จริงอยู่ที่เสียงร้องของ วี-วิโอเลต วอเทียร์ ครองใจผู้ชมครั้งแรกตั้งแต่ตอนเข้าประกวดรายการเดอะวอยซ์ไทยแลนด์ (The Voice Thailand) ซีซั่น 2 แต่ผลงานในวงการบันเทิงแบบเป็นชิ้นเป็นอันครั้งแรกของเธอไม่ใช่ผลงานเพลง แต่เป็นการแสดงภาพยนตร์เรื่อง ฝากไว้ในกายเธอ (2557) ในบท มิ้น ซึ่งวีรับหน้าที่ร้องเพลง ฝากไว้ สำหรับประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ เราจึงได้รับชมผลงานการแสดงพร้อมๆ กับรับฟังเสียงร้องของเธอ ก่อนที่จะรู้ว่าในอดีตวีเคยไปปรากฏตัวอยู่ในมิวสิกวิดีโอเพลง หายใจออกก็เหงา หายใจเข้าก็คิดถึง ของ C-Quint อีกด้วย
นับตั้งแต่นั้นเส้นทางของวิโอเลตดูเหมือนจะมีทั้งงานดนตรีและงานแสดงพาดไปบนเส้นทางเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการเลือกรับงานและจังหวะชีวิตของเธอสอดประสานกันให้เห็นต่อเนื่อง ตั้งแต่ผลงานภาพยนตร์เรื่อง ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (2558) ที่เธอร้องเพลงประกอบ Vacation Time ร่วมกับ แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข แล้วมีงานแสดงต่อเนื่องในภาพยนตร์เรื่อง พรจากฟ้า (2559) ละครเรื่อง O-Negative รัก-ออกแบบไม่ได้ (2559) แล้วก็กลับมาร่วมงานกับ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ อีกครั้งใน Die Tomorrow (2560) ปรากฏตัวในซีรีส์แนวตั้ง Blackout บาร์ลับไม่มีในโลก (2564) โดยเธอยังรับหน้าที่เขียนเพลง คนสำคัญ ประกอบซีรีส์ด้วยตัวเอง และร่วมแสดงในภาพยนตร์ One For The Road (2564) ของ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่ไปคว้ารางวัล World Dramatic Special Jury Award: Creative Vision จากเวที Sundance Film Festival 2021 มาอีก
ฟากฝั่งดนตรีวีถ่ายทอดเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ในซิงเกิลเพลงไทยที่เธอเป็นผู้แต่งเนื้อร้องและทำนองเอง อย่าง อยากฟัง, ก็แค่ไม่มีฉัน และ ไม่เป็นไร...เข้าใจ ก่อนที่จะออกอัลบั้มแรก Glitter and Smoke ที่แต่งเป็นเพลงภาษาอังกฤษทั้งหมด แล้วเลือกเปิดตัวด้วยเพลง Smoke ที่อาบด้วยบรรยากาศหม่นๆ เป็นการแนะนำให้ผู้ฟังรู้ว่าห้วงอารมณ์ในอัลบั้มนี้จะเป็นอย่างไร แต่ยังไม่ลืมที่จะหยอดความสดใสไว้ใน Brassac ที่เหมาะสำหรับการฟังระหว่างขับรถท่องเที่ยวอีกด้วย เมื่อฟัง We Own This World, Cool, I'd Do It Again ไล่เรียงไปเรื่อยๆ จนครบ จะสัมผัสได้ถึงการเติบโตและตัวตนของเธอในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน นี่อาจเป็นเหตุผลที่ Glitter and Smoke มีความโดดเด่นจนได้รับเลือกจาก NME Asia ให้เป็น 1 ใน 10 อัลบั้มที่ดีที่สุดของศิลปินจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2020 เลยทีเดียว
ในวันที่ยังต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน วี วิโอเลต ปรากฏตัวในทรงผมประบ่า แม้จะสวมหน้ากากแต่สายตาของเธอส่งประกายทักทายมายังทีม happening อย่างสดใส แบบที่เราเดาไม่ยากเลยว่าเธอกำลังยิ้มให้อยู่เหมือนกัน การพบกันครั้งนี้เธอเปลี่ยนลุคพร้อมปล่อยซิงเกิลเพลงไทย กักตัว ซึ่งนอกจากจังหวะสนุกๆ และเสียงร้องที่สดใส ยังมีท่าเต้นที่แฟนเพลงของวีสามารถซ้อมไว้เต้นตามได้เป็นครั้งแรก และเธอพูดถึงเพลงนี้ให้เราฟังว่า
"เพลงก็พูดถึงการกักตัวแหละ แต่ว่าตอนที่เขียน เราก็คิดว่าเราจะเล่าเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง เลยรู้สึกว่าถ้าทำเป็นเพลงรักมันก็น่ารักดี ไม่ได้เป็นฟีลแบบกักตัวกักใจ เป็นเหมือนกักตัวจริงๆ นิดๆ นึกถึงไอเดียเวลาหวง ฉันจะกักไม่ให้เธอใกล้ใคร เพราะฉันกลัวคนมาชอบเธอ แค่นั้น เป็นไอเดียที่เหมือนหวงแฟน ก็เลยเขียนเป็นเพลง 'กักตัว' ออกมา เป็นฟีลแบบฉันกักเธอไม่ให้ใกล้ใคร"
VIDEO
การเป็นศิลปินที่เธอเผยให้เห็นความสามารถหลากหลายด้าน การสะท้อนมุมมองและทัศนคติผ่านผลงาน ทั้งๆ ที่ยังคงความเป็นตัวเอง ทำให้ วี วิโอเลต เป็นหนึ่งคนที่น่าติดตามว่าเธอจะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ให้เรารับชมและรับฟังต่อไป
ซึ่งเธอแง้มว่าสิ่งที่พาเธอมาถึงจุดนี้คือ ...ความดื้อของตัวเอง
การทำงานครั้งนี้โทนอารมณ์ต่างกับ Glitter and Smoke พอสมควรใช่ไหม?
"ใช่ค่ะ จริงๆ แล้วคอนเสปต์ของเพลง กักตัว ไม่ใช่เพลงเดียวของโปรเจกต์นี้ค่ะ วีเล็งไว้เป็นอีพีแต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะดึงไปเป็นอัลบั้มเลยหรือเปล่า แต่ว่าไอเดียเริ่มต้นของวี วีแค่รู้สึกว่าช่วงนี้มีแต่อะไรเครียดๆ แล้วอัลบั้มที่ผ่านมา Glitter and Smoke วีทำจนตัวเองมีจุดที่มันดิ่งมันดาวน์บ้าง เลยรู้สึกว่าวีอยากทำเพลงแบบไม่เครียด ทำเพลงสนุก แล้วบวกกับพอไปเล่นโชว์ เราจะรู้แล้วว่าเราขาดเพลงเร็ว เราขาดเพลงสนุก เราขาดเพลงเต้นตามร้องตามอะไรอย่างนี้ เลยรู้สึกว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ เราทำอัลบั้มภาษาอังกฤษไปแล้ว เรามาทำเพลงไทยบ้าง แต่เราทำเพลงตามโจทย์ที่ว่า โอเค เราขาดเพลงไหนในโชว์ เราขาดเพลงสนุกใช่ไหม ได้ เราทำเพลงสนุก ขาดเพลงร้องได้ ได้ เราทำเพลงร้องได้ แล้วบวกกับช่วงนี้พอมันมีแต่อะไรเครียดๆ เราเองก็ไม่อยากเครียด
"มันมีจังหวะที่เรารู้สึกว่าเราขอทำเพลงที่มันไม่ต้องใช้สมองเยอะได้มั้ย ประมาณว่าใช้ความรู้สึกในการฟังแบบไม่ต้องหนักหน่วง แค่อยากให้มันเบาทางความรู้สึก นี่เป็นเหตุผลที่วีเริ่มเขียนเพลงที่มีแต่ความโพสิทีฟในโปรเจกต์นี้ออกมา 'กักตัว' ก็เป็นเพลงหนึ่งที่เลือกมาเป็นซิงเกิลแรกเพราะรู้สึกว่า 'เฮ้ย! เดี๋ยวมันตกเทรน' แบบว่าเราต้องรีบปล่อย สุดท้ายเหมือนตอนโควิดมาระลอก 3 ทุกคนแบบ มันยังไม่ถึงช่วงโปรโมทนะ แล้ววีต้องกักตัวด้วยตอนนั้น (เมษายน 2564) ก็เลยเหมือนว่ามันอาจจะเป็นลางที่ดีหรือไม่ดีหรืออะไรหรือเปล่าไม่รู้เหมือนกัน"
ตอนเริ่มทำงานเพลงมีกระบวนการอย่างไร?
