ในการแพร่ระบาด สิ่งเราเรียนรู้ และสิ่งที่เราหลงลืม

    สำหรับโลกวรรณกรรม เปาโล จอร์ดาโน (Paolo Giordano) คือนักเขียนชื่อดังวัย 37 ปี ชาวอิตาลี ผู้ได้รับรางวัล Premio Strega ซึ่งเป็นรางวัลทางวรรณกรรมอันทรงเกียรติของอิตาลี เขาเป็นผู้แต่งหนังสือ The Solitude of Prime Numbers ที่ได้รับการแปลไปกว่า 30 ภาษาทั่วโลก รวมทั้งภาษาไทยที่ใช้ชื่อปกว่า เปลี่ยวดายบนดาวเหงา (แปลโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์) ถ้าคุณไม่เคยอ่านหนังสือของเขาที่จำหน่ายไปกว่าล้านเล่มทั่วโลกและถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่เป็นไร เอาเป็นว่ารู้ไว้ก่อนว่าเขาเป็นนักเขียนร่วมสมัยที่เก่งกาจมากๆ คนหนึ่งก็แล้วกัน และยังมีอีกสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ เปาโล จอร์ดาโน คือเขาไม่ได้เป็นนักเขียนที่เรียนมาทางสายอาร์ต นิเทศศาสตร์ หรืออักษรศาสตร์ หากแต่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ทฤษฎี ...คือเขาเป็นนักเขียนหนังสือระดับรางวัลและขายดี ที่เป็นด็อกเตอร์ด้านฟิสิกส์!
    ในช่วงที่ประเทศอิตาลีเริ่มจะสะบักสะบอมกับวิกฤตโควิด-19 เปาโล จอร์ดาโน ใช้เวลาอยู่ที่บ้าน เฝ้าดูเหตุการณ์ ขบคิด และเริ่มเขียนบันทึกตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บันทึกสั้นๆ จำนวน 27 บทกลายมาเป็นหนังสือเล่มเล็กชื่อ Nel Contagio และสำนักพิมพ์ อ่านอิตาลี ก็หยิบมาแปลให้นักอ่านชาวไทยได้อ่านกันอย่างรวดเร็ว ถือเป็นการทำงานแบบมืออาชีพที่น่าประทับใจตั้งแต่นักเขียนยันทีมงานสำนักพิมพ์

    ความน่าสนใจของ Nel Contagio ที่ถูกแปลเป็นหนังสือชื่อไทยว่า ในการแพร่ระบาด คือมันเป็นบันทึกแง่คิดที่อ่านไม่ยาก อ่านแล้วชวนให้คิดต่อ แม้แต่คนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือก็อาจจะค่อยๆ อ่านไปวันละบทสั้นๆ ได้อย่างสบายๆ คล้ายมีเพื่อนที่เนิร์ดๆ คนหนึ่งมาเล่าสิ่งที่เขาเห็น บอกสิ่งที่เขาคิด และชวนตั้งคำถามสำคัญๆ ที่เราควรจะตั้งคำถามจากวิกฤตระดับโลกครั้งนี้

    หลายบทหลายตอน จอร์ดาโนไม่ได้ตัดสินลงไปว่าใครทำผิดหรือถูก เขาเพียงเล่าเรื่องที่เขารู้ (แต่เราอาจไม่เคยรู้ หรือรู้แล้วหลงลืมไป) ให้เราฟัง ซึ่งทำให้เราอยากใคร่ครวญขบคิดอะไรบางอย่างสักพักหลังจากอ่านบทนั้นจบ บางบทเขาเขียนด้วยภาษาสบายๆ เหมือนโพสต์เฟสบุ๊กให้เพื่อนอ่าน แต่บางตอนเขาก็ใช้ภาษางดงามประกอบกับมุมมองแบบนักเขียนผู้ลึกซึ้ง 

