต่างจากนิยายฝั่งเอเชียค่อนข้างมากเหมือนกัน ทั้งโดยรูปแบบและแนวทางของหนังสือแต่ละเล่ม ซึ่งผมมองว่านิยายแปลจากตะวันตกเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับบ้านเรามานานฮะ แต่ผมมองว่าในยุคนี้มีนิยายแปลจากนักเขียนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมายที่มาพร้อมกับจินตนาการ พลังในการเล่าเรื่อง และประเด็นที่โดนใจคนทั่วโลกเลยด้วยซ้ำ ซึ่งผมเลยพยายามจะคัดสรรหนังสือที่น่าสนใจขึ้นมาตอบรับกับกลุ่มผู้อ่านนิยายตะวันตกที่ยังมีอยู่จำนวนมากในบ้านเรา ผมเริ่มเล่มแรกด้วย มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน ซึ่งช่วงพรีออร์เดอร์ที่ผ่านมากระแสก็ค่อนข้างดีมาก แมตต์ เฮก ผู้เขียนเป็นนักเขียนรุ่นใหม่เหมือนกัน ซึ่งเราให้ความสำคัญกับพล็อตและรายละเอียดของเรื่องที่น่าสนใจ ท้าทายความคิด เปิดจินตนาการบางอย่างของผู้อ่าน และกระตุ้นอารมณ์ให้ผู้อ่านรู้สึกว่า เวลาอ่านนิยายเรื่องนี้ คุณเดินทางไปกับตัวละครด้วย ขณะเดียวกันมันเหมือนคุณได้เดินทางเข้าไปในจิตใจของตัวคุณเอง บางเรื่องและประสบการณ์ชีวิตที่ตัวละครเจอ มันอาจจะเป็นประสบการณ์เดียวกับที่คนอ่านกำลังเจอในเวลานั้น แล้วเราจะลองดูว่ามันจะคลี่คลายไปในทางเดียวกันได้ไหม ระหว่างคนอ่านกับตัวละครในหนังสือ
มีหนังสือเล่มไหนที่สำนักพิมพ์ทำแล้วรู้สึกท้าทายบ้าง?
เลโอนาร์โด ดา วินชี ที่เป็นชีวประวัติของเลโอนาร์โด ดาวินชี ซึ่งตอนที่เราเลือกทำหนังสือเล่มนี้เราก็รู้ตั้งแต่แรกแล้วว่ามันเป็นงานที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะเรารู้แล้วว่าเลโอนาร์โด ดา วินชี เป็นทั้งอัจฉริยะบุคคล เป็นศิลปินระดับโลกที่มีผลงานเป็นอมตะมาโดยตลอด ดังนั้นเราจะนำเสนอหนังสือของดา วินชี ออกมาในสเกลไหน ผมกับคุณบิ๊กเลยตัดสินใจว่าหนังสือดา วินชี เล่มนี้ จะทำออกมาให้เป็นหนังสือที่ผู้อ่านสามารถเก็บไว้ได้ตลอดเป็นสิบๆ ปี เพราะเราทำทั้งฉบับปกอ่อนและปกแข็งออกมา แล้วเลือกกระดาษเนื้อในที่ดีที่สุดที่สามารถจะเก็บความคมเข้มของภาพผลงานดา วินชี ให้ออกมาใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด เพราะในเล่มจะมีภาพประกอบที่เป็นงานของดา วินชี แทรกอยู่แทบทั้งเล่มเลย เราเลยมองว่าทำยังไงที่จะคงเนื้อสี คงคุณภาพสีแบบต้นฉบับไว้ได้ เพื่อให้คนเปิดหนังสือเล่มนี้อ่านแล้ว คุณไม่ต้องไปเข้าเว็บแล้วคลิกดูภาพจริงก็ได้ ซึ่งมันก็ท้าทายเรามากตรงการควบคุมงานผลิตให้ออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุด เพื่อที่จะให้หนังสือเล่มนี้คุ้มค่าจริงๆ กับการที่คนอ่านรอคอย พอทำเสร็จก็ถือว่าเป็นหนังสือที่ค่อนข้างรอบด้านมากสำหรับดา วินชี ที่เคยพิมพ์มาในบ้านเรา แล้วคุณภาพของกระดาษ การออกแบบปก หรือแพ็คเกจหนังสือทั้งหมดออกมาได้น่าพอใจสำหรับคนอ่านที่เป็นแฟนของหนังสือประเภทชีวประวัติบุคคลสำคัญหรือหนังสือประวัติศาสตร์สำคัญของโลก และที่สำคัญเรายังทำในสไตล์ของเราด้วย
สำหรับเรื่องการออกแบบหน้าปก รูปเล่ม และองค์ประกอบอื่นๆ ในของ Biblio มีแนวคิดอย่างไร?
เวลาเลือกหนังสือแต่ละเล่มมาทำ ผมจะมีภาพอยู่ในหัวว่าอยากให้หนังสือออกมาอย่างไร เหมือนเป็นไอเดียสเก็ตช์บางอย่างที่เราคิดว่าปกหนังสือเล่มนี้น่าจะสื่อสารเนื้อหาแบบนี้นะ จากการทำงานสำนักพิมพ์อื่นที่ผ่านมาผมมีโอกาสร่วมงานกับกราฟิกดีไซน์หลายคนที่มีฝีมือในวงการมาก รวมถึงนักวาดภาพประกอบหน้าใหม่ๆ อีกหลายท่าน โดยมีจุดร่วมหนึ่งคือผมจะพยายามเลือกคนที่เหมาะกับงาน ถ้าโจทย์ของหนังสือเป็นนิยายญี่ปุ่นเล่มหนึ่ง เราอยากนำเสนอหนังสือหน้าตาประมาณนี้ เราก็ต้องเลือกกราฟิกดีไซน์หรือนักวาดภาพประกอบที่งานของเขาเข้ากับหนังสือที่เรากำลังทำอยู่ แล้วบรีฟโจทย์ให้ชัดเจน จากนั้นจึงมาดูว่าสิ่งที่เขาสื่อสารกลับมาตรงกันไหม อาจจะมีการแก้กันระหว่างทาง แต่สุดท้ายมันจะมาสู่ภาพรวมที่เห็นตรงกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละท่านก็เก่งอยู่แล้ว และสามารถสื่อสารออกมาได้ตรงกับที่ผมคิดไว้
รวมทั้งน้องในกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์เราทั้ง 2 คน น้องมุก (นภกร มีเจตนี) น้องอาย (อภิสรา มะลิวัลย์) เป็นกราฟิกสองสาวในออฟฟิศที่ช่วยกันร่วมทำปกหนังสือ คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง เป็นงานปกชิ้นแรกที่ทำโดยสำนักพิมพ์เราเอง ซึ่งออกมาได้ประทับใจผมมาก ผมมีโจทย์ที่วางไว้ในระดับหนึ่งสำหรับงานตัวนี้ ซึ่งงานออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุด ทีมงานของผมก็ทำมันได้ดีกว่าภาพในหัวของผมเสียอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ เวลาที่เราจะก่อร่างหนังสือขึ้นมาสักเล่มหนึ่งอยู่เสมอ เรื่องความสวยหรือไม่สวยเป็นเรื่องรสนิยมใช่ไหมครับ แต่ผมมองเรื่องการสื่อสารมากกว่า ถ้าปกหนังสือสวย แต่ไม่สามารถสื่อสารเนื้อหาข้างในออกมาได้ มันอาจจะไม่ตรงจุดประสงค์นัก หรือว่าปกหนังสือออกมาสวย แต่ไม่สามารถดึงดูดคนให้เข้าสู่เนื้อหาได้เลย มันก็อาจจะเป็นความผิดพลาดอะไรบางอย่างแล้วสำหรับผม ผมเลยมองว่า โอเค เวลาทำปกหนังสือแต่ละเล่ม เราจะพยายามคิดรูปแบบหลายๆ แบบของหนังสือไว้ แล้วเราก็หาฟอร์มที่ดีที่สุดที่จะพรีเซ้นต์หนังสือเล่มนั้นออกมา
ซึ่งวิธีคิดของผมส่วนใหญ่จะมาประกอบกับเรื่องเทรนด์การออกแบบในช่วงนั้นด้วย เช่น ปีนั้นแพนโทนสีไหนกำลังมา หรือมองในมุมที่ว่าไทโปกราฟีแบบไหนที่น่าสนใจที่จะมาทำกับปกหนังสือในพ.ศ.นี้ เราต้องศึกษาเทรนด์ของงานออกแบบอยู่พอสมควร เพื่อดูว่าไดเร็กชันแบบไหนที่เราอยากนำมาใช้ เพราะโลกค่อนข้างหมุนไปเร็วมาก โดยเฉพาะเรื่องของงานออกแบบ เราเองแม้จะเป็นคนทำหนังสือที่ดูเหมือนจะห่างออกมาจากโลกแบบนั้น แต่เอาเข้าจริงตอนนี้ทุกอย่างก็เชื่อมโยงกันเกือบหมดแล้ว คนที่ออกแบบหนังสือปกให้เรา อาจจะเป็นคนออกแบบโฆษณาระดับเมืองคานส์ก็ได้ เพราะฉะนั้นวิชวลบางอย่างที่เราต้องคิดเพื่อสื่อสารกับคนออกแบบเราต้องเข้าใจเหมือนกันว่าตอนนี้โลกเขากำลังทำอะไรกันอยู่ อันนี้จะเป็นอีกมุมหนึ่งเหมือนกันที่เราต้องศึกษาไว้
ในความคิดเห็นของคุณ ทุกวันนี้หนังสือยังมีความสำคัญต่อผู้คนอย่างไรบ้าง?
ผมมองว่าหนังสือสำคัญกับมนุษย์มานานแล้ว สมัยก่อนสำคัญอย่างไร สมัยนี้อาจจะยิ่งสำคัญมากกว่าเดิมอีก เพราะว่าหนังสือเล่มหนึ่งมันประกอบไปด้วยรายละเอียดหลายอย่าง ถ้าคุณอ่านนิยายดีๆ สักเล่มหนึ่ง บางทีคุณอาจจะได้เรียนรู้โลก ได้เรียนรู้ปรัชญาชีวิตบางอย่าง หรือได้เรียนรู้ถึงความรู้สึกที่ว่า วันหนึ่งที่คุณต้องจากโลกนี้ไปแล้ว คุณอยากจะจากไปด้วยภาพแบบไหน หรือนิยายบางเล่มสามารถทำให้คุณมองสเต็ปชีวิตคุณได้เป็นหนึ่งสองสามเลย อันนี้เราแค่พูดถึงนิยายเล่มหนึ่งนะ
มันยังมีหนังสืออีกมากมายที่เข้าไปตั้งคำถามและตอบคำถามชีวิตของคนหลายๆ คน กระทั่งให้ความรู้ความเข้าใจต่อโลกยุคปัจจุบันกับคนเราได้มากขึ้นด้วย เพราะว่าผมเชื่อในเรื่องของความรู้ที่มันค่อนข้างหลากหลายในยุคนี้มาก แล้วผมมองว่าคนรุ่นใหม่ในยุคนี้เป็นคนที่ช่างเรียนรู้ ใฝ่เรียนรู้เรื่องราวในสาขาต่างๆ แล้วเอามาประกอบกันเพื่อที่จะอธิบายสังคม อธิบายปรากฎการณ์ในชีวิตที่เกิดขึ้น มันก็มาจากการอ่านหนังสือที่หลากหลายนี่แหละ ถ้าไม่มีหนังสือทั้งนิยายแปลหรือนอนฟิกชันบุ๊คที่กว้างขวางพอ ผู้คนก็จะไม่สามารถอธิบายส่ิงที่เกิดขึ้นกับชีวิตหรือสังคมที่เขาอยู่ได้
ผมว่าหนังสือคือกุญแจดอกหนึ่งที่คนยังต้องพกอยู่ เพราะเวลาที่คนมองหาคำตอบหรืองงๆ กับชีวิต คุณก็ต้องมีกุญแจตรงนี้ โอเคถ้าคุณทำทุกอย่าง ไถเฟซบุ๊คแล้ว ออกไปเที่ยวแล้ว ถ่ายรูปแล้ว คุยกับเพื่อนแล้ว คุณยังไม่มีคำตอบ บางทีพอคุณกลับมาบ้านแล้วเหลือตัวคนเดียว คุณจะมีกุญแจดอกนี้แหละที่จะไขออกมาแล้วเปิดออกดูว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยตอบคำถามนั้นไหม ส่วนใหญ่จากประสบการณ์ของผมเองที่ได้รับจากผู้อ่านมาตลอดคือ หนังสือช่วยได้เสมอ
ความสุขของการทำหนังสือสำหรับสำนักพิมพ์ Biblio ของคุณคืออะไร?
