อัลบั้ม ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา ของ เพชร โอสถานุเคราะห์ เป็นหนึ่งในนั้น
ความดีงามของอัลบั้ม ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา คือการเรียงเพลง แต่ละเพลง แต่ละแทร็ก ทยอยเล่าเรื่องราว สลับฉาก ค่อยๆ เปลี่ยนบทบาทและสื่อเนื้อหาอันหลากหลายได้อย่างน่าทึ่ง เหมือนการเดินทางไกล คล้ายการดูรายการวาไรตี้อันกลมกล่อม และราวกับหนังสือรวมเรื่องสั้นชั้นดี
อัลบั้มนี้เริ่มแทร็กแรกด้วยเพลงสนุกๆ ชื่อ รักเธอแต่เธอไม่รู้ ขึ้นต้นด้วยเพอร์คัสชั่นเร้าใจ เสียงซินธ์สดใส เสียงร้องของเพชรฟังเพลินๆ ชวนให้อมยิ้มด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับเจ้าหนุ่มที่ที่แอบรักสาวข้างเดียว เนื้อเพลงคล้องจองและชวนให้ร้องตาม "ฉันนั้นรักเสียงเพลงบรรเลง และฉันรักท้องฟ้าที่กว้างไกล ฉันนั้นรักคลื่นลมทะเล และลมฝนที่พัดอยู่ร่ำไป ฉันนั้นรักเพื่อนด้วยใจไมตรี แทนความรักไม่ว่าอยู่แห่งไหน ...แต่ฉันรักเธอ...เหนือสิ่งใด" และที่โดดเด่นที่สุดก็คือท่อนฮุกที่ร้องได้อย่างน่ารักมากๆ ว่า "รักเธอแต่เธอไม่รู้...ฮู้ฮูฮู"
ต่อแทร็กที่สองด้วย รถด่วน คราวนี้ยังคงอยู่ในโหมดเพลงป๊อปสนุกๆ สไตล์นิวเวฟที่มากับเสียงหวูดรถไฟ กีตาร์ และซินธ์เท่ๆ แต่ความเก๋มากๆ ของเพลงนี้คือมันเป็นเพลงที่พูดถึงรถไฟด่วนจากกรุงเทพฯ ไปสู่แดนไกล และเพชรก็รับบทบาทขับร้องหลากหลายเสียง คือเป็นทั้งคนเล่าเรื่อง ทั้งนายสถานี และเป็นหนุ่มน้อยที่กำลังจะจากลาคนรักด้วยความอาลัย ทำให้ รถด่วน เป็นเพลงป๊อปที่เท่ด้วยการสลับอารมณ์สนุกๆ กับความเศร้าสร้อยได้อย่างลงตัว และมีท่อนดนตรีตรงกลางเพลงเป็นสีสันอันแสนฉูดฉาด
ไปต่อด้วยเพลงที่ล้ำขึ้นไปอีก กับไตเติ้ลแทร็กที่ชื่อว่า ธรรมดา ซึ่งเป็นเพลงที่ไม่ธรรมดาเลยสักนิด ไม่ธรรมดาตั้งแต่เสียงขลุ่ยจีนที่ขึ้นมาในอินโทร จนกระทั่งเสียงซินธิ์และจังหวะแบบเทคโนป๊อป เพชรร้องสลับบทบาทอีกครั้ง ในท่อนเวิร์กเขาเป็นหนุ่มที่กำลังร้อนใจเพราะอกหักรักคุด พอถึงท่อนฮุกที่เพชรร้องเป็นเสียงพระสวดว่า "ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา" ส่วนผสมทั้งหมดทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงที่เท่สุดขีดไปเลยมีเดียว
เท่มากๆ ไปแล้ว คราวนี้มาถึงแทร็กที่เปรี้ยวสุดขีดบ้าง เพลง ดิ้นกันมั้ยลุง? เป็นเพลงฮิตอีกเพลงของอัลบั้มนี้ด้วยความที่มันเฮฮาเอามากๆ ชื่อเพลงนั้นบอกอยู่แล้วว่า 'ดิ้น' แน่นอน และมันก็ออกมาเป็นเพลงแดนซ์สนุกๆ ที่มีเนื้อร้องขำๆ เล่าเรื่องของลุงวัย 65 ที่เดินหลงเข้าไปในเธคแล้วก็เลยถูกสาววัยรุ่นชวนออกไปเต้น (วัยรุ่นยุคนั้นจะใช้กันว่า 'ดิ้น') เพลงเริ่มขึ้นด้วยเสียงเบสและเสียงหอบแฮกๆ ของลุง เพชรร้องดัดเสียงเป็นคนแก่งกๆ เงิ่นๆ ไปทั้งเพลง พอมาถึงท่อนฮุกก็มีเสียงร้องแจ๋นๆ ปนเซ็กซี่ของสาวๆ เข้ามาสร้างบรรยากาศให้กลายเป็นเพลงแดนซ์ที่สนุกปนแปลก ขบขัน แต่ก็สร้างสรรค์เอามากๆ
สนุกกันมา 4 เพลงแล้ว เพชรปิดท้ายหน้าแรก (ถ้าเป็นเทปคาสเสตต์หรือแผ่นเสียง) ด้วยเพลงช้าสุดไพเราะชื่อ แม่หน้ามน บทเพลงล่องลอยไปสู่โลกแห่งความรักและความฝัน เนื้อร้องชักชวนหญิงสาวให้มาลองรักกันดีกว่า อย่ามัวแกล้งทำเป็นไม่สนใจ เพราะรู้ดีว่าจริงๆ แล้วเธอก็สนใจอยู่เหมือนกัน คำว่าแม่หน้ามนก็ดูโรแมนติกแบบกวีนิดๆ ทำให้กลายเป็นเพลงรักสำหรับวัยที่เริ่มมีความรัก ที่งดงามมากๆ เพลงหนึ่ง
เพชรเริ่มต้นอีกหน้า (ถ้าเป็นแผ่นเสียงหรือเทปคาสเสตต์) ด้วยความกระฉับกระเฉงในเพลง ตื่นเถอะ อารมณ์ดนตรีแบบเพลงธีมจากภาพยนตร์ Ghostbusters ที่เป็นเพลงฮิตระเบิดในช่วงก่อนหน้านั้น บวกกับซาวนด์แปลกๆ สไตล์ โธมัส ดอลบี้ (Thomas Dolby) นักดนตรีชื่อดังสายนิวเวฟ ในขณะที่เนื้อร้องนั้นสื่อถึงสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนต้องกระฉับกระเฉงเร่งรีบและตื่นนอนเพื่อไปทำงานหรือเล่าเรียนให้ทันเวลา เพราะชีวิตของทุกคนมีความเชื่อโยงกันเป็นลูกโซ่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ลูกเล่นที่น่าจดจำของเพลงคือตอนท้ายเพชรได้ร้องคำว่า "ตื่นเถอะ" ไว้ถึง 4 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ เยอรมัน และญี่ปุ่น!
ต่อด้วยเพลง ผู้หญิง ผู้หญิง ผู้หญิง ที่มาแปลกด้วยการเริ่มขึ้นด้วยเสียงร้องและเปียโนอะคูสติกกับเพอร์คัสชั่นเบาๆ ให้อารมณ์แบบละครเพลงบรอดเวย์ เนื้อร้องพรรณนาถึงผู้หญิงว่ามีความสำคัญต่อผู้ชายและโลกนี้อย่างไร ด้วยภาษาและบรรยากาศสวยๆ แบบบทกวี แต่แล้วก็หักมุมอย่างแรงเมื่อดนตรีกระหึ่มด้วยเสียงกลองแบบคนป่าดังเร่งเร้าใจปนกับเสียงซินธิ์แนวโรแมนติกที่มีคอร์ดโปรเกรสชั่นแบบ The Beatles ปนกับเสียงร้องคอรัสในสไตล์ Human League แล้วเพชรก็สลัดคราบกวีที่มีอารมณ์สุนทรีออกไป เปิดเผยอารมณ์เร่าร้อนของผู้ชายที่ชอบผู้หญิงแบบขาดไม่ได้! ที่พีกคือตอนท้ายจบด้วยการหอนซะด้วย! นับเป็นเพลงที่มีโครงสร้างแปลกประหลาดเพราะท่อนเวิร์สไปกระจุกกันอยู่ช่วงต้น ส่วนช่วงหลังก็ท่อนคอรัสหลายรอบโดยไม่ย้อนกลับไปยังท่อนเวิร์สอีก กลายเป็นเพลงที่อาร์ตมากๆ เพลงหนึ่ง
มาถึงเพลงที่ 7 เพชรตัดอารมณ์อีกครั้งด้วยเพลงสุดเพราะชื่อ คนช่างฝัน ที่มาพร้อมมวลดนตรีอบอวลล่องลอย ส่วนเนื้อร้องมีสไตล์แบบทกวีและเนื้อหาที่มองโลกอย่างมีความหวังและอุดมการณ์แบบยูโธเปียอันสวยงาม โดยพูดถึงคนช่างฝันคนหนึ่งที่อาจจะไม่ฉลาดเฉลียวเท่าทันคนอื่น แต่มีความจริงใจและมีความใฝ่ฝันอยากจะเห็นโลกเราปราศจากสิ่วเลวร้ายต่างๆ ทั้งความยากจนอดยากและสงคราม และมีแต่ความรักกับสันติภาพทุกวัน ชวนให้นึกถึง Imagine ของ จอห์น เลนนอน อยู่เหมือนกัน (เพชรเป็นแฟนตัวยงของ The Beatles คนหนึ่ง) เพียงแต่เป็นการบอกเล่าด้วยวิธีที่แตกต่าง และอารมณ์ที่แตกต่าง
