MOHo studio : สตูดิโอออกแบบที่คลั่งไคล้กระดาษและมีแมวเป็นทีมงาน

    MOHo studio เป็นสตูดิโอออกแบบกระดาษที่ก่อตั้งโดย ตูน-ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล อดีตสถาปนิกหนุ่มผู้หลงใหลกระดาษเข้าขั้น เขาเติบโตมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ จึงได้เข้าไปคลุกคลีกับการทำงานอยู่ตลอด พอเข้าเรียนสถาปัตยกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย ก็เหมือนมีกระดาษเคียงข้าง ทั้งต้องใช้ทำโมเดล ใช้พรีเซนต์งาน ทำให้ซึมซับกับสัมผัสของกระดาษอย่างที่เขาเองก็รู้ตัว

    MOHo studio มีอายุ 6 ปี ในแง่ของธุรกิจยังเป็นการเดินทางไม่ยาวนัก แต่ในแง่การเปลี่ยนแปลง พวกเขาเปลี่ยนภาพจำของกระดาษ จากที่ทุกคนคิดว่ากระดาษทำได้เพียงงานสิ่งพิมพ์ มาเป็นหลายสิ่งที่ไม่คิดว่ากระดาษก็ทำได้ ทั้งงานโครงสร้างกระดาษ (structure) งานบรรจุภัณฑ์ (packaging design) งานออกแบบบูธแสดงสินค้าที่เปลี่ยนการทำโครงสร้างที่ใช้วัสดุจากไม้หรือเหล็กมาเป็นกระดาษทั้งหมด งานศิลปะ (installation art) ที่ใช้เทคนิคการพับกระดาษโอริกามิมาสร้างสรรค์ชิ้นงาน ตั้งแต่ตัวเล็กๆ จนตัวสูงหลายเมตร ไม่เพียงเท่านั้น กระบวนการสร้างสรรค์งานกระดาษของ MOHo studio ยังใส่ใจสิ่งแวดล้อมแบบละเอียดทุกเม็ด นอกจากจะถอดเก็บ แล้วกลับมาประกอบใหม่เพื่อใช้ได้อีกหลายครั้ง กระดาษส่วนไหนที่พังเกินเยียวยาจะถูกนำไปรีไซเคิลที่โรงงานกระดาษ แล้วกลับมาเป็นกระดาษอีกครั้ง เรียกว่าวัสดุกระดาษที่ผ่านมือ MOHo studio จะถูกนำไปรีไซเคิล 100% 
    MOHo studio พากระดาษก้าวทะยานไปไกล... ไม่ว่าอะไรกระดาษก็ทำได้
ผลงาน ZOORIGAMI ที่เลือกใช้กระดาษรีไซเคิล มาพับกระดาษแบบโอริกามิ จัดแสดงที่ Thailand Creative & Design Center (TCDC)
รักกระดาษแบบ MOHo
    "จริงๆ อ่านว่า 'โม สตูดิโอ' ครับ แต่คนส่วนใหญ่รู้จักว่า 'โมโห สตูดิโอ' แต่ผมรู้สึกว่าน่ารักดี ถูกจริตกับคนไทย มากกว่า คำว่า MOHo มาจากภาษาสเปน แปลว่าแม่พิมพ์ ตอนที่ผมเปิดสตูดิโอ ผมคิดว่าอยากเป็นต้นแบบแนวคิดการใช้วัสดุกระดาษ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม" ตูนเริ่มต้นเล่าถึงที่มาของชื่อสตูดิโอให้ฟัง 
    MOHo studio เป็นสตูดิโอออกแบบกระดาษขนาดเล็ก ที่มีทีมงานเพียง 5 คน กับทีมงานแมวอีก 6 ตัว ตูนจึงนิยามตัวเองว่าที่นี่เป็นสนามเด็กเล่นของคนชอบกระดาษ ตัวเขาชอบงานโครงสร้าง บางคนในทีมชอบงานพิมพ์ บางคนชอบพับกระดาษ บางคนชอบงานพับแบบโอริกามิ เมื่อเกิดการรวมตัวกัน พวกเขาก็ช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา 
    "น่าจะเป็นเหมือนโชคชะตาเหมือนกันนะ ช่วงที่ผมมาเป็นดีไซเนอร์ทำงานอีเว้นท์ออกแบบโครงสร้างนิทรรศการ ผมได้มองเห็นปัญหาหลายอย่างจากการทำงาน ทั้งในเรื่องโปรดักชั่นที่มีการใช้ต้นทุนสูงมาก ขณะที่ระยะเวลาในการออกบูธอีเว้นท์อยู่ที่ 4-5 วัน ก็ล้มแล้ว ผมเลยรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุที่มันถาวร หรือต้องใช้วัสดุที่สิ้นเปลืองมากในการโปรดักชั่น เลยคิดว่าทำไมเราไม่ใช้กระดาษมาทดแทนไม้หรือเหล็ก เราจึงเริ่มต้นออกแบบโครงสร้างกระดาษก่อน งานแรกที่เราทำเป็นงานอีเว้นต์บูทเล็กๆ ขนาด 3x3 เมตร เราใช้กระดาษทดแทนโครงสร้างไม้ทั้งหมด ตอนนั้นเราใช้กระดาษรังผึ้ง หลังจบงานเราก็มาดูเรื่องคุณภาพ โครงสร้าง การขนส่ง พอดูภาพรวมทั้งหมดใช้เงินต้นทุนเท่าไร เงินมันต่ำกว่าเราไปขึ้นโครงสร้างไม้เกือบ 50% ผมเลยคิดว่าน่าจะมีความเป็นไปได้กับธุรกิจนี้"
    แต่การเข้ามาจับธุรกิจการออกแบบกระดาษเลยนั่นไม่ง่าย ตูนบอกว่า ช่วง 3 ปีแรกนั้นเหงามาก สตูดิโอแทบไม่มีงานเลย
    "คนไม่เข้าใจกระดาษ ทำไมอยู่ๆ เอากระดาษมาทำโครงสร้าง สิ่งแรกที่เขาถามคือ แข็งแรงไหม กันน้ำได้ไหม ปัญหาพวกนี้มันเป็นคำถามพื้นฐาน คือกระดาษมันโดนน้ำไม่ได้ แล้วกระดาษแข็งแรงไหม ตามความเข้าใจกระดาษเป็นแค่กล่อง ฉีกขาดได้ง่าย ผมก็พยายามหาเทคนิคว่าทำยังไงมันจะแข็งแรงขึ้น ทดลองมาเรื่อยๆ จนพบว่ามันแข็งแรง รับน้ำหนัก 40-50 กิโลกรัมจากแนวบนได้ ผมใช้เวลาเกือบ 3 ปี กว่าคนจะยอมรับว่างานพวกนี้ก็ใช้งานกระดาษได้นะ" 
    หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ MOHo studio เป็นที่ยอมรับ คือความเข้าใจในแก่นแท้ของกระดาษ ตูนเดินทางไปศึกษาดูงานกับอาจารย์และสถาปนิกที่เชี่ยวชาญกระดาษที่ประเทศญี่ปุ่น "ก่อนหน้านั้น ผมคิดว่าเราเป็นดีไซเนอร์ออกแบบกระดาษทำให้สวยงามก็พอ สุดท้ายผมรู้ว่าผมยังไม่เข้าถึงแก่นแท้ของกระดาษ ก็เลยไปหาคนสอนงานพับกระดาษที่ญี่ปุ่น คือ อาจารย์ Jun Mitani (อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการพับโอริกามิ) และ Shigeru Ban (สถาปนิกชื่อดังผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมการใช้วัสดุและการออกแบบเพื่อสังคม) พอพูดคุยก็ได้ความรู้ว่า ผมต้องรู้จักวัสดุที่นำมาใช้ให้มากที่สุด คุณใช้กระดาษมาพับ ก็ต้องรู้ว่ากระดาษผลิตอย่างไร ใช้ต้นไม้อะไร ต้นยูคาลิปตัสเป็นต้นแบบไหน ใช้เยื่อกระดาษอะไร เราต้องรู้ให้เยอะที่สุด พอรู้เยอะที่สุด กลับมาเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง เขาก็เข้าใจคล้อยตามไปกับเราด้วย จากนั้นจึงเริ่มมีงาน เป็นโอกาสที่เราได้พัฒนางานต่อ ซึ่งจาก 3 ปีแรกที่เหงา พอเจอแก่นแท้เราถึงรอด"
รักษ์สิ่งแวดล้อมแบบ MOHo
    นอกจาก MOHo studio จะขึ้นชื่อว่าเป็นสตูดิโอกระดาษที่น่าสนใจแล้ว ที่นี่ยังขึ้นชื่อเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย "ลูกค้าของ MOHo studio มาจากการบอกต่อ ตัวผมเองก็เป็นสตูดิโอเล็กๆ ไม่ได้มีเซลล์ขายงาน ผมก็คิดว่าการทำโปรเจกต์ดีๆ สักงาน เราไปบอกต่อได้ ซึ่งผมก็เผยแพร่แนวคิดสิ่งแวดล้อม การใช้กระดาษ การใช้ทรัพยากร การใช้พลังงาน ให้คนรู้จักมากขึ้น บางคนก็รู้จักผมในแง่ของคนที่อินเรื่องธรรมชาติ มากกว่ากระดาษด้วยนะ" 
MOHo studio จับมือกับองค์กรต่างๆ เช่น ทำพวงหรีดกระดาษกับกระทรวงวัฒนธรรม ทำโครงการ CSR กับมาบุญครอง เซ็นเตอร์ รวมถึงลงพื้นที่ชุมชนปลูกข้าวกับมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนากระดาษฟางข้าวนำมาผลิตภาชนะใส่อาหาร 
    "เมื่อเราเข้าใจพลังงาน เราก็พบว่าหลังจบนิทรรศการเกิดขยะเยอะมาก เราจึงคิดถึงสิ่งแวดล้อมค่อนข้างเยอะ อย่างพวงหรีดกระดาษที่ทำกับกระทรวงวัฒนธรรม ตอนนี้ทำม็อกอัพมา 7-8 ตัว เพราะการผลิตกระดาษหนึ่งครั้ง ผมไม่คิดแค่ว่าดีไซน์ต้องดี แต่ผมจะดูด้วยว่าในแง่การผลิต เครื่องพิมพ์สามารถทำได้ไหม แล้วจะทำยังไงให้ผลิตด้วยจำนวนชิ้นที่น้อยที่สุดหรือพิมพ์งานน้อยที่สุด รวมถึงพอมีโอกาสทำ CSR กับองค์กรใหญ่ ก็เข้าไปตีโจทย์ให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร สมมติระหว่างปลูกต้นไม้หมื่นต้น เลือกใช้วัสดุรักษาธรรมชาติ หรือลดการใช้พลังงานให้น้อยลง ผมพบว่าเริ่มต้นจากสิ่งรอบตัวนั้นดีที่สุด ไม่ต้องเริ่มจากการผลิตสิ่งใหม่เลย ผมจึงเอาแนวคิดนี้มาใช้ในการออกแบบ"
    งานออกแบบหนึ่งที่ทำให้ MOHo studio เป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็คือโมเดลตั้งโต๊ะรูปช้าง ให้กับมาบุญครอง เซ็นเตอร์ โดยหยิบเอากระดาษในสำนักงานที่ใช้แล้วมาออกแบบเป็นสินค้า "เราใช้กระดาษจากสำนักงาน แต่มันเป็นกระดาษสีขาวที่มีแป้งเยอะ เพราะฉะนั้นเยื่อที่เกิดขึ้น มันเอามาทำงานต่อได้ยาก พอเราเริ่มรู้ปัญหา ก็ทดลองว่าต้องใส่แป้งเปียกเพิ่มในอัตราส่วนเท่าไร ต้องคำนวณเหมือนนักวิทยาศาสตร์เลย ทดลองไปถึงขั้นที่ 20 กว่าถึงได้ ช่วงนั้นผสมกระดาษกันสนุกสนานมากได้มาเป็นโมเดลช้างกระดาษ ตอนแรกผมไม่รู้ว่าเหมาะกับอะไร จนรู้สึกว่าเหมาะกับศาลพระภูมิ (หัวเราะ) เพราะทางมาบุญครองบอกว่า อยากทำให้เป็นฟอร์มที่ต่างชาติซื้อกลับบ้านได้" 
    ความใส่ใจสิ่งแวดล้อม อยู่ทุกอณูในสำนักงานเล็กๆ ของ MOHo studio  หากมองตามโต๊ะ เราจะเห็นโมเดลกระดาษเล็กๆ มากมาย ซึ่งของเหล่านี้เป็นขนาดย่อส่วนของชิ้นงานจริง ซึ่งตูนบอกว่า พวกเขาใส่ใจกับการพัฒนางานตั้งแต่เริ่มต้น เพราะถ้าทำงานผิดพลาดเยอะ ก็จะยิ่งเสียเวลา สูญเสียพลังงาน  พวกเขาจึงเริ่มต้นทำขั้นตอนแรกอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้เกิดความผิดพลาดตอนผลิตชิ้นงานจริงน้อยที่สุด  
    "เมื่อก่อนเราลองพับแบบลองผิดลองถูก ใช้เวลาเป็นวันเลย ตอนหลังเราเริ่มต้นให้ละเอียดตั้งแต่แรกดีกว่า แล้วพอเป็นงานไฟนอลจะง่ายขึ้น ผมจึงให้ความสำคัญกับ design develop ค่อนข้างจะเยอะครับ" ตูนชี้ให้ดูโมเดลของน้องแมวตัวหนึ่ง ในขนาด 1 ต่อ 10 จากขนาดจริงซึ่งสูงประมาณ 3.8 เมตร น้องแมวตัวนี้เป็นผลงานที่จะจัดแสดงในงาน Bangkok Design Week (จัดขึ้นวันที่ 8-16 พฤษภาคม 2564) โดยงานชิ้นนี้มีความเก๋ตรงที่เขาพัฒนาวัสดุอื่นมาใช้พับแทนกระดาษ 
    "ผมพยายามตีโจทย์ของงานเรื่อง 'ปรับเพื่อปลอบ' ผมมองว่าช่วงโควิด-19 ทุกคนต้องปรับตัวกันหมดไม่งั้นก็ไม่รอด ผมก็ปรับตัว เลยทดลองเอาผ้าที่เหลือจากอุตสาหกรรมรถยนต์ ส่วนที่เป็นผ้าบุผนังท้ายรถมาลองใช้ เราก็ไปคัดเศษเล็กเศษน้อยมาใช้เป็นงานพับดู ลองพับ ลองตัด ปรากฏว่าทำได้ ยังไม่มีคนทำ ก็เป็นงานที่ใหม่ รู้สึกว่าเราสามารถพัฒนาวัสดุตัวหนึ่งที่เป็นผ้านะ และสามารถกันน้ำได้ด้วย ส่วนดีไซน์ที่ทำเป็นรูปแมว ผมมองว่าแมวเป็นเหมือนสื่อกลาง เป็นสัตว์ที่คนเห็นอยู่ทั่วไป เขามีความต้อนรับทุกคน เวลาเขาเดินมามองเรา ดมเรา หรือร้องเมี๊ยวใส่เรา รู้สึกว่ามันน่าจะช่วยปลอบจิตใจคนได้" อยู่ๆ แมวตัวกลมที่นอนอยู่บนโต๊ะก็ส่งเสียงออกมา "กรนครับ" เขาหัวเราะ "แปลว่าเขากำลังรู้สึกดี"
โมเดลแมว Cat theraphy ในขนาด 1 ต่อ 10 ที่จะจัดแสดงในงาน Bangkok Design Week
    เมื่อมองไปรอบๆ ตัว เราจะเห็นกระดาษเยอะมาก เราจึงสงสัยว่าหลังจบงานนิทรรศการ อีเว้นต์ วัสดุกระดาษของ MOHo studio หายไปไหน ซึ่งเขาก็ยืนยันว่าไม่เคยถูกเอาไปทิ้งอย่างไม่ถูกต้อง 
    "มี 2 ประเภท คือ หลังจากที่จบงานแล้ว จะมีหน่วยงานเรื่องสิ่งแวดล้อม มาติดต่อรับงานผมไป งานของผมไม่เคยเอาไปทิ้ง อีกประเภทจะเป็นงานโครงสร้างกระดาษที่ถอดประกอบได้ ลูกค้าจะนำกลับไปแล้วไปประกอบใหม่อีกครั้ง ส่วนไหนที่พังเกินเยียวยา มันสามารถนำไปรีไซเคิลที่โรงงานกระดาษได้ ซึ่งโรงงานที่ผลิตกระดาษก็เป็นโรงงานที่รีไซเคิลด้วย เพราะว่ากระดาษเกิดขึ้นจากเยื่อกระดาษกับแป้ง สองสิ่งนี้ผสมกันก็จะได้กระดาษเป็นแผ่น"  
    การที่กระดาษสามารถรีไซเคิลได้ทำให้กระดาษเป็นวัสดุที่ไม่มีวันตาย "ก่อนจะมาเป็นกระดาษใช้พลังงานเยอะนะ ถ้าวัดด้วยคาร์บอนฟุตพริ้นต์ ซึ่งเป็นค่าพลังงานที่เอาไว้วัดว่าเราใช้พลังงานวัสดุนี้มากน้อยแค่ไหน จะพบว่าการนับกระดาษต้องนับตั้งแต่รดน้ำเลยว่าใช้น้ำกี่ลิตร กี่ตัน กว่าต้นไม้ 1 ต้นจะโต ทำให้คาร์บอนฟุตพริ้นต์ในกระดาษเยอะมาก ถ้ามามองในแง่โปรดักชั่นกระดาษมันกลับมารีไซเคิลได้ตลอด แม้การรีไซเคิลจะทำให้เยื่อกระดาษน้อยลงก็ยังสามารถเติมแป้งเข้าไปใหม่ได้"
    "ในฐานะของนักออกแบบ ผมมองว่าเราเป็นคนแก้ปัญหา อาจไม่ได้แก้ทั้งหมด แต่แก้เรื่องแนวคิด การปฏิบัติ หรือการใช้ ผมเลยพยายามสอดแทรกเรื่องพวกนี้ไปในงานของ MOHo เราก็พยายามอธิบายให้ตัวลูกค้า และสังคมฟังด้วย แต่ก็ยากอยู่นะ เพราะว่าเราใช้ชีวิตปกติมาทุกวัน วันหนึ่งมาเปลี่ยนแปลง คงเป็นไปได้ยาก แต่ผมว่ามีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ มีหลายแบรนด์ หลายบรรจุภัณฑ์ หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ ก็หันมาดูสิ่งแวดล้อมกันแล้ว"
บ้านแมวจากงานกระดาษ

    อย่างที่เราบอกไปข้างต้นว่า MOHo studio ยังมีทีมงานเป็นแมวตัวกลมอีก 6 ตัว คือ พี่บัว ป้าฝอยทอง น้องข้าวกล้อง น้องข้าวตัง น้องข้าวพอง และน้องข้าวเหนียวดำ ทำให้เมื่อปีที่แล้ว พวกเขาช่วยกันพัฒนาสินค้าบ้านแมวภายใต้แบรนด์ Polygami (โพลีกามิ)

    "ช่วงที่ออฟฟิศมีกระดาษเยอะๆ ผมสังเกตว่าแมวชอบไปนอนในกล่อง พอเราถ่ายรูปลงโซเชียลมันดูไม่ดี เลยอยากหาที่นอนให้มันดูเท่ๆ พอทำออกมาเผยแพร่ได้รับผลตอบรับที่ดีนะ จึงลองพัฒนาบ้านแมวมาเรื่อยๆ ประกอบช่วงนั้นไม่มีงาน ซึ่งผมมีแนวคิดว่า ถ้าไม่มีงาน ไม่ได้หมายถึงมันแย่นะ แต่มันเป็นช่วงที่เรามีเวลาได้กลับมานั่งคิดพิจารณาตัวเองว่าต้องแก้ไขอะไรอีก ถ้าเราไม่ได้ทำงานให้ลูกค้าแล้ว เราก็ต้องทำงานให้ตัวเอง ผมก็คอยสังเกตว่าแมวชอบอะไร ไปศึกษาพฤติกรรมแมว และศึกษาพฤติกรรมผู้ซื้อ" 

    ตูนชี้ให้ดูบ้านแมวดีไซน์ต่างๆ หนึ่งในนั้นคือผลงานชื่อ HUS ที่ออกแบบร่วมกันกับ Many go Round (สตูดิโอที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้) เพื่อให้คนและสัตว์เลี้ยงสามารถใช้ร่วมกันได้ ซึ่งขณะที่คุยกันมีแมวตัวหนึ่งกำลังนอนหลับปุ๋ยอยู่ โดยพวกเขาเลือกใช้วัสดุที่เหลือจากผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็น ECO สิ่งแวดล้อม ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้รับคัดเลือกไปออกงาน Maison craft 2020 สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีดีไซน์โดดเด่นที่ประเทศฝรั่งเศส แต่เมื่อติดสถานการณ์โควิด-19 จึงปรับงานเป็นรูปแบบออนไลน์แทน

    "แมวที่นี่ก็เหมือนพนักงานแหละ เพราะผมต้องทดลองดูว่า เขาจะนอนจริงไหม อันนี้พังง่ายไหม อันนี้รับน้ำหนักได้หรือเปล่า ผมดูว่าพื้นที่แบบไหนที่แมวอยากนอน เขามีสัญชาตญาณของสัตว์ป่า เราต้องออกแบบพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา หรือพื้นที่ที่เขานอนแล้วรู้สึกอบอุ่น ไม่หนาว เป็นพื้นที่ที่เขาระวังภัยจากรอบด้านได้ เวลาที่เขาตื่นมา เขาสามารถสังเกตเห็นคน นั่นเป็นความรู้สึกที่ปลอดภัยนะ เราก็เอาความรู้นี้มาออกแบบผลิตภัณฑ์ของเราครับ"

บ้านแมวภายใต้แบรนด์ Polygami ที่หยิบวัสดุ ECO มาใช้ ผ่านเทคนิคการพับแบบโอริกามิ

    ในปีนี้ Polygami กำลังพัฒนาสินค้าชิ้นใหม่เป็นของตกแต่งบ้านที่ทำจากกระดาษ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาดีไซน์ร่วมกับศิลปิน กนกกร ฉิมทิน (kanokkornchi) รวมทั้งกำลังมีนิทรรศการ EXPENSIVE LOVE รักผ่อนส่ง ที่ LHONG 1919 โดยงานนี้ได้ทำงานร่วมกับศิลปิน วรัญญู​ ช่างประดิษฐ์ (ลอกลาย) ซึ่งทาง MOHo เป็นทีมทำประติมากรรมกระดาษ ส่วนศิลปินเป็นคนเพ้นต์ลวดลาย

งานศิลปะที่นำประติมากรรมกระดาษ มาเพนท์ด้วยฝีแปรงของศิลปิน วรัญญู ช่างประดิษฐ์ (ลอกลาย)
    เราหยุดมองโมเดลหมาตัวเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ ใครจะรู้ว่าโมเดลตัวนี้เกิดจากการพับกระดาษ 300 มุมพับ ซึ่งพวกเขาต้องใช้เวลาในการนั่งพับด้วยมือเกือบวัน จะว่าไปแล้วก็เป็นงานละเมียดละไม ที่ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมากจนกว่าจะทำเสร็จ 
    "งานพับกระดาษเป็นงานศิลปะที่เหมือนเราวาดรูปชิ้นหนึ่ง พอเราทำเสร็จ ผมชอบความรู้สึกนี้ มันออกมาสวยแฮะ ทุกวันนี้รู้สึกดีกับกระดาษ ใครถามว่าทำอะไรก็จะบอกว่าพับกระดาษขาย เราพับกระดาษขายก็อยู่ได้นะ สมัยก่อนเปิดสตูดิโอ ไม่มีใครยอมรับเลย คุณจะทำอะไร สื่อสิ่งพิมพ์เหรอ ทำกราฟิกเหรอ โรงพิมพ์ก็ด่าผม ว่าทำแบบนี้ทำไม เสียเวลา ทำออกมาแค่ชิ้นเดียว ใช้งานเดียวด้วย แต่ปัจจุบันถ้ามองในแง่ธุรกิจ ลูกค้าไม่ได้ต้องการมูลค่าเยอะ แต่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ คุณภาพในที่นี้ ไม่ได้เกิดจากตัววัสดุหรืองานพิมพ์ แต่มันมาจากไอเดียที่อยู่ข้างใน ถ้าไอเดียตรงนั้นสามามรถตอบโจทย์ และช่วยให้เขาขายสินค้าได้เยอะ น่าจะเป็นทางของผมที่ทำธุรกิจตอนนี้" 
    ตูนปิดท้ายว่า หากใครสนใจอยากร่วมงานกับ MOHo studio ขอมีเพียง 2 อย่าง คือ รักกระดาษ และไม่แพ้ขนแมว
    เมี๊ยววว.

กมลพร สุนทรสีมะ

อดีตเติบโตมากับกองบรรณาธิการนิตยสารสำหรับเด็กเเละครอบครัว เชื่อมั่นในพลังมหัศจรรย์ของเด็กๆ ชอบดอกไม้ พืชใบเขียว มีหอศิลป์เป็นที่ชุบใจ ติดชาเย็นหวานน้อย พอๆ กับกลิ่นกระดาษ อนาคตอยากเลี้ยงลาบาดอร์ สีน้ำตาล

จรูญรัฐ วิธูสุวรรณ

อดีตช่างภาพนิตยสาร มาเปิดบริษัทของตัวเองได้สักพัก ยังสนุกกับงานถ่ายภาพอยู่เสมอ โดยเฉพาะการถ่ายภาพผู้คน ตอนว่างจะชอบหนีไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แก้เบื่อด้วยการถ่ายสถานที่และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