Ping Hatta: ภาพวาดและการ์ดทำมือที่มีจุดเริ่มต้นจากการลงมือทำ

    "ปิ๊งหวังว่าเรื่องราวของปิ๊งจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนลงมือทำสิ่งที่เขาตั้งใจไว้" เปี่ยมรัก หัตถกิจโกศล หรือ 'ปิ๊ง หัตถะ (Ping Hatta)' พูดไว้ในช่วงตอนหนึ่งของการสนทนา

    หลายคนรู้จักเธอในฐานะนักวาดภาพประกอบที่เคยร่วมงานกับแบรนด์และสื่อชื่อดังมาแล้วมากมาย ทั้ง Vogue, American Illustration, Jo Malone London, Sephora, Rebecca Minkoff, Nike

    นอกจากนี้ เธอยังเคยจัดแสดงผลงานนิทรรศการภาพวาด A Homage to Fashion Week (2018) และ Wandering Mind (2019) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวในแวดวงแฟชั่น และการสร้างความมั่นใจให้กับผู้หญิงมาแล้ว ขณะที่นิทรรศการล่าสุดที่มีชื่อว่า Undressed to Dress Up เธอได้ถ่ายทอดความงามอันเป็นปัจเจกของบุคคลทั้ง รูปร่าง เชื้อชาติ วัฒนธรรม และชวนให้คนตระหนักถึงความหลากหลายที่มากกว่าคำจำกัดความที่สังคมนิยามความสวยเอาไว้ ซึ่งจัดแสดงที่ River City Bangkok ไปเมื่อปี 2020

    แต่สิ่งหนึ่งที่คนอาจไม่รู้ เธอยังเป็นเจ้าของแบรนด์สุดกวนอย่าง CHONKY GOODS by Ping Hatta ที่อุดมไปด้วยการ์ดอวยพร (Greeting Card) และสติกเกอร์ลายตลกๆ อย่างมีมแมวที่เราเห็นกันทั่วอินเตอร์เน็ต และแบรนด์ Ping Hatta ที่รวบรวมสินค้าดีไซน์อื่นๆ ที่มีลายเส้นผู้หญิงอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอให้แฟนๆ ได้สะสมอีกด้วย

    บทสนทนาครั้งนี้ เธอจะพาเราไปทำความรู้จักกับตัวตน มุมมองการทำงาน และความตั้งใจเบื้องหลังแบรนด์ดีไซน์ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นในการถ่ายทอดกำลังใจและการปลอบโยน ผ่านการ์ดอวยพรที่อาจทำให้คุณหลุดยิ้มเมื่อได้รับ

    "ตอนเด็กๆ เวลาใครถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราจะตอบว่าอยากเป็นศิลปิน เพราะเรามีคุณปู่ที่เป็นจิตรกรเป็นแรงบันดาลใจ พอโตขึ้นคนรอบตัวก็ห่วงว่าเป็นศิลปินจะไส้แห้งไหม เลยตัดสินใจเปลี่ยนไปเรียนด้านแฟชั่นดีไซน์แทน ส่วนตัวไม่ได้เป็นคนตามเทรนด์มากนัก แต่สนใจแฟชั่นเพราะเป็นศิลปะที่คนจับต้องได้ พอปีสามมีวิชาออกแบบชุดชั้นใน มันเหมือนเราได้เจอสิ่งที่ใช่ มันเป็นสิ่งแรกที่เราใส่และสิ่งสุดท้ายที่ถอด มันมีส่วนสำคัญในการสร้างพลังให้ผู้หญิง เลยตั้งใจว่าเราจะทำงานออกแบบในด้านนี้ หลังจากจบมาก็มีโอกาสได้ทำงานออกแบบชุดชั้นในอยู่ 3 ปีที่นิวยอร์กค่ะ ช่วงนั้นก็เดินทางไปกลับระหว่างไทยกับนิวยอร์กอยู่ตลอด"

    หญิงสาวเริ่มต้นความฝันด้วยการเป็นนักออกแบบชุดชั้นในในเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน เธอก็หาเวลาว่างทำงานวาดภาพประกอบควบคู่ไปด้วย

    "เราชอบงานที่ทำนะ แต่เราอยากทำงานที่มอบพลังให้คนอื่นได้ จึงเริ่มหันมาสนใจด้านการวาดภาพประกอบมากขึ้น แน่นอนว่าการทำสิ่งที่รักเป็นเรื่องดี แต่เราต้องหาจุดที่พอดีและกลุ่มเป้าหมายให้เจอ อย่างศิลปินที่นู่นจะนิยมลงงานในอินสตาแกรม มันเป็นช่องทางที่คนเห็นผลงาน ติดตามงานเรา และติดต่อศิลปินได้ง่าย"