"อย่างอัลบั้ม Glitter and Smoke วีมีการเซตเป็นมู้ดว่า มู้ดประมาณนี้แหละ ทำเพลงแบบที่คิดว่าจะต้องเริ่มทำจากสิ่งนี้ ทำแบบนี้ เฮ้ย! รู้สึกว่ามันใช้เวลามากเลย หนักด้วย มันมีช่วงที่เครียด ถามว่าอะไรที่จะมายึดสิ่งนี้เรารู้ว่าเราจะใช้ชื่ออัลบั้มว่า Glitter and Smoke แต่ไม่รู้เลยว่าคอนเสปต์มันคืออะไร จนกระทั่งเอาเพลงทั้งหมดมาเรียงแล้วถึงหาว่ามันคือสิ่งนี้
"เราเลยลองหาวิธีใหม่ งั้นการทำงานรอบนี้วีเริ่มจากคอนเสปต์ก่อนไหม ซึ่งสุดท้ายคอนเสปต์ของวีอาจจะยังไม่ได้ชัดเหมือนเดิมว่าจะต้องเป็นเรื่องราว เป็นคำนี้แล้วแตกออกมา แต่วีเซตมู้ดแล้วก็เซตไอเดียคอนเสปต์ที่เรารู้สึกว่ามันเครียด ถ้าอยากพักสบายๆ หัวก็ลองมาฟังสิ่งนี้นะ หรือไอเดียว่าอยากทำเพลงสนุก เพราะว่าเราขาดเพลงเต้นในโชว์ที่จะให้คนจอยได้ เพราะฉะนั้นคอนเสปต์มันก็คือแค่นี้ เพลงโพสิทีฟ เพลงที่เต้นได้ นี่คือคอนเสปต์หลักๆ ของเรา ซึ่งมันอาจจะไม่ได้มีไอเดียที่เป็นคำขึ้นมา แต่อย่างน้อยมันทำให้เราเห็นภาพรวมว่าเราจะไปไดเรกชั่นไหน ก็ลองวิธีใหม่ สุดท้ายถ้ามันไม่เวิร์ค เราก็เปลี่ยนวิธีใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่มีวิธีตายตัวอยู่แล้ว"
VIDEO
วีเป็นศิลปินคนหนึ่งที่แต่งเพลงเอง เริ่มเขียนเพลงเองเพราะอะไร?
"วีเป็นคนที่ชอบความเป็นมนุษย์มากๆ มันเลยเหมือนกับว่า อะไรก็ตามที่วีทำมันมีความเป็นมนุษย์ การเขียนเพลงมันเป็นแพสชันอย่างนึง แต่มันไม่ได้เริ่มจากจุดว่า 'ฉันจะแต่งให้เพลงดัง' มันเริ่มจากจุดว่า 'ฉันจะจีบผู้ชาย' 'ฉันจะทำให้เขาประทับใจในตัวฉัน' 'ฉันจะโชว์ความสามารถ' อะไรอย่างนี้ มันเลยเป็นเหมือนกิมมิคของวีในตอนแรกมั้งคะ เราก็ไม่คิดว่าเราจะเอาการแต่งเพลงมาเล่าเรื่องแบบนี้ได้
"สุดท้ายมันก็เป็นแพสชันนะคะ ไม่ใช่ว่ามันไม่ใช่เลย แต่แค่จุดเริ่มต้นมันเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันของเรา ที่เรามองอะไรอย่างไร แค่เอ็กซ์เพรสเฉยๆ วีเลยมองว่าการแต่งเพลงเป็นการถ่ายทอดความเป็นมนุษย์อย่างหนึ่ง"
ที่บอกว่าสนใจในความเป็นมนุษย์ วีสนใจความเป็นมนุษย์ในแง่ไหน?
