Last Letter สัมผัสของหน้ากระดาษที่ทั้งบาดและสมานแผลในใจ

    สรุปว่า ...ชอบเวอร์ชันหนังหรือหนังสือมากกว่ากัน?
    ในฐานะที่ได้ดู Last Letter ในรูปแบบภาพยนตร์มาแล้ว และได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ฉันขอหยิบยืมข้อความท่อนหนึ่งจาก Last Letter เวอร์ชันหนังสือมาตอบคำถามข้างต้นนี้สักหน่อยดีกว่า...
    "คนเรามักใช้คำว่าสรุปว่าจนติดปาก ทุกคนอยากได้ข้อมูลโดยสรุป แต่ข้อเท็จจริงมันอยู่ในข้อมูลที่ผ่านการสรุปมาแล้วด้วยหรือ หากนำสิ่งมีชีวิตมาตากแห้ง ทุบแล้วบดเป็นผง ทำเป็นอาหารเสริม แต่เราจะกล้าพูดหรือว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิต" 
ข้อความที่ฉันยกมาเป็นข้อความจาก หน้า 176 ในหนังสือ เป็นเสียงในหัวของ โอโตซากะ เคียวชิโร่ พระเอกของเรื่อง และเป็นเสียงที่สะท้อนความคิดของฉันในเรื่องการเปรียบเทียบ Last Letter เวอร์ชันหนังกับหนังสือด้วย ว่าง่ายๆ ก็คือ มันไม่ง่ายเท่าไหร่ที่จะสรุปว่าตัวเองชอบเวอร์ชันไหนมากกว่ากัน เพราะแต่ละเวอร์ชันก็มีความน่าหลงใหลในแบบของตัวเอง อาจจะมีข้อแตกต่างในแง่มิติของความรู้สึกอยู่บ้าง คือฉันรู้สึกว่าเวอร์ชันหนังนั้นเนื้อเรื่องเคลื่อนไหวเร็วกว่า ส่วนเวอร์ชันหนังสือจะเดินเรื่องแบบลงลึกมากกว่า แต่ไม่ว่าอย่างไร เรื่องราวต่างๆ ในผลงานที่มีชื่อว่า Last Letter ของ ชุนจิ อิวาอิ ผู้กำกับและนักเขียนที่มีอิทธิพลกับวัยรุ่นยุค 90 อย่างฉัน ก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นอย่างดีในรูปแบบที่เหมาะกับการนำเสนอ ภาษาหนังของเขาทำให้เรื่องราวสวยงามสว่างไสว งานภาพและการแสดงทำให้ตัวละครมีชีวิตชีวา เหมือนภาพวาดที่ได้รับการลงแสงเงาอย่างสมบูรณ์ ส่วนภาษาหนังสือก็ทำให้ผู้อ่านสามารถรู้สึกลึกซึ้งกับตัวละครมากขึ้น และเข้าใจที่มาที่ไปของบางเรื่องราวที่ถูกละไว้ในหนัง
    ฉันไม่อาจสรุปได้ว่าชอบเวอร์ชันไหนมากกว่ากัน แต่อยากชวนให้ใครต่อใครได้สัมผัสมันด้วยตัวเอง เพราะสิ่งที่แต่ละคนได้รับคงเต็มไปด้วยรายละเอียดที่แตกต่าง การเล่าเรื่องในหนังและในหนังสือเป็นคนละกลวิธี ฉันจึงเห็นว่าไม่ว่าจะอ่านหนังสือก่อนหรือดูหนังก่อนก็จะได้รับอรรถรสอย่างเต็มที่ และสามารถดำดิ่งลงไปในความรู้สึกที่ยากจะลืมอย่างรักครั้งแรกได้อย่างเต็มหัวใจเช่นเดียวกัน

