เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับหนังสายอินดี้ของไทยได้โดดมาทำหนังฟอร์มใหญ่เป็นครั้งแรกในเรื่อง ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ซึ่งนอกจากบทและนักแสดงที่ดีจนได้ทั้งเงินและกล่องแล้ว เพลงประกอบหนังเองก็โดดเด่นขนาดที่หลายคนดูหนังเรื่องนี้จบต้องรีบกลับมาเสิร์ชหาเพลงเหล่านั้นฟังทันที
และหลายคนก็น่าจะรู้จักกับเพลงของ พลัม-ณภัทร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จากการค้นหานั้น เขาคือเจ้าของเพลง ดวงอาทิตย์ (Sol), วันใหม่ (New Day), เวลานี้ และเพลงบรรเลงอื่นๆ ที่ถูกนำมาใช้ใน ฟรีแลนซ์ฯ ซึ่งเพลง เวลานี้ ยังเคยถูกเลือกใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง ไฮโซ (Hi-So) ของ อาทิตย์ อัสสรัตน์ มาก่อนหน้านี้ด้วย
ณภัทรเป็นศิลปินอิสระ ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นศิลปินและนักแต่งเพลงในสังกัดโซออนดรายฟลาวเวอร์ (SO::ON Dry FLOWER) มาก่อน และเคยออกอัลบั้มอีพีชุด ผลไม้ ในปี พ.ศ. 2549 ปัจจุบันเขาใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์กเป็นหลัก แต่ในช่วงที่เขากลับมาบ้านสั้นๆ ช่วงหนึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสนั่งคุยเพื่อทำความรู้จักกับเขา
"ผมชอบฟังเพลงและอ่านเนื้อเพลง ปกเทป อ่านเครดิตทุกอย่างเลย อ่านพวกนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แต่เพิ่งมาสังเกตจริงจังช่วงชุดแรกๆ ของพี่สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ อีกวงคือ วงทีเคโอ (TKO) ยุคก่อนที่จะมีค่ายเบเกอรี่ มิวสิค เพราะในอัลบั้มของทีเคโอ จะมีรายชื่อของคนที่เข้าไปทำงานกับเบเกอรี่ภายหลัง ผมก็เริ่มสังเกตแล้วว่ามันมีชื่อที่ไม่ใช่แค่พวกคนดังๆ อย่างพี่ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค ซึ่งพวกนั้นเราก็ชอบ แต่จะเป็นชื่อใหม่ๆ แล้วดนตรีของทีเคโอจะเหมือนอยู่ดีๆ โผล่มาจากไหนไม่รู้ มันตื่นเต้น อินเตอร์ มีความใหม่ และก็ผสมความเป็นไทยเข้าไปด้วย" นักร้องหนุ่มเริ่มต้นเล่าถึงความสนใจด้านดนตรีให้เราฟัง
ช่วงก่อนเรียนจบมหาวิทยาลัย พลัมฟังเพลงฝรั่งเยอะมาก และดันไปติดอกติดใจเพลงโฟล์ก ซึ่งสมัยนั้นในไทยยังไม่มีเพลงแนวนี้ เขาจึงเฝ้ารอว่าจะมีใครทำเพลงแนวที่เขาชอบบ้างหรือไม่ จนสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจทำเอง โดยยึดหลักที่ว่า 'เราไม่จำเป็นต้องเล่นดนตรีเก่ง เล่นง่ายๆ ก็ได้ แต่ต้องเพราะ!' แล้วเขาก็เริ่มเขียนเพลงทันที
พอถามถึงที่มาของทักษะในการเขียนเพลง ชายหนุ่มก็นิ่งคิดครู่หนึ่งก่อนจะตอบอย่างเป็นกันเอง
"ผมก็เขียนๆ ไป และก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราพยายามบอกคนที่สนใจเขียนเพลงแต่เขาไม่ค่อยฟังเท่าไหร่ คือเราควรจะรู้ว่าเราชอบอะไร แล้วเราก็ควรจะฟังที่เราไม่ชอบด้วย เพราะอันที่เราไม่ชอบมันมีประโยชน์กว่าเยอะเลย ทำให้เรารู้ว่าไม่ควรทำแบบไหน แล้วเราก็ต้องทบทวนกับตัวเองดีๆ ว่าเพลงไหนที่เราโอเค เพลงไหนที่เราชอบมาก ก็พยายามแกะ ลองดูว่าเขาทำยังไง เพลงพวกนี้ต่างจากเพลงที่เราชอบปานกลางยังไง"
เมื่อเรียนจบและได้ใช้ชีวิตทำงานอีเวนต์ในบริษัททำโฆษณา พลัมก็ได้เจอกับ โคอิชิ ชิมิสึ (Koichi Shimizu) และเพื่อนคนไทยของเขาที่ตั้งใจทำเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหนุ่มผู้จัดอีเวนต์คนนี้ก็ได้เข้าไปร่วมช่วยงานและเรียนรู้กระบวนการทำเพลงต่างๆ จนสามารถอัดเพลงเองได้ จนกระทั่งเมื่อโคอิชิได้ก่อตั้งค่ายเพลงโซออนดรายฟลาวเวอร์ขึ้น คนที่ลองทำเพลงและนำเทปเดโมไปให้เจ้าของค่ายฟังอย่างพลัมก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของค่ายเพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์และแนวทดลองแห่งนี้
ผลไม้ หรือ Fruit คือชื่อผลงานอัลบั้มแรกของพลัม ซึ่งที่มาของมันก็มาจากชื่อของตัวเองและความชื่นชอบของคุณแม่ที่มักตั้งชื่อกิจการให้เกี่ยวข้องกับผลไม้ รวมถึงความรู้สึกชื่นใจและอารมณ์ลึกลับที่ชวนให้นึกถึงป่าดงดิบอีกด้วย
หลังจากทำเพลงอัลบั้มแรกเสร็จ งานนั้นก็ไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก แม้ว่ามันจะเป็นอัลบั้มที่มีเสน่ห์ไม่น้อยก็ตาม ศิลปินหนุ่มตัดสินใจบินไปเรียนต่อด้าน Media Study ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาทันที เขาถูกแวดล้อมไปด้วยคนเก่งๆ และมีรสนิยมในการฟังเพลง จนได้เรียนรู้และเข้าใจถึงวัฒนธรรมทางดนตรีที่เข้มข้นของคนที่นี่
แต่หลังจากเรียนจบ พลัมกลับต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์จนไม่มีงานทำไปพักหนึ่ง ถึงขนาดที่ต้องไปทำงานในร้านอาหาร แต่ในที่สุดเขาก็ค่อยๆ พลิกฟื้นกลับมามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นๆ และการเริ่มต้นทำเพลงอัลบั้มที่สองซึ่งทิ้งห่างจากอัลบั้มแรกมาเนิ่นนานก็เริ่มต้นอย่างง่ายๆ เมื่อเขาสามารถกู้เงินซื้อแมคบุ๊กมาใช้ทำเพลงได้นั่นเอง!
"ตอนทำชุดสองไม่ได้อยู่เมืองไทย ก็ลำบากเหมือนกันเพราะเล่นคนเดียวหมดยกเว้นกลอง ให้พี่โคอิชิเขาดูห่างๆ แทน เราก็เหนื่อยแหละ แต่พอทำเสร็จก็ภูมิใจ เพราะไม่ต้องรอใครแล้ว ทำเองได้" เขาอธิบายถึงกระบวนการทำงานของอัลบั้มชุดสองที่เขาเลือกที่จะไม่ตั้งชื่อใดๆ ให้กับอัลบั้ม
แม้เพลงอินดี้ใหม่ๆ ในไทยตอนนี้มักจะมีเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ แต่เพลงส่วนใหญ่ของพลัมก็ยังเป็นเพลงภาษาไทยอยู่ นักร้องหนุ่มให้เหตุผลว่าตัวเองชอบเพลงภาษาไทย และถึงแม้ว่าช่วงวัยผู้ใหญ่จะอยู่ที่ต่างประเทศเป็นหลัก ทว่าจุดเริ่มต้นในความลุ่มหลงเสียงเพลงของเขาก็เริ่มมาจากเพลงไทยนั่นเอง
ใครจะไปรู้ว่าเบื้องหลังบทเพลงที่มีเนื้อหาใคร่ครวญชีวิต แฝงไปด้วยความอ่อนโยนและทบทวนตัวเอง ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขานั้นส่วนใหญ่มาจากการอ่านหนังสือและดูสารคดีธรรมะ และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ศาสนาพุทธเท่านั้น พลัมยังสนใจแนวคิดของลัทธิความเชื่ออื่นๆ อย่างลัทธิเต๋าอีกด้วย นอกจากนี้เวลาเขียนเพลงเพลงหนึ่ง เขาจะพยายามไม่คิดเยอะ ยิ่งเพลงใดที่เขียนเสร็จได้ในครั้งเดียว เขาจะยิ่งชอบเพลงนั้นมาก
และเมื่อเราถามถึงกระแสตอบรับและความรู้สึกหลังจากผลงานเพลงของเขาได้ถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์เรื่อง ฟรีแลนซ์ฯ เจ้าของผลงานก็ตอบซื่อๆ ง่ายๆ จนเราอดขำไม่ได้อีกเช่นเคย
"ตอนได้ฟังในหนังก็เขินๆ ตอนแรกเขาซื้อลิขสิทธิ์ไป 4-5 เพลง ผมก็นึกว่าค่ายใหญ่ เงินคงเหลือเยอะ ซื้อไปทิ้งๆ มั้ง สรุปเขาใช้หมดทุกเพลงเลย ก็งงเหมือนกัน" รอยยิ้มกว้างเผยให้เห็นถึงความอารมณ์ดี
ด้วยชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่นิวยอร์กเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะทำให้เขาไม่ค่อยได้รับรู้ถึงกระแสตอบรับของผลงานที่ไทยเท่าไหร่แล้ว การแสดงสดก็เป็นสิ่งที่ขาดหายไป พลัมมองว่าการแสดงสดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักร้องทุกคน เพราะผู้ชมจะช่วยพัฒนาฝีมือและโชว์นั้นๆ ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เขาจึงตั้งปณิธานกับตัวเองว่าจะพยายามแสดงสดทุกครั้งที่กลับมาไทยให้ได้
ในอนาคต หนุ่มมากความสามารถคนนี้มีแผนอยากทำอะไรอีกหลายอย่าง เขาสนใจอยากทำงานเพลงแบบ แคโรล คิง (Carole King) และนักร้อง-นักแต่งเพลงยุค 70 หลายคนที่สามารถเขียนเพลงได้หลากหลายแนว ไม่ว่าจะเพื่อร้องเองหรือแต่งให้ศิลปินที่มีชื่อเสียง ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ
และแม้ว่าพลัมจะยังไม่เริ่มทำอัลบั้มชุดที่สาม แต่หลังจากที่ได้รู้จักกันแล้ว เราก็มั่นใจเหลือเกินว่าหนุ่มที่มีชื่อตัวเองและอัลบั้มเป็นชื่อผลไม้คนนี้ต้องทำเพลงที่ฟังแล้วชื่นใจและแปลกใหม่ไม่แพ้สองอัลบั้มที่ผ่านมาแน่นอน
นี่คือเรื่องราวเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งนำพามาสู่เวลานี้และเวลาต่อไปของ ณภัทร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
4441 VIEWS |
นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม
นักเขียน และ ช่างภาพ อิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่จังหวัดเชียงใหม่