"จะใช้คำว่าโลกสวยกับวีก็ได้นะ สำหรับวีความมนุษย์มันว้าว! ความฝัน ความสวยงาม เราสามารถมองสิ่งดีๆ ว่ามันสวยงาม มองโศกนาฏกรรมบางอย่างให้งดงามได้ หรือ เวลาเราดูหนัง โห... เรื่องราวมันทัชเรามาก ชีวิตประจำวันเราก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน แต่เราอาจจะมองข้ามมัน เพราะมันไม่ได้ถูกดิสเพลย์ออนสกรีน
"ในชีวิตวีมองเห็นความโรแมนติกในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ความฝัน การทำงาน คนที่เราต้องเจอ ความรักของครอบครัว ความรักกับเพื่อน แค่เราไปแฮงค์เอาท์กับเพื่อนมันมันก็ดูเป็นซีนในหนังได้ วีก็เลยรู้สึกว่าไอ้ชีวิตประจำวันเหล่านี้ มันถูกถ่ายทอดออกมาได้นะ วีก็เลยถ่ายทอดออกมาผ่านเพลง คืออะไรที่มันอยู่ในหนังวีรู้สึกว่ามันมีอะไรที่มันจริงอย่างนั้นอยู่ ยกเว้นหนังไซไฟ เอเลี่ยน ซึ่งเราไม่มีทางรู้อยู่แล้ว แต่ในความสัมพันธ์ของมนุษย์ ในการใช้ชีวิต จะเรียบง่ายหรือไม่เรียบง่ายแต่ในการใช้ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง วีรู้สึกว่ามันมีเรื่องราวมาก มันโรแมนติกในหนทางของมัน ถ้าเรามองให้มันโรแมนติกได้"
สำหรับวีมีด้านที่เป็นศิลปินนักร้องและด้านที่เป็นนักแสดงด้วย โมเม้นต์แรกที่รับงานแสดงรู้สึกอย่างไร?
"จริงๆ ถ้าไม่นับที่ไปประกวดรายการเดอะวอยซ์นะคะ วีรับงานแสดงก่อนงานร้องเพลง เพราะตอนนั้นทางจีทีเอช (GTH) ติดต่อวีตั้งแต่ยังอยู่ในรายการ เหมือนเขาได้ดูรอบแบทเทิล และวีรู้ว่าตัวเองตกรอบการแข่งรอบน็อคเอาท์ไปแล้วแต่ยังไม่ออนแอร์ แล้วเหมือนกับเขาเห็นว่าเด็กคนนี้แววตาสื่ออารมณ์ได้ เลยชวนมาแคสหนัง เราก็โอเค เลยได้เล่นหนัง ตั้งแต่ตอนนั้นมันทำให้รู้สึกว่า เราเริ่มจากดนตรีก็จริง แต่งานที่รับงานแรกก็เป็นงานแสดงเรื่อง ฝากไว้ในกายเธอ ทีนี้เขาเห็นว่าเราก็เป็นนักร้อง งั้นลองร้องเพลงประกอบไหม กลายเป็นว่าผลงานชิ้นแรกของวีที่ออกมาสู่วงการคือทั้งหนังและเพลงในเวลาเดียวกัน"
ตอนที่ตัดสินใจรับเล่นหนังคิดอะไรอยู่?
"ไม่คิดอะไรค่ะ คิดว่าน่าสนุก เป็นโอกาสที่ดี ไม่เห็นเหตุผลที่จะเซย์โน ก็สนุกดีออก แค่นี้เลยค่ะ ไม่ได้คิดเยอะว่าฉันจะต้องเด่น อย่างตอนประกวดเดอะวอยซ์ก็ไม่มีไอเดียนั้นเลย แค่รู้สึกว่ามันน่าจะสนุกดี"
มีจุดไหนที่ทำให้รู้สึกว่าเราเลือกทางที่ถูกต้องแล้ว?
"เหมือนวีจะตัดสินใจถูกมาค่อนข้างเยอะนะคะ พอเราไม่ได้ตัดสินใจแบบที่เอาผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง เราเอาความรู้สึก ใช้ไม้บรรทัดของความชอบ แพสชัน อะไรก็ตามที่ไม่ได้เป็นตัวเงินหรือชื่อเสียงเป็นสิ่งแรกๆ มันทำให้ยังไงช้อยส์มันก็ถูกต้อง เพราะสุดท้ายเราเลือกอะไรที่มันตั้งอยู่บนพื้นฐานของตัวเรา ยังไงมันก็จะส่งผลดีกับตัวเรา มันก็เหมือนมันสะท้อนบุคลิกเรามั้งคะ"
มีเกณฑ์หรือแนวทางเวลาที่เราเลือกทำสิ่งต่างๆ ไหม ?