ความสุข ถ้าบอกโดยพื้นฐานที่เป็นตัวเราเองคือ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุดในตอนนี้คือการทำสำนักพิมพ์ คือผมทำงานมาหลายอย่างในแวดวงสิ่งพิมพ์ใช่ไหมฮะ เคยเป็นทั้งนักข่าว กองบรรณาธิการนิตยสาร แต่ว่าพอมาเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ผมคิดว่าจังหวะในการทำหนังสือกับจังหวะในชีวิตเรามันค่อนข้างใกล้เคียงกัน มีจังหวะที่ช้าและจังหวะที่เร็ว ผมรู้สึกว่าการทำหนังสือ มันเป็นจังหวะเดียวกับการใช้ชีวิตของผมด้วย นี่อาจจะเป็นความสุขข้อหนึ่งเวลาเราตอบตัวเราเอง
แต่ความสุขล่าสุดที่ผมได้พบคือ เมื่อเราทำหนังสือ คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง ออกไป ผมก็มีเพื่อนๆ พี่น้องที่รู้จักกันแต่ไม่ได้สื่อสารกันมานาน หลายคนส่งข้อความเข้ามาส่วนตัวว่า สำนักพิมพ์พี่ทำเหรอเล่มนี้ เออดีมากเลยพี่ ขอบคุณมากที่ทำหนังสือเล่มนี้ออกมา เพราะว่าเขากำลังเจอปัญหาชีวิตบางอย่างที่เขายังไม่สามารถหาทางออกได้ หรือยังไม่กล้าพอที่จะหาทางออกมา แต่พออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เขารู้สึกว่าเขามีพลังใจมากขึ้นที่จะหาทางออกจากปัญหาชีวิตที่เขากำลังเจออยู่ในเวลานั้น
โอเคคำชมแบบนี้อาจจะดูแล้วรู้สึกซ้ำซากสำหรับคนทำหนังสือทุกคนที่เคยได้รับมาตลอด แต่สำหรับผม ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นคำชมว่าผมทำหนังสือออกมาดี แต่ผมมองว่าหนังสือที่เราทำมันมีประโยชน์กับใครสักคนจริงๆ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ผมลุ้นอยู่ในใจทุกครั้งเวลาเราทำหนังสือแต่ละเล่มออกมา สิ่งที่เราทำไป มันจะช่วยใครได้บ้างนะ และพอเรารู้คำตอบว่า หนังสือที่เราทำไปช่วยคนได้จริงๆ ผมไม่เคยหวังเยอะนะ ผมหวังน้อยเสมอ แต่ถ้าส่วนน้อยในนั้นจะเป็นสักสี่ห้าคนหรือสิบยี่สิบคน แล้วหนังสือที่ผมทำช่วยเขาได้จริงๆ ผมรู้สึกว่ามันคุ้มค่าพอกับความตั้งใจตั้งต้นของเรามาทั้งหมดแล้ว อันนี้เป็นความสุขล่าสุดที่เราค้นพบ จากการที่ผมเริ่มมาทำสำนักพิมพ์เองได้ประมาณปีกว่าๆ นี้ครับ
ซึ่งหากลองได้อ่านหนังสือของ Biblio แล้วจะพบว่า เบื้องหลังหนังสือแต่ละเล่มนั้นมีความชัดเจนในแนวทางการทำงาน ที่สะท้อนความสำคัญของหนังสือต่อความเป็นมนุษย์ ดึงดูดให้คนอ่านหันกลับมาค้นหาสิ่งที่อยู่ในความคิด ความรู้สึก และความต้องการภายในของตัวเองจริงๆ และความโดดเด่นของสำนักพิมพ์นี้เอง happening and friends จึงเลือกให้สำนักพิมพ์ Biblio เป็น Brand of the Month ประจำเดือนสิงหาคม 2564 ด้วย
YOU MAY ALSO LIKE:
- ผู้พิทักษ์ต้นการบูร ผู้เขียน ฮิงาชิโนะ เคโงะ
- เมื่อท้องฟ้าแจ่มใส ฉันจะออกไปพบเธอ ผู้เขียน อีโดอู
- วันนั้นฉันเจอเพนกวิน ผู้เขียน โมริมิ โทมิฮิโกะ
- ค่ำคืน คนเหงา เราและแมว ผู้เขียน ดูเรียน สุเคงาวะ
- นุนชี่ พลังแห่งการสังเกตชีวิต ผู้เขียน Euny Hong
- ฝึกตัวเองให้เป็นคนที่ทิ้งเป็น ผู้เขียน ชิฮาระ ทากาชิ