แล้วก็มาต่อด้วยเพลงอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปเปรี้ยวปรี๊ดอย่าง มนตรา ที่มาพร้อมเสียงซินธิ์เก๋ไก๋แต่มีความเร้นลับ ปูบรรยากาศให้กับเนื้อร้องที่กล่าวถึงสาวที่มีเสน่ห์แพรวพราวราวกับมีเวทมนต์ ทำให้ผู้ชายที่เข้าไปใกล้ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของเธอ เป็นรักแบบที่มีอันตรายต่อจิตใจของคนที่ต้องตกอยู่ในภาวะที่ช่วยตัวเองให้ขึ้นมาจากหลุมรักนั้นไม่ได้ นับเป็นเพลงเท่ที่มีเสน่ห์แรงสมกับชื่อเพลง และแม้ว่าจะอยู่ในโหมดเพลงที่มีลูกเล่นทางดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และเนื้อเพลงฉวัดเฉวียนเหมือนกับบางเพลงในอัลบั้ม แต่เพชรก็ทำให้เพลงนี้แตกต่างจากเพลงอื่นๆ ด้วยการใส่อารมณ์ลึกลับน่าค้นหาลงไปได้อย่างพอดิบพอดี
และบางทีการฟังอัลบั้มสักชุดจะประทับอยู่ในความทรงจำเราหรือไม่ หรือเราจะอยากหยิบอัลบั้มชุดนี้มาฟังซ้ำๆ อีกไหม ก็อาจจะอยู่ตรงที่เพลงปิดท้ายอัลบั้มนี่เอง อัลบั้มชุดนี้มีเพลงปิดท้ายอัลบั้มที่ถือว่าเป็นเพลงป๊อปที่ไพเราะที่สุดเพลงหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรีไทยสากลเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ที่นักฟังเพลงไทยหลายคน หลายรุ่น จดจำได้ตั้งแต่อินโทรเสียงคลื่นกระทบชายฝั่งและเสียงเปียโนไฟฟ้ากรุ๊งกริ๊ง ท่วงทำนองแสนงดงาม เนื้อร้องสุดโรแมนติก ที่ชายธรรมดาๆ คนหนึ่งชักชวนให้คนรักก้าวผ่านค่ำคืนแห่งรักไปด้วยกัน เพลงนี้ถูกเอาไปคัฟเวอร์หลายต่อหลายครั้ง โดยศิลปินหลายคน (อาทิ Lomosonic, Paradox, ไมค์ พิรัชต์, Instinct และกระทั่ง กิ๊ก-อนิศ โอสถานุเคราะห์ ยังเคยเอาเพลงนี้ไปตีความใหม่ตอนที่เขาลองเป็นนักร้องด้วย) ซึ่งคงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า ...ถึงวันนี้ยังไม่มีเวอร์ชันไหนเอาชนะต้นฉบับไปเลย
หลังจากอัลบั้มปล่อยชุดแรกออกมา เพชรหันไปทำงานธุรกิจ ไปเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย จนอีก 20 ปีถัดมาเขาถึงมีอัลบั้มชุดที่ 2 ชื่อว่า Let's Talk About Love (2550) ซึ่งก็ถือเป็นอัลบั้มเพลงไทยที่ดีมากๆ อีกชุด และยังคงแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ในแบบของเขาได้เป็นอย่างดี
แต่การจะเป็นปรากฏการณ์อัลบั้มแบบ 'ไร้กาลเวลา' นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งห้วงเวลาที่มันถูกปล่อยออกมา ทั้งคุณภาพและความลงตัวของบทเพลงทั้งอัลบั้ม ทั้งบริบททางสังคม เทรนด์และแฟชั่นที่กำลังดำเนินไป และที่สำคัญคือการพิสูจน์ด้วยการผ่านวันเวลา
อัลบั้ม ธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา พิสูจน์ตัวเองด้วยสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว
4099 VIEWS |
ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง