OLE : สีสันและลายเส้นที่ช่วยเติมเต็มกำลังใจให้กับผู้คน

    OLE ไม่ใช่ชื่อแบรนด์ที่มีความหมายลึกซึ้ง แต่เป็นชื่อเรียกประจำตัวที่ โอเล่-อนุสรณ์ ผสมกิจ ได้ยินมาตั้งแต่เกิด ก่อนที่เขาจะเติบโตมาเป็นกราฟิกดีไซเนอร์และนักวาดภาพประกอบ และค้นพบลายเส้นและสีสันที่ตัวเองถูกใจ จนเป็นที่มาของ OLE แบรนด์ดีไซน์ที่ใช้งานศิลปะบอกเล่าเรื่องราวและส่งมอบความสุขให้กับผู้คน

    เรานัดพบกันที่ร้านกาแฟเล็กๆ แห่งหนึ่ง โอเล่ทักทายฉันด้วยท่าทีเป็นกันเอง วันนี้เขาอยู่ในชุดสบายๆ ใส่เสื้อเชิ้ตที่มีลายเส้นของเขาแต่งแต้มและสวมหมวกปีกกว้าง หลังจากเติมพลังด้วยกาแฟข้างกายเรียบร้อยแล้ว บทสนทนาของเราก็เริ่มต้นขึ้น

    โอเล่จบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ และทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ในบริษัทแห่งหนึ่ง ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว "ส่วนใหญ่ผมจะทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการ งานที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นการใช้งานออกแบบมาช่วยให้คนเข้าถึงสิ่งที่องค์กรทำอยู่ได้ง่ายขึ้น เช่น ผมเคยออกแบบหนังสือเกี่ยวกับสิทธิแรงงานซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างหนัก เราก็จะใช้ภาพกราฟิกช่วยย่อยให้เนื้อหาเหล่านี้เข้าใจง่ายขึ้น คนอยากอ่านมากขึ้น"

    หลังจากใช้งานศิลปะเล่าเรื่องของคนอื่นมาพักใหญ่ ก็ถึงเวลาที่เขาจะใช้งานศิลปะเล่าในสิ่งที่ตัวเองอยากเล่าบ้าง แบรนด์ OLE จึงถือกำเนิดขึ้น

    "พอทำงานมาซักพัก ผมเริ่มอยากทำงานของตัวเอง จึงลองเอาภาพที่วาดไปวางขายในงาน 10 Art Market จำได้เลยว่าตอนนั้นมีแค่ของไม่กี่แบบบนโต๊ะเล็กๆ ปรากฎว่า มีคนชอบงานและติดตามเราเพิ่มขึ้น มันก็สนุกดีนะ การที่เราได้เล่าเรื่องผ่านงานศิลปะและผลิตสินค้าเพื่อให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น สนุกกับเราง่ายขึ้น ก็เลยทำมันมาเรื่อยๆ ครับ"

    ชายหนุ่มหยิบชิ้นงานในกระเป๋าขึ้นมาวางบนโต๊ะ แล้วค่อยๆ เล่าถึงที่มาของแต่ละชิ้น เริ่มจากโปสการ์ดเซ็ตแรกของแบรนด์ OLE อย่าง 'ชายตัวเขียว' ที่บอกเล่าเรื่องราวรักข้างเดียว ผ่านลายเส้นน่ารักที่มองแล้วกลับรู้สึกเหงาเสียอย่างนั้น ขณะที่ not flower, it's love Zine อีกหนึ่งชิ้นงานขายดี ชายหนุ่มนำเสนอภาพวาดสีสดใส เปรียบเทียบความรักในแต่ละช่วงวัยเป็นดอกไม้ชนิดต่างๆ ที่สวยงาม น่าดึงดูดใจ แต่กลับเปราะบางและแห้งเหี่ยวอย่างง่ายดาย

    ผลงานส่วนใหญ่ของโอเล่มักได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งรอบตัวที่แวะเวียนเข้ามาทักทายเขาในแต่ละช่วงวัย หลังจากใช้ภาพวาดเล่าเรื่องราวความรักและความสัมพันธ์อยู่พักใหญ่ โอเล่ในวัย 33 ปีเริ่มหันมาสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติและการใช้ชีวิตมากกว่าที่เคย

    "ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราไม่ได้ออกบูท ไม่ค่อยได้เจอคน และต้องอยู่แค่ในละแวกบ้าน ผมเลยมีเวลาวาดธรรมชาติข้างทางมากขึ้น มันสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองเหมือนกัน ชีวิตเราก็เหมือนการเดินทาง บางครั้งเจอทางขรุขระ เจอความทุกข์ แต่สิ่งที่ทำให้เรายังมีความสุขอยู่ คือ ดอกไม้เล็กๆ ที่อยู่ตามรายทาง สิ่งเหล่านี้มันเป็นพลังที่ทำให้เราเดินต่อไปได้เรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งอุปสรรคก็จะผ่านพ้นไป" โอเล่พูดพลางพลิกสมุดสองเล่มให้เราดู "อันนี้เป็นสมุดที่ผมทำ ชื่อรุ่นบัวพ้นน้ำ เป็นสัญลักษณ์การหลุดพ้นอะไรบางอย่างในหน้าที่การงาน อีกเล่มจะเป็นรุ่นดอกกุหลาบตอนเที่ยงคืน เรามองว่าความสวยงามของดอกกุหลาบมันไม่ได้อยู่แค่ตอนกลางวัน ไม่ว่ามันจะเจออุปสรรคหรือความมืดมนแบบไหน มันก็ยังเป็นดอกกุหลาบที่สวยงามเสมอ"

    นอกจากสินค้าแล้ว โอเล่ยังรับวาดภาพพอร์เทรตเวลาไปออกบูธตามงานต่างๆ อีกด้วย "เอาจริงๆ นะ สมัยก่อนผมวาดภาพพอร์เทรตไม่เก่งเลย ด้วยความที่เราต้องไปออกบูทขายของแล้วสินค้าเราน้อย เราเลยลองเปิดรับวาดรูปดู ปรากฎว่าวันนั้นมีคนมาวาดรูปกับเราเยอะมาก จบงานเลยรู้สึกว่า เราเองก็ทำได้เหมือนกัน ผมรู้สึกว่า การลงมือทำและความกล้าก็เป็นสิ่งสำคัญ เราจะไม่มีทางรู้ว่าสิ่งที่ทำมันดีหรือไม่ดี ถ้าเราไม่ทำมันออกมา จากสิ่งที่เราเคยคิดว่าตัวเองไม่ถนัด ทุกวันนี้มันก็กลายมางานที่เราทำได้ดี มันเกิดจากการลองทำแค่นั้นเลยครับ"

    ล่าสุด เขายังมีเสื้อฮาวายและกระเป๋าผ้าแคนวาส เข้าเซ็ตกับอาร์ตพริ้นต์ 'Kingfisher' ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนกกระเต็นที่ล่าเหยื่อด้วยการบินลงไปในน้ำ

    "มันเป็นภาพที่มหัศจรรย์มากครับ นกชนิดนี้จะดำลงไปในน้ำ พุ่งขึ้นมา แล้วบินต่อเพื่อมากินเหยื่อบนบก ถ้ามองนกกระเต็นเป็นคน การทำงานที่ยากแล้วมันประสบผลสำเร็จ มันสวยงามเสมอ พอเราวาดภาพนี้ออกมา ก็คิดต่อว่าทำยังไงให้คนเข้าถึงงานนี้ เลยผลิตเสื้อและกระเป๋าผ้าขึ้นมา เพื่อให้คนเข้าถึงเนื้องานได้ง่ายขึ้น ผมอยากผลิตงานที่สร้างแรงบันดาลใจหรือเป็นกำลังใจให้กับคนที่ซื้อสินค้าของเราไป" แววตาของเขาดูมีความสุข เมื่อได้พูดถึงสิ่งที่ตนรักและถนัด

    เราสังเกตเห็นว่าแต่ละงานมีลายเส้นที่แตกต่างกัน เขายิ้มน้อยๆ และอธิบายให้ฟังว่า "ผมใช้งานวาดเป็นตัวสื่อสารเรื่องราวที่อยู่ภายในให้ออกมาเป็นรูปร่าง ผมรู้สึกว่า งานบางชิ้นต้องใช้เทคนิคแบบนี้ ขณะที่บางงานมันต้องใช้เทคนิคอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันไม่สามารถกำหนดให้เป็นโทนหรือสไตล์เดียวกันได้ตลอดครับ ส่วนตัวผมรู้สึกโอเคกับการที่ลูกค้าสนุกกับเรื่องราวในงาน แล้วค่อยไปอ่านตัวหนังสือเล็กๆ ว่าผมเป็นคนทำก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเห็นแล้วรู้ว่าเป็นงานผมแต่ไกลแบบนั้น"

    นั่นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมผลงานของโอเล่จึงไม่มีสไตล์หรือลายเส้นเฉพาะตัว

    เมื่อถามถึงลูกค้าที่เข้ามารับกำลังใจจากชิ้นงานเหล่านี้ว่าเป็นใคร ชายหนุ่มตอบว่า งานของเขามักได้รับความนิยมจากลูกค้าผู้หญิงมากกว่า ด้วยลายเส้นและสีสันที่มีความสดใส ขณะที่บางส่วนเป็นกลุ่มคนที่ติดตามผลงานของเขามาจากช่องทางโซเชียล

    "บางคนอาจสงสัยว่าทำไมผมถึงชอบใช้สีสดใส ส่วนตัวผมเติบโตมากับยุค Pop Art มันมีความสดใสในช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่น เรารู้สึกว่าโลกใบนี้มันมีสีสันมากมายให้เราใช้งาน ผมไม่อยากจำกัดตัวเองอยู่แค่สีขาว เทา ดำ ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันไม่ค่อยสนุกเลย มันดูมืดมนไปหมดถ้าทุกคนแต่งตัวด้วยโทนสีเดียวกันหมด ผมเป็นคนชอบความหลากหลาย การใช้สี มันสนุกดีครับ" เขาตอบด้วยรอยยิ้ม

    แม้โอเล่จะก่อตั้งแบรนด์ OLE มาแค่ 2 ปี แต่ในฐานะนักวาดภาพประกอบ โอเล่มองเห็นการเติบโตของแวดวงนี้มาร่วมสิบปีแล้ว "ตอนนี้ศิลปินเริ่มมีช่องทางในการทำงานมากขึ้น สื่อเองก็มีหลากหลายขึ้น ตลาดที่รองรับงานประเภทนี้ก็เริ่มเติบโตขึ้น อีกส่วนที่เราอยากให้เกิดขึ้นคือ การสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะตอนนี้นักวาดภาพประกอบส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพมหานคร ถ้าภาครัฐสนับสนุนนักวาดที่เป็นคนต่างจังหวัดด้วยก็จะดีมาก อยากให้เข้าใจว่าจริงๆ แล้วการวาดคาแรกเตอร์หรือทำงานออกแบบ มันเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ เรื่องราวของศิลปินแต่ละคนที่เขานำเสนอผ่านผลงาน มันช่วยเพิ่มมูลค่าได้เหมือนกัน"

    ในอนาคต ชายหนุ่มหวังว่า ภาพวาดของเขาจะสามารถสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ให้กับผู้คนในทุกพื้นที่ ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น "ผมอยากให้แบรนด์ OLE เล่าเรื่องและสื่อสารกับคนทั้งโลกได้ ผมไม่รู้ว่ามันใหญ่ไปรึเปล่านะ แต่ผมรู้สึกว่าถ้าเราทำแบรนด์หรือวาดอะไรบางอย่างแล้วสามารถพูดกับคนทั้งโลกได้ เหมือนที่ชาวต่างชาติทำแบรนด์แล้วการสื่อสารของเขาส่งมาถึงเรา เราเองก็อยากส่งไปให้ถึงเขาเหมือนกัน"

    ก่อนบทสนทนาจะจบลง เรามีโอกาสได้พูดคุยถึงช่วงเวลาในวัยเด็กของโอเล่สั้นๆ แม้เส้นทางการวาดรูปของเขาจะมีจุดเริ่มต้นไม่ต่างจากนักวาดคนอื่นนัก แต่เขาในเวลานั้นกลับต้องแอบซ่อนความชอบของตัวเองไว้

    "จำได้ว่าสมัยเรียนด้านหลังสมุดของผมจะมีตัวการ์ตูนที่วาดเล่นอยู่เกือบทุกเล่ม คุณครูมักจะดุว่าเราทำสมุดเลอะ พอเท้ายเทอมแต่ละปีที่ต้องส่งสมุด ผมก็ต้องค่อยๆ ฉีกหน้าที่วาดการ์ตูนออก เพื่อให้สมุดมันดูสมบูรณ์ เราเสียดายนะแต่เราก็เข้าใจว่า มันเป็นกฎเกณฑ์ในเวลานั้น พอโตมาเราก็ไม่ต้องไปทำแบบนั้นอีกแล้ว ไม่มีใครมาให้คะแนนกับสิ่งที่เราทำแล้ว เราสามารถวาดรูปได้อย่างเต็มที่"

    ทุกวันนี้ เขาไม่จำเป็นต้องซ่อนสิ่งที่ตัวเองชอบอีกต่อไป ขณะเดียวกัน ภาพวาดและเรื่องราวของเขายังช่วงเติมเต็มกำลังใจและสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ที่พบเห็นอีกด้วย

    ..อย่างน้อยก็เป็นฉันคนหนึ่งที่ยังยิ้มไม่หยุดมาจนถึงตอนนี้



ขอขอบคุณสถานที่สวยๆ จาก Hint Coffee

นิษณาต นิลทองคำ

กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา

จรูญรัฐ วิธูสุวรรณ

อดีตช่างภาพนิตยสาร มาเปิดบริษัทของตัวเองได้สักพัก ยังสนุกกับงานถ่ายภาพอยู่เสมอ โดยเฉพาะการถ่ายภาพผู้คน ตอนว่างจะชอบหนีไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แก้เบื่อด้วยการถ่ายสถานที่และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