"เลือกที่มันเหมาะกับเราค่ะ แต่มันก็มีบางสิ่งที่วีเคยตัดสินใจพลาดนะ อย่างเช่นเรื่องรายละเอียดของสัญญาต่างๆ ถ้าตอนนั้นวีรู้มากเท่าตอนนี้ มันคงจะดีกว่านี้เนอะ แต่สุดท้ายมันทำให้เราเรียนรู้ที่จะทำอะไรด้วยตัวเองเยอะมาก แล้วพอเราเข้าใจอะไรมากขึ้น มันก็เป็นผลดีกับเรา เรากลายเป็นคนที่รู้เรื่องกฎหมายในเชิงลิขสิทธิ์เพลงหรือข้อตกลงสำหรับค่าย ซึ่งพอวันนี้กลับมาที่ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค ก็เป็นดีลที่เราแฮปปี้"
คิดว่าที่ผ่านมาอะไรคือสิ่งที่นำพาวีให้เดินทางมาถึงจุดนี้ได้?
"วีรู้สึกว่าน่าจะเป็นความดื้อของวีมั้งคะ ที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ ความเป็นเด็กของเราในตอนนั้นคือเราเอาแต่ใจมากเลย เราจะไม่ทำอย่างนี้ เพราะมันไม่ใช่เรา วีมีภาพชัดของตัวเองว่า 'ฉันเป็นแบบนี้' และ 'ฉันจะไม่ให้ใครเปลี่ยนฉัน' ซึ่งปัจจุบันก็มีมุมนี้ แต่จะประนีประนอมมากขึ้น ในอดีตคือจะไม่ประนีประนอมเลยแม้แต่นิดเดียว มันทำให้ในช่วงที่จริงๆ เราสามารถกอบโกยรายได้บางอย่างได้ เช่น มีสินค้ามาให้โพสรีวิว วีไม่รับอะไรเลย เพราะรู้สึกไม่เท่ คิดแค่นี้เลย ไปๆ มาๆ มันเลยส่งผลระยะยาวว่า อ๋อ... ภาพวีคลีนจากโปรดักส์มากๆ แล้วพอถึงจุดหนึ่งที่คนเริ่มรู้จัก พรีเซนเตอร์เริ่มหันมาสนใจ วีไม่มีรูปในอดีตที่ถือโปรดักส์อะไรมาเลย เพราะตอนเด็กๆ วีแค่คิดว่ามันไม่เท่เฉยๆ ก็ถือว่าเป็นผลดี แต่รายได้อาจจะไม่เยอะ ทำอะไรที่เป็นตัวเอง ถ้าเราเป็นตัวเองมันก็น่าจะเป็นผลดีแหละ"
เวลาฟังเพลงของวีจะรู้สึกว่ามีวิธีนำเสนอเรื่องราวในแบบเฉพาะของตัวเองใช่ไหม?
"พอฟังเพลงไทยจะยิ่งรู้สึกกว่าเดิมอีก วีก็เพิ่งรู้สึกเหมือนกัน เพราะวีไม่ได้เขียนเพลงไทยเยอะใช่ไหมคะ แล้วพอมาเขียนเพลงไทย มันทำให้รู้สึกว่านี่เป็นเพลงไทยที่เป็นภาษาของวีมากๆ ไม่มีใครเขียนลายเซ็นแบบนี้แน่นอน ตอนแรกวีก็จะส่งไปให้เพื่อนอ่าน เพื่อนจะเป็นเหมือนหนูทดลองของวี ไหนฟังสิรู้สึกอย่างไร เพื่อนอ่านแล้วแบบ 'กูรู้สึกว่ามันดูแปลกนะ' แต่พอเราร้องให้ฟังเพื่อนก็ 'เออไม่รู้สึก' มันก็ลื่นไหลไปคงเพราะมันเป็นเรา แล้วเป็นภาษาพูดของเราจริงๆ มันเลยเป็นลายเซ็น"
ตอนนี้รู้สึกอย่างไรกับตัวเอง?
"วีค่อนข้างแฮปปี้กับตัวเองนะ วีรู้สึกว่าจิตวีนิ่งขึ้น มันจะมีช่วงที่วีจิตฟุ้งไม่ค่อยโอเคกับตัวเอง จริงๆ มีเพลงความรู้สึกประมาณนี้ด้วยในโปรเจกต์นี้ ฟีลลิ่งแบบมีโมเม้นต์ที่เราไม่ได้รู้สึกดีกับตัวเองตลอด บางครั้งเราก็รู้สึกทำไมเราทำได้ไม่ดีเหมือนคนอื่น ทำไมเราถึงทำได้ช้า หรือทำไมเราเป็นคนแบบนี้ แบบนั้น แบบโน้น มันอดไม่ได้ที่จะวิเคราะห์ตัวเองกันอยู่แล้ว และวีว่าทุกคนอาจจะเป็นแบบนั้น เราแค่ต้องเตือนตัวเอง เราคงลืมไปว่าเราต้องให้กำลังใจตัวเองด้วยนะ มันเหมือนคำที่เคยได้ยินกันมาตลอด ถ้าเราไม่รักตัวเองก่อน คนอื่นจะมารักเราได้อย่างไร
"ซึ่งมันก็จริงในเวย์หนึ่ง ในโมเม้นต์ที่เราไม่ได้เทคแคร์กับความรู้สึกของตัวเอง เราพยายามจะไปเอาใจคนอื่น แต่เราให้แล้วเราจะหมด เพราะเราไม่ได้เติมให้ตัวเราเอง มันก็ผ่านกระบวนการ มันมีช่วงที่ดาวน์ ขึ้นๆ ลงๆ มันก็เป็นปกติ ถ้าถามวี มองย้อนกลับไป วีรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโชคดีหน่อย โอเค มันก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่เขาว่ากัน แต่วีรู้สึกว่าหนามของวีมันก็ไม่ได้เยอะขนาดนั้น แต่ว่าหนามแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน หนามมากหนามน้อย ในเชิงความรู้สึกคนเรามันเทียบกันไม่ได้หรอก บางทีเราก็ไม่รู้"
สำหรับวีคิดว่ามีความสมบูรณ์แบบไหม?
"ไม่รู้ค่ะ สมบูรณ์แบบในความหมายของวี วีไม่รู้เลย มันคงไม่จบไม่สิ้น ตอนเด็กๆ เราอยากเป็นคนแบบนี้ แล้วพอไปถึงจุดนั้นเราก็จะหาเรื่องให้ตัวเองใหม่อยู่ดีว่าจะเป็นแบบนี้ไหม ความต้องการของมนุษย์มันไม่มีที่สิ้นสุดอยู่แล้ว มันไม่มีทางที่จะสมบูรณ์แบบเลย"
มองเห็นอนาคตของตัวเองไหมว่าอยากเป็นศิลปินแบบไหน อยากเป็นคนอย่างไร หรือได้เป็นคนแบบที่อยากเป็นแล้วหรือยัง?
"ถ้าย้อนกลับไปตอนเด็ก วีว่าวีคงเป็นสำหรับตัวเองในตอนเด็กเหมือนกัน แล้วก็วียังไม่รู้เหมือนกันค่ะว่าวีอยากจะเป็นแบบไหน ตอนนี้วีก็หามาเรื่อยๆ ไม่สามารถพูดได้หรอกว่า เราจะเป็นใครในอนาคต เราก็แค่คิดว่าโตไปอยากเป็นคนประมาณนี้ คือไม่ได้ได้มองว่าจะเป็นศิลปินแบบไหน แต่จะเป็นคนประมาณนี้นะ อยากเป็นคนที่นิสัยประมาณนี้ มีจิตใจโอบอ้อมอารี อย่างเช่น สมมติมีช่วงที่เราบิชชี่ขึ้นมา เราก็จะแบบ โอเค... ในอนาคตเราจะไม่บิชชี่ มันก็คงเป็นสเต็ปที่ว่าเราอยากพัฒนาตัวเองอย่างไรมากกว่า
"ถ้าเป็นศิลปินก็คงอยากเขียนเพลงให้เยอะขึ้น อยากเก่งขึ้น อยากเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้ได้คล่อง คือมันก็คงเป็นสเต็ปแบบนั้นมั้งคะ ไม่ได้มองว่าฉันจะเป็นศิลปินแบบป๊อปสตาร์ มันคาดเดายากมากเลยเรื่องพวกนั้น ถ้าเราไปคาดหวังกับตัวเอง อย่างเช่นปีนี้เหมือนเป็นนิวเยียร์เรสโซลูชั่นไปเรื่อยๆ ว่า ปีนี้เราจะมีใบขับขี่ ปีนี้เราจะเล่นกีตาร์ให้คล่อง ต้องเล่นโชว์โดยมีกีตาร์หรือเปียโนได้นะ คือมันค่อยๆ เป็นสเต็ปอะไรแบบนี้มากกว่า"