    แอคเคาท์ Ping Hatta เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่ให้คนได้มาสัมผัสผลงานของเธอ ขณะเดียวกัน เธอก็มองหาช่องทางที่จะส่งผลงานของเธอไปสู่เป้าหมายเช่นกัน

    "เราพยายามหาอีเมล ที่อยู่บริษัทที่อยากร่วมงานด้วย เพื่อส่งโปสการ์ดและอีเมลไปแนะนำตัว พร้อมกับผลงาน (Portfolio) เผื่อว่าเขาสนใจ เขาจะได้ติดต่อกลับ ตอนนั้นเราไม่มีความรู้เรื่องการประเมินราคา ขั้นตอนการทำงานอะไรเลย เรารู้แค่ว่าเราอยากร่วมงานกับแบรนด์นี้ เราต้องส่งพอร์ตไปให้เขาเห็นก่อน" เธอยิ้มกว้างแล้วบอกกับเราว่า "ตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากทำสิ่งนี้ แล้วก็ลงมือทำเลยค่ะ" นอกจากนี้ เธอยังรับวาดภาพพอร์เทรตในงานแต่งและอีเวนต์ต่างๆ ควบคู่กับการทำงานพาร์ตไทม์อีกด้วย

    แม้การเป็นนักวาดภาพประกอบในนิตยสารจะเป็นความฝันของปิ๊งในเวลานั้น แต่เธอต้องยอมรับปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากการสร้างผลงานที่ดี ทั้งสไตล์งานที่เหมาะสมกับโปรเจกต์และราคาที่บริษัทตั้งไว้ เธอจึงมองหาโปรเจกต์ใหม่ที่ช่วยเติมเต็มหัวใจเธออีกครั้ง

    "ถ้าเราออกแบบโปสการ์ดส่งให้อาร์ตไดเรกเตอร์ได้ ทำไมเราไม่ทำขายล่ะ" หญิงสาวอธิบายต่อว่า "นอกจากเราจะชอบส่งโปสการ์ดแนะนำตัวกับอาร์ตไดเรกเตอร์แล้ว เรายังชอบส่งโปสการ์ดหาเพื่อนๆ และครอบครัวที่ไทยด้วย บางคนอาจมองว่ามันยุ่งยาก กว่าจะเขียน ติดแสตมป์ ต้องเดินทางไปส่ง กว่าจะถึงผู้รับมันใช้เวลา แต่มันมีคุณค่าทางใจนะ จะมีสักกี่คนที่เขาคิดถึงเราแล้วส่งโปสการ์ดมาหาเรา สิ่งเหล่านี้มันทำให้วันของใครคนหนึ่งสดใสขึ้นมาได้ มันทำให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะอยู่ไกลกัน มันไม่เหมือนกับการได้ยินเสียงแจ้งเตือนข้อความในโทรศัพท์เนอะ รู้สึกเหมือนถูกตามงานตลอดเวลา" จบประโยคนี้ เสียงหัวเราะของเราก็ดังขึ้น

    นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์เล็กๆ ที่มีปิ๊งเป็นทั้งผู้ออกแบบ เลือกกระดาษ แพ็กใส่ซอง และวางขายตามมาร์เก็ตต่างๆ ในนิวยอร์ก รวมถึงการขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และอินสตาแกรมของเธอเมื่อต้นปี 2018

    "จำได้ว่ากว่าจะขายในออนไลน์ได้ครั้งแรกก็ใช้เวลาเกือบ 4 เดือน ชิ้นนั้นเป็นลายแมวนางเงือกตลกๆ" ระยะเวลาสี่เดือนไม่ใช่แค่การรอคอยออเดอร์แรก แต่ยังเป็นช่วงเวลาที่ปิ๊งได้ทำความเข้าใจกับคัลเจอร์และความต้องการในตลาดการ์ดอวยพร ซึ่งเป็นสินค้าที่คนนิยมส่งมอบให้กันในโอกาสสำคัญต่างๆ

    "เราเริ่มจากเอาภาพประกอบมาเป็นลายการ์ด แล้วก็เรียนรู้ว่าธุรกิจนี้ลายสัตว์ขายดีกว่าคนแบบ 10 ต่อ 1 เลย เพราะการ์ดเป็นของที่เราซื้อเพื่อให้คนอื่น แล้วเขาหน้าตาเหมือนในการ์ดไหม หรือแม้แต่สีผิว อย่างในอเมริกา คนที่ซื้อการ์ดส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงผิวขาว เพราะไม่ค่อยมีคนทำการ์ดที่เป็นรูปคนผิวสีออกมา แต่แมวมันเป็นสิ่งที่ทุกคนจับต้องได้ หลายๆ ที่ก็จะมี หมา แมว กระต่าย ดอกไม้" เธอเล่าถึงสิ่งที่ค้นพบระหว่างการเดินทาง