ปกหนังสือ Nel contagio
    "เรากำลังอยู่ในช่วงคั่นเวลาซึ่งกิจวัตรประจำวันหยุดลงชั่วคราว จังหวะหยุดชะงัก คล้ายในเพลงบางเพลง เมื่อเสียงกลองเงียบไป แล้วเรารู้สึกเหมือนดนตรีแผ่กว้างออก โรงเรียนหยุด เครื่องบินบินผ่านท้องฟ้าเพียงไม่กี่ลำ เสียงฝีเท้าโดดเดี่ยวดังสะท้อนบนทางเดินในพิพิธภัณฑ์ ทุกหนแห่งเงียบกว่าปกติ" (จากบท อยู่กับความเป็นจริง)
    บางย่อหน้า นักเขียนหนุ่มก็ทำให้เราปรับมุมมองในการมองวิกฤตครั้งนี้ไปอย่างสิ้นเชิง 
    "ไวรัสเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยจำนวนมากเมื่อมีการทำลายสิ่งแวดล้อม เคียงข้างมากับแบคทีเรีย เชื้อรา และโพรโทซัว หากเราสามารถลดการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางสักเล็กน้อย ก็จะสังเกตเห็นว่า ไม่ใช่จุลชีพใหม่ๆ หรอกที่เสาะหาเรา แต่เป็นเราเองที่ไล่มันออกจากที่ซ่อน" (จากบท ทำนายได้ง่ายๆ )
    "การแพร่ระบาดเป็นความฉุกเฉินทางคณิตศาสตร์ก่อนเป็นความฉุกเฉินทางการแพทย์ เพราะแท้จริงแล้วคณิตศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์แห่งตัวเลข แต่เป็นศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ คณิตศาสตร์อธิบายความเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนระหว่างเอนทิตี้ที่แตกต่างกัน โดยพยายามลืมว่าเอนทิตี้เหล่านั้นคืออะไร แล้วสรุปออกมาเป็นตัวอักษร ฟังก์ชัน เวกเตอร์ จุด และระนาบ การแพร่ระบาดคือภาวะติดเชื้อของเครือข่ายความสัมพันธ์ของเรา" (จากบท ยามบ่ายของเด็กเนิร์ด) 
    มาถึงตอนนี้เราต้องยอมรับเต็มอกว่าการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เป็นภาวะวิกฤตระดับโลกที่เปลี่ยนแปลง โค่นล้ม และผลักดันอะไรหลายๆ อย่างในสังคม ในเศรษฐกิจ และกระทั่งในปัจเจก แต่ก็คงเป็นเหมือนกับวิกฤตอีกหลายๆ ครั้งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่มันจะต้องผ่านพ้น คำถามสำคัญที่เราอาจจะหลงลืมไปในเวลาไม่นานก็คือ เราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง หนังสือ ในการแพร่ระบาด เป็นตัวอย่างห้วงความคิดที่นักเขียน-นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งขบคิด ถกเถียงกับตัวเอง และพยายามถ่ายทอดออกมาในจังหวะเวลาที่เหตุการณ์ยังไม่เลือนหายไป เขามีคำตอบบ้าง มีคำถามฝากทิ้งไว้บ้าง ที่สำคัญคือมีแง่คิดมอบให้เราไว้ไม่น้อย 
    ในช่วงที่ผ่านมา บางคนได้อยู่บ้าน (แม้ไม่อยากจะอยู่) ในขณะที่บางคนไม่มีเวลาว่างจากการดิ้นรนเอาตัวให้รอด แต่อย่างที่เราก็น่าจะรู้กันดีแก่ใจ ว่าการได้ลองคิดใคร่ครวญเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะผ่านเข้ามาแบบครั้งเดียวในชีวิตครั้งนี้กันสักหน่อย มันก็ทำให้เรื่องร้ายๆ ที่เราได้ประสบร่วมกัน กลายเป็นบทเรียนชั้นดีที่จะมีประโยชน์กับตัวเราเอง และกับโลกของเราต่อไป 
    การได้อ่านหนังสือเล่มนี้อาจไม่ถึงขึ้นเปลี่ยนชีวิต - ความจริงคือชีวิตเราได้ถูกเปลี่ยนไปแล้วไม่มากก็น้อยเมื่อมี โควิด-19 - แต่ในเมื่อเหตุการณ์พาให้เราต้องเปลี่ยน อย่างน้อยที่สุด เราก็ควรหาเวลาเพื่อหยุด แล้วหันกลับไปมองหนทางขรุขระที่ทำให้เราสะดุด เพื่อที่จะได้ไม่ล้มแบบเดิม เพื่อที่จะเปลี่ยนวิธีการเดินทาง หรือเพื่อที่จะได้เปลี่ยนหนทาง ชั่วเวลาสั้นๆ ที่เราได้อ่านหนังสือเล่มนี้ชวนให้เราหันกลับไปมองแบบนั้น

วิภว์ บูรพาเดชะ

ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง