Silence is Violence สุ้มเสียงที่จะขยายขอบเขตของกวี โดย ตุล ไวฑูรเกียรติ

"หากพระผู้เป็นเจ้าบัญชาจักรวาลผ่านโซเชียลมีเดีย คำสั่งสอนและกฎสวรรค์ อาจเข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่า  ตรงกว่า มีประสิทธิภาพกว่า และการเป็นศาสนิกก็ทำได้ง่ายเพียงแค่กด follow..."
ตอนต้นของบทกวีลำดับที่ 7 'Digital Divinity' จากอัลบั้ม Silence is Violence
    จังหวะจะโคนของถ้อยคำที่มีเสียงประกอบคอยสร้างบรรยากาศเคล้าคลอกันไป นำพาผู้ฟังให้หันมาจมจ่อมอยู่กับบทกวี ที่เล่นต่อเนื่องไปทีละบทผ่านช่องทางมิวสิกสตรีมมิงจนครบ 16 บท นับเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ของการใช้หูฟังปิดกั้นตัวเองออกจากสรรพสิ่งรอบกาย เพราะในขณะที่บทกวีดึงเรากลับเข้ามาอยู่ในโลกส่วนตัว เพื่อทบทวนความคิดความรู้สึกของตัวเองเมื่อได้ฟังนั้น ประเด็นและมุมมองที่แผงอยู่ในแต่ละคำกลับเชื่อมโยงเราเข้ากับความเป็นไปของผู้คนและยุคสมัยนี้ได้อย่างน่าประหลาด
    เราถอดหูฟังออกเพื่อกลับมาเคลื่อนไหวไปในจังหวะเดียวกับโลกภายนอก แล้วพบกับ ตุล ไวฑูรเกียรติ เพื่อพูดคุยกับเขาถึงความคิดในการทำอัลบั้ม Silence is Violence ที่ไม่มีดนตรีและเนื้อร้อง แต่บรรจุเสียงการอ่านบทกวีของเขา ประกอบกับซาวน์ดีไซน์จากเพื่อนที่ลองชักชวนกันมาร่วมสนุกในครั้งนี้ ได้แก่ ดีเจและซาวนด์ดีไซเนอร์ มาร์โมเซ็ทส์ (Marmosets) ชาลีจากวง ดิคอนเน็กซ์เตอร์ (DCNXTR) ที่มาในนาม ดิคอนเน็กซ์ (DCNXXX) และศิลปินอิเล็กทรอนิก โน้ต ย๊าค แล็บ (Yaak Lab)
    ตุลเล่าว่าความคิดของการทำอัลบั้มนี้เริ่มมาจาก การนำบทกวีจากหน้ากระดาษมานำเสนอในนิทรรศการศิลปะสื่อผสม "X" the Xhibition : slow-motion x Tul Waitoonkiat ซึ่งจัดแสดงที่ Woof Pack เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา "ความคิดที่อยากรวบรวมบทกวีมาทำเป็นช่วงจบนิทรรศการ ก่อนเหตุการณ์โควิดประมาณเดือนเดียวเองครับ พอจบตรงนั้นผมสนุกกับการที่เรานำบทกวีมาเปลี่ยนสถานภาพของมัน จากการอ่านมาเสพด้วยการฟัง เมื่อก่อนบทกวีเป็นเรื่องที่ต้องเสพคนเดียว พอเราเอาไปไว้ในแกลเลอรี่เพื่อให้คนมาเสพพร้อมๆ กันหลายคน ก็เป็นการเล่นกับการเปลี่ยนพื้นที่ของมัน แล้วมันก็สนุกมากด้วย ไอเดียมันเลยเกิดขึ้นจากตรงนั้นว่า เราจะทลายกำแพงของบทกวีหรือขยายขอบเขตของมันยังไง 
    "ทีนี้ผมก็คิดว่า เอ๊ะ สังคมของคนรุ่นใหม่ตอนนี้เขาเสพสตรีมมิงกันนะ แล้วทำไมเราจะเอาบทกวีไปไว้ในนั้นไม่ได้ล่ะ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นไปได้ เราลองเปลี่ยนอรรถรสในการเสพบทกวีกันไหม เพราะเวลาเราอ่านบทกวีเอง เราไม่ได้อ่านด้วยจังหวะเท่ากับที่กวีเขาเขียนหรอก เราจะรู้ได้ยังไงว่าตอนเขียนเขาเขียนช้าหรือเร็ว หนักหรือเบา ใช่ไหมครับ ดังนั้นการทำแบบนี้มันกำหนดจังหวะของบทกวีได้ ด้วยจังหวะของตัวผู้เขียนเอง"
    ซึ่งหากติดตามเขาอยู่จะรู้ว่า ตุลเป็นคนหนึ่งซึ่งนำบทกวีมาแสดงอยู่บ่อยครั้ง เช่น การอ่านบทกวีประกอบซาวนด์ดีไซน์กับย๊าค แล็บ ที่งาน Lit Fest ครั้งที่ 2 ร่วมอ่านกวีในคอนเสิร์ตออนไลน์เต็มรูปแบบของวง มหาจำเริญ ไปอ่านกวีพร้อมกับการสาดสีสร้างสรรค์งานศิลปะแบบสดๆ โดย ป่าน ปัณยวีร์ ที่ Bluebird Jazz Bar และการแสดงบทกวีร่วมกับดนตรีจากคณะมงคลควัน ที่ สตูดิโอลำ เป็นต้น แล้วการรับชมและรับฟังบทกวีรูปแบบนี้ทำให้ได้ยินน้ำเสียงของกวี ซึ่งต่างจากเสียงในความคิดเมื่ออ่านด้วยตัวเอง 
    "บางทีบทกวีบางบทดูแร้งแรง แต่พอเราฟังกวีอ่านสดๆ เอ้า มันนุ่มนี่ หรือเราคิดว่ากวีบทนี้มันดูอ่อน แต่พอเราได้ยินกวีอ่าน มันหนักแน่น ดังนั้นสิ่งนี้มันจะต่าง อรรถรสมันต่างกัน และการแสดงบทกวีแบบสด ถ้าใครเคยไปดูเวลาผมแสดง มันสนุกตรงที่ว่า บทเดียวกัน ถ้าเราอ่านเปล่าๆ เราจะได้ยินเสียงแอมเบียนต์ห้อง ได้ยินเสียงแอร์ ได้ยินเสียงคนคุยกัน ถ้าเราอ่านกับนักกีตาร์ นักซินธิไซเซอร์ ก็จะเป็นอีกอารมณ์หนึ่งครับ ซึ่งเราจะพยายามนำบทกวีไปยู่ตามการแสดงต่างๆ เพราะผมพยายามขยายขอบเขตของมันออกไป เพื่อสักวันหนึ่งบทกวีมันจะไปอยู่ในเทศกาลดนตรีได้ไหม เพราะในอดีตยุค 60 ถ้าใครดูเวลาบ๊อบ ดีแลน (Bob Dylan) ทัวร์คอนเสิร์ตกัน เขาจะมี อัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsberg) มาอ่านกวีเปิดให้ ซึ่งในยุคนั้นบทกวีกับดนตรีมันเป็นเพื่อนกัน"
    สำหรับ Silence is Violence เป็นอัลบั้มรวบรวมผลงานที่ตุลเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2562 - 2563 โดยนำบทหนึ่งจากหนังสือ ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ ที่ชื่อว่า เช้าแล้ว ซึ่งเป็นบทเก่าที่เขาชอบส่วนตัว และเคยแสดงอยู่บ่อยครั้ง มาบรรจุไว้ในอัลบั้มนี้ด้วย "มันเป็นการรวบรวมชีวิตของผมในช่วงนั้นไว้ครับ อย่างบท นั่งๆ นอนๆ ก็เป็นชีวิตของเราที่ไปไหนไม่ได้ เป็นการระบายออกถึงสิ่งรอบตัวที่เจอ ตอนนั้นอยู่บ้านแล้วผมลองอ่านบทกวีสดออกเฟซบุ๊คเพจ บทกวีของ ตุล ไวฑูรเกียรติ ต้องใช้ไอแพดตั้ง ดูกล้องหน้า กดอัด ก็สนุกดี เขินๆ แล้วผมบันทึกมาสเตอริ่งเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม ซึ่งจริงๆ ถ้าอัลบั้มออกช้ากว่านี้สักสองเดือน มันอาจจะมีเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตอนนี้ตามมาอีกก็ได้"
    การทำงานครั้งนี้ได้ อ้วน-อาจอำพล จันทวุฒิ ซาวนด์เอ็นจิเนียร์ที่ทำงานกับวงอพาร์ตเมนต์คุณป้าแทบทุกชุดมาร่วมงาน โดยทำการบันทึกเสียงการอ่านของตุลที่ กิมเล้ง ออร์ดิโอ และ สตูดิโอ 28 ให้เสร็จก่อน แล้วจึงนำบทกวีในรูปแบบเสียงนั้นส่งไปให้เพื่อนที่จะมาร่วมทำซาวนด์ดีไซน์ฟัง ว่าพวกเขาจะเลือกสร้างสรรค์เสียงให้กับกวีบทไหนบ้าง
    เขาย้อนนึกไปถึงอารมณ์ตอนเขียนกับอารมณ์ตอนอ่านที่แตกต่างกัน เมื่อถึงเวลาอ่าน ภาวะอารมณ์ขณะนั้นมีผลต่อเสียงที่เปล่งออกมา ไม่ว่าจะเป็นความเมื่อยล้า ความเครียด หรือความหิว อาจส่งผลให้เสียงทุ้ม เสียงบาง แต่เขาไม่ต้องการใส่อารมณ์ขณะอ่าน เพื่อให้บทกวีเป็นพื้นที่เปิดสำหรับผู้ฟังจริงๆ "เราไม่ใช่นักแสดงที่มาใส่อารมณ์ เพลงเวลาเราร้องเรายังใส่อารมณ์มากกว่านะครับ เพลงมันถูกบังคับด้วยจังหวะ ด้วยทางคอร์ด เช่น เพลงเศร้าเล่นยังไงก็ต้องเป็นเพลงเศร้า จะสนุกเป็นไปไม่ได้ แต่บทกวี ลองดูว่าเราอ่านในแบบที่เราไม่ได้บังคับอารมณ์มาก แค่ลองเปลี่ยนเพลงแบ็คกราวน์ มู้ดก็เปลี่ยนแล้ว ซึ่งอารมณ์จริงๆ ผมอยากให้มันอยู่ในเรื่องคอนเทนต์ของมัน มากกว่าที่ผมจะใส่อารมณ์ไปมากๆ จนเป็นการบังคับอารมณ์ผู้ฟังเกินไปครับ"
    ถึงกระนั้นตุลยังบอกว่าความตั้งใจแรกของเขามีความสุดโต่งกว่านี้ คือเป็นการอ่านกวีแบบไม่มีเสียงอะไรอื่นนอกจากเสียงของเขา และคิดว่าสักวันในอนาคตจะทำให้ถึงตรงนั้นให้ได้ แต่ด้วยพื้นฐานที่ทำงานดนตรี จึงคิดถึงเพื่อนๆ ที่เคยทำการแสดงด้วยกัน จึงเชิญชวนแต่ละคนให้มาร่วมสนุกด้วย
    "ผมให้อิสระเขาในการทำซาวนด์ดีไซน์ อย่างคุยกับคุณมาร์โมเซ็ทส์ ผมก็บอกว่าเราไม่ได้ทำเพลงนะ มาร์โมเซ็ทส์บอกว่า 'ถ้าอย่างนั้นผมเรียกว่าทำซาวน์ดีไซน์แล้วกัน' ถึงมันจะเป็นดนตรี แต่มันไม่ได้ถูกเล่าในฐานะของดนตรี มันเป็นซาวด์ดีไซน์ มันเป็นบรรยากาศครับ มันก็สนุกมาก ส่วนแทร็กปิดท้ายอัลบั้ม ราตรีสวัสดิ์ราตรี เป็นบทเดียวในสตรีมมิงอัลบั้มที่อัดเป็นไลฟ์ ตอนที่ผมได้รับเชิญไปเล่นในงานคอนเสิร์ตของ Zweed n' Roll ครับ แล้วก็ทีมออร์เคสตราที่เป็นแบ็คอัพของ Zweed n' Roll บรรเลงไว้ไพเราะมาก ก็เลยขอยืมแทร็กนั้นมาใส่ในอัลบั้มนี้ด้วย"
    เมื่อสำเร็จออกมาเป็น Silence is Violence อัลบั้มบทกวีชุดแรกของประเทศไทย เขาก็คาดหวังว่าคนที่ไม่เคยรู้จักบทกวีเลย จะสามารถเพลิดเพลินกับการฟังผ่านสตรีมมิงได้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับการมีอยู่ของบทกวี ที่กว้างกว่าการตั้งอยู่บนชั้นเล็กๆ ในร้านหนังสือเท่านั้น
    "บทกวีเป็นวรรณกรรมที่เล็กที่สุดในทุกหมวดหมู่ของงานวรรณกรรม ถ้าเราอยู่ในร้านหนังสือเราจะเห็นชั้นหนังสือหมวดอื่นเยอะมาก แต่พื้นที่ของบทกวีมันเล็กไป ซึ่งถ้าเรามัวแต่นั่งรอ นั่งบ่นว่าทำไมคนไม่อ่านบทกวีบ้าง ผมว่ามันก็ไม่เกิด ผมคิดว่าผมจะเอาบทกวีเข้าไปหาผู้คนเอง ตอนนี้มิวสิกสตรีมมิงถือว่าเป็นช่องทางหนึ่ง ยูทูบเป็นช่องทางหนึ่ง ดังนั้นถ้าเราอยากจะให้ผู้คนเข้าใจเรา เราต้องไปหาในที่ที่เขาอยู่ครับ ซึ่งผมเชื่อว่าคงมีคนที่ไม่เคยได้ยินบทกวีเลย หันกลับมาฟังบ้างแหละ แล้วถ้าเกิดเขาชอบแบบนี้เขาอาจจะอยากกลับไปอ่านบทกวี มันก็เป็นไปได้ มันเป็นการทลายกำแพง มาหาเพื่อนใหม่ มาหาพันธมิตรใหม่ในสื่อต่างๆ"
สามัญใหม่ (Feat. Marmosets) ผลงานการกำกับวิดีโอโดย สุริเยศ วัณโณ ซึ่งตุลถึงกับเอ่ยปากว่าเป็นการตีความบทกวีของเขาได้ดี
    เนื้อหาในอัลบั้มบทกวีนี้มีความหลากหลาย ทั้งวิถีชีวิตในรูปแบบใหม่ ความสัมพันธ์ สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ แต่ในบรรยากาศโดยรวมแล้วเขาบอกว่าธีมของอัลบั้มชุดนี้เป็นสีขาว-ดำ ด้วยความอึมครึมของยุคสมัยที่เราทุกคนกำลังดำรงอยู่ขณะนี้ ที่เป็นยุคสมัยของความไม่รู้ ความคิดและสังคมจะเปลี่ยนไปทางไหน ทุกคนต่างเผชิญกับปัญหาที่ทำให้รู้สึกหลงทางไม่มากก็น้อย แล้วแต่ว่าใครจะหาทางออกได้
    "บทกวีเป็นเหมือนเสียงสะท้อนของยุคสมัย ถ้าใครได้ฟังก็พอจะเข้าใจว่าช่วงนี้เราต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง แล้วเราก็เป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ที่พูดแทนความรู้สึกของคนอีกหลายๆ คนที่จะต้องผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกันนะครับ"
    ตุลจึงใช้บทกวีของเขาใน Silence is Violence มาสื่อสารว่า การเก็บเงียบอาจจะซ่อนความรุนแรงไว้ภายใน รวมถึงบางครั้งความเงียบไม่ใช่ไม่มีเสียง แต่ว่าเสียงของคนเล็กๆ ที่อยากพูดความคิด ความฝัน ความต้องการของตัวเองนั้นส่งออกไปไม่ถึงไหนมากกว่า

    ในนามของกวี ตุล ไวฑูรเกียรติเลือกที่จะเปล่งถ้อยคำออกมา ผ่านช่องทางที่ผู้คนสามารถรับรู้และรับฟังได้อย่างอิสระ เพื่อเปิดวิถีทางของบทกวีไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ และไม่เงียบงัน ...เหมือนที่เคย

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วรรณวนัช บูรพาเดชะ

ที่ปรึกษาทีม happening shop, เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและหนังสือ 'ญี่ปุ่นอุ่นอุ่น', นักเขียน ช่างภาพโฟโต้บุ๊ก 'Nagasaki Light' และไกด์บุ๊ก 'Kagawa Memories' นอกจากภาพถ่ายและงานเขียน สิ่งที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือการนั่งสมาธิและการโปรยมุขไม่ขำ