    แม้เธอจะตัดสินใจเลือกแมวเป็นตัวชูโรง แต่ลวดลายที่ได้จากการปั๊มกระดาษก็ยังเป็นความพิเศษที่ทำให้แบรนด์ของเธอแตกต่างจากท้องตลาด

    "ปิ๊งรู้สึกว่างานแฮนด์เมดมันมีเสน่ห์ มันเป็นงานที่เราตั้งใจทำด้วยมือเราเอง เพื่อให้ลูกค้านำไปมอบให้คนที่รัก มันเป็นการส่งมอบพลังงานดีๆ ค่ะ เราจับพลัดจับผลูมาทำเป็นการ์ดปั๊มมือ แกะสลักยางเป็นบล็อกปริ้นต์ เพราะมันไม่ได้ใช้งบเยอะมาก เราค่อยๆ เรียนรู้ไปกับมันได้"

    แม้ว่าเธอจะทำงานคนเดียวทุกขั้นตอน แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการขายปริมาณมากนัก หลังจากที่ขายตามมาร์เก็ตต่างๆ มาหลายเดือน ในเดือนกรกฎาคม 2018 ช่วงเวลาที่การ์ดอวยพรถูกลดความนิยมลงตามเทศกาลที่ห่างหายไป ขณะที่เธอออกบูทอยู่ มีเจ้าของร้านโปสการ์ดในละแวกนั้นเข้ามาชวนเธอส่งขายตามร้าน นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ปิ๊งรู้จักกับโลกของการขายส่ง (Wholesale)

    "จำได้ว่าเขาซื้อลายแมวนางเงือก อีกแล้ว!" เธอพูดติดตลก แล้วเล่าต่อว่า "เขาบอกว่าเขามีหน้าร้านนะ เราอยากขายส่งให้เขาไหม หลังจากนั้นเราก็พยายามทำความเข้าใจกับการขายส่ง ทั้งทำแคตตาล็อก ทำราคา แล้วก็เริ่มอีเมลหาบริษัทที่น่าจะสนใจสินค้าเหล่านี้ จนตอนนี้เรามีร้านที่ฝากขายการ์ดอวยพรถึง 35 ร้านในสหรัฐอเมริกา ต้องขอบคุณเขามากๆ ที่ทำให้เรารู้จักการทำงานในรูปแบบนี้"

    เธอยังมีความฝันว่าจะได้เข้าร่วมโปรเจกต์กับเอเจนซี่ที่คอยเป็นคนกลางให้เหล่าศิลปินและบริษัทได้มาทำงานร่วมกันอีกด้วย เพราะนั่นหมายถึงการเติบโตของแบรนด์และโอกาสในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่แพลนทั้งหมดก็ต้องชะงักไว้ก่อน เมื่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก เช่นเดียวกับเธอที่ตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่ประเทศไทย เธอจึงถือโอกาสนี้ทำความรู้จักและเรียนรู้ความต้องการในตลาดงานดีไซน์ไทยเสียเลย

    "เราเชื่อว่าทุกพื้นที่มีความต้องการของตัวเอง เราแค่ต้องหามันให้เจอ เราสังเกตเห็นว่า ในไทยสติกเกอร์ขายดีจัง พวกเครื่องเขียนต่างๆ ก็ได้รับความนิยม นอกจากเรียนรู้ตลาดในไทยแล้ว เราก็ยังคงดูแลแฟนๆ กลุ่มเดิมที่นิวยอร์กด้วย ก่อนหน้านี้เรามีคำถามว่าคนต่างประเทศจะซื้อสติกเกอร์เราจริงๆ เหรอ แต่ปรากฎว่าเคยมีออร์เดอร์ซื้อสติกเกอร์ไดคัท 1 ดวง ซึ่งค่าส่งแพงกว่าราคาสินค้ามาก เราเลยเรียนรู้ว่าถ้าสินค้ามันโดน ยังไงคนก็ซื้อ มันทำให้เรารู้ว่าเราอยู่ที่ไหนบนโลก เราก็ขายได้"

    จากการ์ดอวยพร ก็เริ่มมีสติกเกอร์ มาสกิ้งเทป ตรายางปั๊มลาย เข็มกลัด หน้ากากผ้า ออกมาให้แฟนๆ ได้เลือกซื้อ ปิ๊งเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าให้หลากหลายมากขึ้น อีกทั้ง เธอยังเริ่มออกแบบลายการ์ดใหม่ๆ ที่เน้นถ้อยคำให้กำลังใจและปลอบใจคนที่รับอีกด้วย

    "เราเริ่มตัดทอนลายเส้นเพื่อสื่อสารสิ่งที่ต้องการให้ชัดเจนขึ้น ทั้งเรื่องของความมั่นใจ กำลังใจ เราตั้งใจใช้ภาพวาดสื่อสารสิ่งดีๆ ออกไป ไม่ใช่แค่ได้ยอดไลก์ อย่างคอลเลกชั่นล่าสุด เราต้องการส่งกำลังใจผ่านชิ้นงาน มีประโยคดีๆ ที่มอบกำลังใจหรือปลอบใจคนที่ได้รับ ก็ต้องรอดูว่าฟีดแบ็กจะเป็นยังไง เราพยายามทำงานที่ใช้ใจนำทางมากขึ้น แค่โฟลวไปกับสิ่งที่คิด โดยไม่จำเป็นต้องคิดมากเกินไป" นั่นคือสิ่งที่เธอค้นพบจากการทำแบรนด์มาตลอด 5 ปี

    "ถึงแม้ว่าตอนนี้การ์ดอวยพรจะยังไม่เป็นที่นิยมในไทย เราเชื่อว่าถ้าแบรนด์ต่างๆ เริ่มวางขายสิ่งเหล่านี้มากขึ้น คัลเจอร์การส่งการ์ดอวยพรในประเทศไทยก็น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นค่ะ" หญิงสาวบอกกับเรา

    นอกจากนี้ ปิ๊งยังสนใจการผลิตสินค้าตามความต้องการ (Print on Demand) เพื่อลดต้นทุนในการสต็อกสินค้าและลดการเพิ่มขยะเหลือทิ้งในอุตสาหกรรม

    "เราว่าชาเลนช์ของธุรกิจขนาดเล็กมันคือการแบกรับขั้นต่ำการผลิต มีโปรดักส์อีกหลายอย่างที่เราอยากทำ แต่เราติดเรื่องราคากับการสต็อกของ อย่างเสื้อผ้าและแก้วของเราจะสั่งทำตามความต้องการ ซึ่งต้องส่งมาจากต่างประเทศ เนื่องจากเรายังหาบริษัทที่ผลิตตามความต้องการของเราโดยไม่สต็อกสินค้าไม่ได้ ส่วนชิ้นงานอื่นๆ เราพยายามดีลกับโรงงานในปริมาณน้อย ทำให้เราไม่ต้องสต็อกของเยอะ การได้กลับมาทำงานที่ไทย ทำให้เรามองเห็นว่าบริษัทที่รับผลิตชิ้นงานที่นี่สามารถสร้างผลงานที่มีคุณภาพ ในขณะที่ราคาต้นทุนถูกกว่าต่างประเทศได้เหมือนกัน"

    ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ปิ๊งพยายามให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ นอกจากการทำแบรนด์ที่ไม่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติและผู้คนแล้ว เธอยังหวังว่าในอนาคต เธอจะได้ทำงานร่วมกับองค์กรหรือแบรนด์ที่มีความสนใจในด้านความยั่งยืน การส่งมอบความมั่นใจและพลังงานดีๆ ให้กับผู้คนเช่นกัน

    "ย้อนกลับไปคิดดูแล้ว ตอนที่เริ่มทำแบรนด์นี้ เราเคยคิดว่าเดี๋ยวปลายปีเราก็คงไปทำงานภาพประกอบจริงจังแล้ว คงไม่ได้ทำอะไรพวกนี้ต่อ สรุปว่าผ่านมา 5 ปีแล้ว เรายังนั่งปั๊มยางอยู่เลย" เสียงหัวเราะของเราดังขึ้นอีกครั้ง

    แม้เธอจะออกตัวไว้ก่อนการพูดคุยครั้งนี้ว่า เธอเป็นพวกเริ่มต้นเก่ง แต่ทำต่อเนื่องไม่เก่งนัก แต่การที่เธอดูแลแบรนด์นี้ให้เติบโตมาจนถึงปีที่ 5 ได้ ก็สะท้อนให้เห็นความรักและความตั้งใจที่เธออยากส่งมอบกำลังใจและความมุ่งมั่นให้กับผู้คนที่ได้รับทั้งการ์ดอวยพรและภาพวาดของเธออย่างชัดเจนแล้ว

    ใครที่กำลังมีความฝันอยู่ อย่ารอช้า ลงมือทำแล้วค่อยๆ เรียนรู้แต่ละก้าวเดินเหมือนกับเรื่องราวของ ปิ๊ง หัตถะ กันนะ

นิษณาต นิลทองคำ

กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา

ภัศรา ทรัพย์สมบูรณ์

นักศึกษาฝึกงานถ่ายภาพที่รักในการปลูกดอกกุหลาบและทำสวน ชอบใช้เวลาอยู่กับตัวเองและแสงแดด การสังเกตสิ่งรอบๆ ตัวคือความเพลิดเพลิน ถ้าในโลกมีแต่ธรรมชาติเธอคงจะเป็นต้นสนตอนกลางคืน