    Last Letter (จดหมายรักฉบับสุดท้าย) ที่ฉันกำลังจะเล่าถึงนี้เป็นนิยายต้นฉบับของภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน มีเรื่องราวว่าด้วยความบังเอิญที่ทำให้แม่บ้านลูกหนึ่งชื่อ คิชิเบโนะ ยูริ ได้กลับมาพบกับนักเขียนหนุ่มใหญ่ โอโตซากะ เคียวชิโร่ ผู้ชายที่เรียกได้ว่าเป็นรักแรกของเธอ โดยเธอเองไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า เคียวชิโร่นั้นมีความรู้สึกลึกซึ้งกับ โทโนะ มิซากิ พี่สาวของเธอมากกว่า เรื่องราวมาซับซ้อนเพราะยูริตัดสินใจไปงานเลี้ยงรุ่นแทนมิซากิที่มาด่วนจากไปอย่างกะทันหัน และเมื่อได้พบกับเคียวชิโร่ เธอก็เริ่มต้นติดต่อกับเขาผ่านการเขียนจดหมาย โดยเลือกลงท้ายจดหมายด้วยชื่อมิซากิ เหตุการณ์เดินหน้าไปเหมือนกระแสน้ำที่ยากจะต้านทาน และด้วยปัจจัยแห่งความบังเอิญต่างๆ นานา สุดท้ายก็นำพาให้ อายูมิ ลูกสาวของมิซากิ และโซโยกะ ลูกสาวของตัวเธอเองต้องมาพัวพันกับเรื่องนี้ด้วย จดหมายหลายฉบับในเรื่องเชื่อมโยงคนหลายรุ่นเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้อ่านถวิลหาความรู้สึกของการรอคอย-เปิดซองจดหมาย-และคลี่หน้ากระดาษออกอ่าน เพื่อจะได้คลี่คลายเงื่อนปมต่างๆ ที่ถูกขมวดไว้ในเรื่องออกทีละน้อย

    หนังสือเล่าเรื่องผ่านสายตาและความรู้สึกนึกคิดของฝ่ายชาย คือ โอโตซากะ เคียวชิโร่ หรือพูดอีกแบบก็คือ เคียวชิโร่ ซึ่งมีอาชีพเป็นนักเขียนในเรื่อง เป็นผู้เล่าเรื่องราวทั้งหมดออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ฉันพบว่าเนื้อหาบางส่วนของหนังกับในหนังสือไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น อาชีพที่สามีของยูริทำจะต่างกัน เรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครรุ่นลูกจะมีเหตุการณ์ปลีกย่อยอยู่ในหนังสือมากกว่า หรือแม้แต่รายละเอียดเกี่ยวกับตัวเคียวชิโร่เองก็มีส่วนที่ชวนเซอร์ไพรส์พอสมควร กล่าวคือ ในฉบับภาพยนตร์จะดูหล่อมาก แต่ในฉบับหนังสือจะดูไม่เอาไหนสักเท่าไหร่ ซึ่งอาจเป็นเพราะเจ้าตัวเป็นคนเขียนเล่าเรื่องเอง เมื่อไม่พอใจชีวิตตัวเอง ก็เลยถ่ายทอดความไม่พอใจนั้นมาสู่ผู้อ่าน
    อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ฉันเห็นว่าเป็นจุดที่ทำให้นิยายเรื่องนี้มีสีสันเป็นพิเศษ ก็คืออาชีพนักเขียนของเคียวชิโร่นี่ล่ะ และเพราะการเขียนและการสื่อสารผ่านหน้ากระดาษเป็นแก่นแกนของเรื่องราวทั้งหมด หลายส่วนเสี้ยวของชีวิตนักเขียนก็เลยถูกสะท้อนออกมาในนิยายเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ทรมานในการทำอาชีพนักเขียน โมเมนต์ที่มีใครสักคนขอลายเซ็น หรือชั่วขณะที่ได้รับรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเขียนไว้มีคนได้อ่าน 
    'ทุกสิ่งทุกอย่างคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดหมาย โลกนี้กำเนิดมาจากการเก็บสะสมเรื่องบังเอิญ ฉะนั้นแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและแต่ละคนที่พานพบ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้' เคียวชิโร่บอกกับเราเช่นนี้ สำหรับฉันแล้ว ข้อความนี้ยิ่งตอกย้ำว่า ชุนจิ อิวาอิ ค่อนข้างให้น้ำหนักกับความบังเอิญในนิยายที่เขาเขียนไว้สูงทีเดียว ถ้าใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้จนจบอาจได้สังเกตเห็นเหมือนกันว่า 'ความบังเอิญ' ถูกวางเรียงรายและอัดแน่นไปตลอดเรื่องเลยจริงๆ นับตั้งแต่หน้าตาที่เหมือนกันอย่างกับแกะของคนรุ่นแม่และคนรุ่นลูก การพบเจอกันของบุคคลต่างๆ ในเรื่อง หรือจังหวะจะโคนของบางเหตุการณ์ และฉันเชื่ออยู่ลึกๆ เป็นการส่วนตัวว่า มุกบังเอิญๆ แบบนี้คงจะดูเลี่ยนและไม่กลมกล่อมขนาดนี้ ถ้าไม่ได้ผ่านการควบคุมน้ำหนักและทิศทางโดยอิวาอิ
    อันที่จริงแล้ว อิวาอิไม่ได้สร้างและกำกับ Last Letter ไว้เพียงเวอร์ชันเดียวเท่านั้น ก่อนหน้านี้เขาเคยเขียนบทและกำกับมันในเวอร์ชันภาษาจีนมาแล้วในปี 2018 โดยใช้ชื่อภาพยนตร์ว่า Hello, Zhihua หรือ 你好,之华 ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า สวัสดี จือหวา (จือหวาคือชื่อของนางเอก) ก่อนจะมาเขียนเป็นนิยายและสร้างเป็นหนังอีกเวอร์ชันในภาคภาษาญี่ปุ่น และเข้าฉายให้เราได้ชมกันในปี 2020 นี้นั่นเอง
โปสเตอร์ภาพยนตร์ Hello, Zhihua (2018)
โปสเตอร์ภาพยนตร์ Last Letter (2020)
    อิวาอินับเป็นผู้กำกับและนักเขียนมากประสบการณ์ที่มีลายเซ็นเด่นชัด เขาสร้างงานและร่วมงานกับผู้คนในหลากหลายประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งในเกาหลี สำหรับแฟนผลงานของเขา ถ้าใครพอจะจำได้ จริงๆ แล้วอิวาอิเคยเขียนบทและกำกับซีรีส์สั้นๆ ในอินเตอร์เน็ตชื่อ Chang-OK's Letter นำแสดงโดย แบดูนา มาก่อนด้วย และซีรีส์ชุดนั้นก็คือต้นทางและเป็นไอเดียให้เขาพัฒนาต่อเป็นหนัง Last Letter ในที่สุด
    ผลงานของเขาถูกพัฒนาไว้หลายรูปแบบ แม้แต่หนังสือนิยายของเขาก็ได้รับการตีพิมพ์และแปลเป็นหลายภาษา นอกจากนิยายในภาคภาษาญี่ปุ่นแล้ว เรายังได้เห็นหนังสือของเขาในภาคภาษาอื่นๆ อาทิ ภาษาจีน ภาษาเวียดนาม ภาษาไทย ซึ่งหนังสือภาคภาษาไทยได้รับการแปลโดย ฉัตรขวัญ อดิศัย และตีพิมพ์เป็นครั้งแรกโดย สำนักพิมพ์ Bibli
ปกต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น และ ปกฉบับแปลภาษาจีน
ปกฉบับแปลภาษาเวียดนาม และ ปกฉบับแปลภาษาไทย

    โดยส่วนตัว ฉันคิดว่า Last Letter ในแบบฉบับของหนังสือช่วยเติมเต็มอรรถรสในการติดตามเนื้อเรื่องได้มากกว่าการดูหนัง เพราะผู้อ่านมีโอกาสอ่านตัวอักษรในหน้ากระดาษไปพร้อมๆ กับตัวละคร เสมือนหนึ่งว่าเรากำลังอ่านจดหมายไปกับตัวละครจริงๆ  อีกทั้งองค์ประกอบต่างๆ ที่นักเขียนพรรณนาไว้ในเล่มยังทำให้คนอ่านอย่างฉันได้หวนนึกถึงวันวานที่แสนธรรมดาในชีวิตอีกด้วย มันทำให้ฉันโหยหาการขีดเขียนอะไรสักอย่างด้วยลายมือ คิดถึงสัมผัสของกระดาษจดหมายที่เคยเขียนเมื่อครั้งก่อน รู้สึกพิเศษกับรูปถ่ายเก่าเก็บที่อัดล้างออกมาเป็นใบๆ และยังทำให้นึกอยากจะลงมือเขียนบางเรื่องราวที่ค้างคาให้มันหลั่งไหลออกมาเสียบ้าง

    เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ทั้งบาดลึกและช่วยสมานแผลให้กับฉัน
    Last Letter ทำให้ได้รู้สึกถึงความเจ็บปวด เศร้าสร้อย แต่ระหว่างที่อ่านก็ได้อมยิ้มน้อยๆ และหัวเราะกับตัวเองอยู่เหมือนกัน มันทั้งหนักหน่วงและโล่งเบาสลับกันไป นี่กระมังที่เรียกว่า 'กระแสชีวิต' เหมือนกระแสน้ำที่เป็นไปได้ทั้งเชี่ยวกรากและปลอบประโลม สาดซัดรุนแรงเหมือนคลื่นน้ำที่ตกจากหน้าผา และไหลรี่เรียบสบายเหมือนน้ำในแอ่งหลังผ่านพ้นแรงอัดจากโขดหินน้อยใหญ่ -- ตราบใดที่เรายังอยู่ในกระแส น้ำก็ไม่เคยหยุดนิ่ง -- แต่ถึงกระนั้น เรื่องราวที่ไหลผ่านตัวละครแต่ละตัวก็ทำให้ฉันเชื่อมั่นว่าเราทุกคนต่างก็มีความเข้มแข็งลึกๆ ข้างใน ชีวิตของพวกเราทั้งหลายอาจบกพร่องในหลายเรื่อง แต่ด้วยสิ่งที่มีอยู่ แม้จะน้อยนิด เรายังสามารถรวบรวมมาเป็นเรี่ยวแรงให้เดินหน้าใช้ชีวิตต่อไปได้ ฉันคิดว่า Last Letter เป็นนิยายแนว Coming of Age ที่ช่วยหนุนหลังให้ผู้อ่านสามารถ Move on ไปข้างหน้าได้อย่างไร้ขีดจำกัดบนโลกที่มีข้อจำกัดมากมาย และเหมาะเป็นอย่างมากสำหรับใครก็ตามที่กำลังรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง ไม่ว่ากับอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตของตัวเอง
    ชีวิตมันไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ยากเกินเยียวยา บาดแผลที่เคยมี หลายสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคงมิอาจแก้ไขได้ แต่หนังสือเล่มนี้อาจช่วยนำพาเราให้มองเห็นภาพสะท้อนบางส่วนของชีวิตตัวเอง หรืออย่างน้อยก็ของผู้คนรอบข้าง และเปิดโอกาสให้เริ่มเห็นมิติใหม่ๆ ในหัวใจของพวกเราทุกคน ฉันคิดว่า Last Letter เป็นหนังสือที่ทำให้คนที่ได้เปิดอ่านมันได้สัมผัสรับรู้ถึงความอ่อนไหว ได้ทำความเข้าใจผลกระทบของการกระทำต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น และอาจช่วยให้เรารู้สึกห้าวหาญขึ้นบ้าง แม้ในโมงยามที่ต้องเจอะเจอกับเรื่องราวที่ชวนให้รู้สึกอ่อนแออย่างที่สุด


เกร็ดพิเศษเกี่ยวกับภาพยนตร์:

- มิโฮ นากายามะ นางเอกจาก Love Letter หนังรักที่สร้างชื่อให้กับ ชุนจิ อิวาอิ เป็นอย่างมากเมื่อ 25 ปีที่แล้ว มาปรากฏตัวเป็นตัวละครลับในหนังเรื่อง Last Letter ด้วย การแสดงของเธอแนบเนียนเสียจนบางคนจำเธอแทบไม่ได้

- บทบาทของยูริถูกถ่ายทอดการแสดงโดย มัตจัง หรือ ทาคาโกะ มัตสึ นางเอกภาพยนตร์เรื่อง April Story อีกผลงานชิ้นสำคัญของอิวาอิ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับรักครั้งแรกเช่นกัน


วรรณวนัช บูรพาเดชะ

ที่ปรึกษาทีม happening shop, เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและหนังสือ 'ญี่ปุ่นอุ่นอุ่น', นักเขียน ช่างภาพโฟโต้บุ๊ก 'Nagasaki Light' และไกด์บุ๊ก 'Kagawa Memories' นอกจากภาพถ่ายและงานเขียน สิ่งที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือการนั่งสมาธิและการโปรยมุขไม่ขำ