เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ : ตัวจริงผู้อยู่เบื้องหลังคุณสมอ๊อก

    ช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตมากมาย โดยเฉพาะไวรัส COVID-19 ในแต่ละวัน ข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อ และมาตรการณ์รับมือต่างๆ ถูกเสนออย่างต่อเนื่อง จนทำให้หัวใจหม่นหมองไปบ้าง แต่เมื่อเพ่งดูดีๆ ท่ามกลางความสับสนกังวลใจ กลับมีตัวละครน่ารัก อย่าง 'คุณสมอ๊อกและผองเพื่อน' โผล่ขึ้นมาบนโลกโซเชียล ให้เราอมยิ้ม เอ็นดู และคลายเครียดจากสถานการณ์ตรงหน้าได้บ้าง

    คุณสมอ๊อก คือ คาแรกเตอร์หนูสุดใจดีในการ์ตูนวันสิ้นโลก เมื่อสัตว์ป่าน้อยใหญ่ต้องการจะทำลายล้างโลก ด้วยการปล่อยไวรัสโคโรน่าไปสู่ผู้คน ท่ามกลางความเห็นชอบของทุกสรรพสัตว์ คุณสมอ๊อกกลับเป็นคนเดียวที่คัดค้าน และขอโอกาสให้กับมนุษย์อีกครั้ง แม้เนื้อเรื่องจะหักมุมในตอนท้าย แต่ความน่ารักและความใจดีของคุณสมอ๊อก ก็ทำให้คนเข้ามาให้กำลังใจและแชร์ต่อกว่า 28,000 ครั้ง

    เอก-เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ คือผู้รังสรรค์ เรื่องราวสุดน่ารักนี้ ผ่านเพจเฟสบุ๊คชื่อว่า 'เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ (Eakasit Thairaat)'


คุณสมอ๊อก เจ้าหนูสุดใจดีจากการ์ตูนวันสิ้นโลก

    "โห.. ถ้าบทสัมภาษณ์นี้ลงไป คงมีคนมาทวงการ์ตูนที่ผมเขียนแน่ๆ เลย"

    ชายวัยกลางคนเริ่มบทสนทนาด้วยอารมณ์ขัน เอกทำงานหลักเป็นครีเอทีพ ดูแลการกำกับโฆษณา และรับเขียนบทบ้าง ในเวลาที่เว้นว่างจากงานประจำ เขาเป็นนักวาดเจ้าของผลงานหลอนครองใจคนข้ามทศวรรษมากมาย ทั้ง 13 เกมสยอง, บอดี้ศพ 19 และ Home Stay

    หากใครติดตามเอก จะเห็นว่าหนังและการ์ตูนของเขามีความน่าสนใจ เพราะหลุดออกจากกรอบความคิดและความเป็นไปได้ที่ชวนให้คนตื่นเต้นทุกครั้ง นั่นยิ่งทำให้เราอยากรู้ว่า เพราะอะไรเขาถึงมีมุมมองและความคิดในการนำเสนอเนื้อเรื่องเช่นนี้

CHAPTER I นัก กำกับ การ์ตูน

    ย้อนไปจุดเริ่มต้น เอกในวัยเด็กหลงใหลลายเส้นของการ์ตูนญี่ปุ่น เขาได้รับอิทธิพลมาจากภาพสองมิติบนหน้ากระดาษ โดยเฉพาะเมื่อได้อ่านเรื่อง Akira ผลงานแนวไซ-ไฟของ โอโตโม คัตสึฮิโร (Otomo Katsuhiro) ยิ่งช่วยเติมไฟให้เขาอยากวาดการ์ตูนของตัวเองบ้าง ขณะเดียวกัน เอกชื่นชอบวิธีดำเนินเรื่องแบบภาพยนตร์ ที่จุดชนวนความตื่นเต้นและเล่นกับความรู้สึกคนได้ดี

    "เราชอบการวาดการ์ตูนก็จริง แต่ลึกๆ เราชอบทำหนังมากกว่านะ สมัยนั้นเราเห็นว่า ผู้กำกับหนังส่วนใหญ่มาจากสายโฆษณา กำกับเอ็มวี ไม่ก็เป็นแบบ ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) ที่เขียนการ์ตูนเลย พอโตขึ้น เราก็มองหาช่องทางที่จะขยับตัวไปเป็นผู้กำกับได้ เราก็เลยทำโฆษณา แล้วก็เขียนการ์ตูนไปพร้อมกัน"

    หลังจากเอกเข้าเรียนด้านโฆษณาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี เขามีโอกาสส่งต้นฉบับไปที่สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจตามคำแนะนำของเพื่อน ซึ่งนับเป็นก้าวแรกสู่การเป็นนักวาดการ์ตูนของเขา

    "ตื่นเต้นนะ เราไม่รู้ว่าเขาจะซื้อผลงานเราไหม พอเห็นว่าเขาเงียบไป เราเลยใช้เวลา 1-2 อาทิตย์ช่วงปิดเทอม วาดเรื่องที่ 2 ขึ้นมา แล้วเอากลับไปเสนอเขา จริงๆ เขาโอเคตั้งแต่เรื่องแรกแล้ว แต่มันติดสงกรานต์พอดี พอเขาเห็นว่าเราขยันและพอมีฝีมือ เลยถามว่า 'อยากเขียนการ์ตูนต่อเนื่องไหม' เราก็ตกลง เหตุการณ์นี้มันทำให้เรารู้สึกว่า เราสามารถหาเงินได้ ด้วยการเป็นนักเขียนการ์ตูนจริงๆ นะ"

    เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่เอกวาดการ์ตูนตามความฝัน เขาบอกกับเราว่า ลึกๆ แล้วตัวเองก็ไม่เชื่อเหมือนกันว่าจะมีคนอ่าน จนวันที่เขาไปแจกลายเซ็นในงานมีตติ้งของสำนักพิมพ์ ถึงได้รู้ว่าการ์ตูนของเขาได้รับความสนใจจากแฟนๆ อย่างมาก

    "โคตรเขินเลย เราถามเขาว่า 'จะเอาจริงเหรอครับ จะเอาไปทำไม' แล้วเราก็พยายามเซ็นให้พวกเขา รู้สึกเสียดายเหมือนกันนะ เพราะลายเซ็นเราธรรมดามาก ไม่ได้เท่เหมือนคนอื่น เราเซ็นเหมือนเซ็นเอกสารเลย แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่เราดีใจมากจริงๆ"

CHAPTER II เรียนรู้ สะสมพลัง

    'เอกสิทธิ์ โทรกลับหาพี่บอย โกสิยพงษ์ด้วย'

    ข้อความในเพจเจอร์ดังขึ้น แจ้งเตือนให้รู้ว่า บอย โกสิยพงษ์ ติดต่อหาเอกด้วยความสนใจ เขาตัดสินใจโทรกลับไป

    จบประโยคนี้ ชีวิตของเอกก็ก้าวเข้าสู่การเป็นนักวาดการ์ตูนอย่างเต็มตัว เพราะบอยชักชวนให้เขาเป็นหนึ่งในนักวาดการ์ตูน ในหนังสือ Manga Katch

    "ตอนแรกงงนะ คิดว่าเพื่อนเราแกล้ง เราก็ถามว่า 'พี่บอยจริงป่ะครับ' เขาตอบว่า 'จริง' มันเป็นสเต็ปที่สองในชีวิตเรา สมัยเราวาดการ์ตูนตอนเรียน มันเป็นแค่วงแคบๆ เราคิดว่ามันก็คงแค่นี้แหละ จนเจอพี่บอยกับนักเขียนคนอื่นๆ ซึ่งเขามีสไตล์การทำงานที่หลุดจากความเป็นมังงะ หลุดจากความเป็นแอนิเมชั่นทั่วไป เราได้เรียนรู้จากนักเขียนด้วยกัน มันทำให้เราคิดนอกกรอบว่า เราสามารถทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องยึดติด มันทำให้เราคิดพลิกแพลงได้มากขึ้น"

    เราเห็นว่าการ์ตูนของเอกส่วนใหญ่ เป็นแนวไซ-ไฟ สยองขวัญ มีเนื้อเรื่องหักมุม เล่นกับความรู้สึกคน เอกบอกว่าพื้นฐานเขาเป็นคนขี้แกล้ง ชอบเล่นกล ชอบให้คนเซอร์ไพร์ส แต่ขณะเดียวกัน เหตุและผลในการดำเนินเรื่องก็เป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ เพราะจะทำให้คนเชื่อในการกระทำของตัวละครมากขึ้น

    ในตอนนั้น เอกทำงานเป็นครีเอทีฟโฆษณาพร้อมกับการวาดการ์ตูน เขาบอกว่าการเป็นครีเอทีฟทำให้เขามีความคิดที่รวดเร็ว เฉียบคม ซึ่งส่งผลกับการ์ตูนของเขาเช่นกัน

    "ข้อดีของการคิดแบบครีเอทีฟ คือ มันเร็ว กระชับ คนเข้าใจง่าย แต่ข้อเสียก็คือ บางทีความคมมันทำให้เรื่องของเราแข็งเกินไป ตั้งใจสั่งสอนเกินไป มันเป็นสิ่งที่ผู้ชมไม่ต้องการ หนังหรือการ์ตูนเหล่านี้ มันเป็นพื้นที่ของการพักผ่อนมากกว่าการสั่งสอน มันเป็นเรื่องที่ต้องให้เขาไปต่อยอดเอง"

CHAPTER III ระเบิดพลัง

     เมื่อมีงานโฆษณาเข้ามามากขึ้น เอกจึงมีเวลาวาดการ์ตูนได้น้อยลง เนื่องจากยุคนั้นยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ เอกต้องวาดแต่ละขั้นตอนด้วยมือ เขาบอกว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะทำทุกอย่างให้สำเร็จไปพร้อมกัน คิดดูแล้วก็คล้ายกับฉากในการ์ตูน ตอนที่พระเอกกำลังจะโด่งดัง มักมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาทดสอบอยู่เสมอ

    "เอาจริงๆ การวาดการ์ตูนคนเดียวมันยากนะ แต่เราก็พยายามทำ เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดขึ้นมา คนชอบเราจากสิ่งนี้ เราก็เลยพยายามจะคงมันไว้ สุดท้ายก็ไม่รอด เราโดนหลายๆ อย่างผลักดัน เราก็เลยปรับมาออกเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นแทน"

    หลังจากนั้นไม่นาน หนังสือ 'รวมเรื่องสั้นจิตหลุด' ก็ถือกำเนิดขึ้น และได้รับผลตอบรับจากแฟนๆ จำนวนมาก

    "ในเรื่องสั้นจิตหลุด จะมีตอนที่ชื่อว่า '13 เกมสยอง' เราชอบเรื่องนี้มาก เพราะมันมีชั้นเชิงในการเล่าแบบหนัง มีการตีความ มีซิมโบลิก ส่วนใหญ่คนจะวาดฉากแค่ต่อสู้กันทั่วไป แต่เรามองว่า การ์ตูนมันเป็นได้มากกว่านั้น เราอยากเห็นมันกลายเป็นหนังจริงๆ เราเลยเขียนข้างหลังไปว่า ผมชอบเรื่องนี้มากนะ ผมอยากทำเป็นหนัง ปรากฎว่ามีคนติดต่อมาจริงๆ"

    ความฝันของเขาเป็นจริง นอกจาก 13 เกมสยองจะกลายมาเป็นภาพยนตร์แล้ว เอกยังมีโอกาสได้เป็นหนึ่งในทีมเขียนบทของเรื่องนี้ด้วย 

    "มะเดี่ยว (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) ถามว่า 'อยากเขียนบทด้วยกันไหม' เราก็เอาสิ โดยไม่รู้ว่าการเขียนบทคืออะไร เราถามว่า มันมีข้อจำกัดอะไรบ้าง ซีนไหนทำได้หรือไม่ได้ มะเดี่ยวบอกเราว่า 'พี่เอกทำเลย เขียนมาเลย' เราก็เขียนมาโดยมีมะเดี่ยวคอยดูภาพรวมให้ ตอนนั้นเราก็เลยรู้ว่า เออ จริงๆ ความไม่รู้ มันก็ทำให้เราบ้าได้เยอะเหมือนกันนะ"

    ใครที่เคยดู 13 เกมสยอง คงมีภาพจำจากภารกิจของตัวเอก ไม่ฉากใดก็ฉากหนึ่ง เอกบอกกับเราว่า ฉากที่ทำให้เอกรู้สึกทึ่งที่สุด คือ ฉากที่เชือกบนถนนตัดคอเด็กแว้นนับสิบราย มันเป็นฉากที่ทำให้คนทั้งโรงหนังช็อกและเงียบกันทั้งโรง ...รวมถึงตัวเขาด้วย

    เราถามเอกต่อว่า ตอนที่เห็นการ์ตูนที่เขียนกลายเป็นหนังจริงๆ รู้สึกยังไงบ้าง เขาหัวเราะเบาๆ ก่อนตอบ

    "ปรากฎว่าตอนนั้นมันชา เราไม่รู้ว่าเรารู้สึกอะไร มันเป็นความรู้สึกที่งงมาก จริงๆ มันคงดีใจมากแหละ วันนั้นเราจำบรรยากาศได้หมด ตอนที่อยู่ในโรงหนัง เรานั่งข้างหน้า มีผู้กำกับดังๆ ถามเราว่า 'ไม่อยากทำหนังอีกเหรอ' มันปลื้มมาก แต่มันก็ชามาก มันเหมือนเราอยู่ในความฝันเลย"

BEHIND THE SCENE

    หลังจากนั้น เอกก็มีโอกาสได้เขียนบทภาพยนตร์ต่อเนื่องมาตลอด เช่น บอดี้ศพ 19 (2549), สี่แพร่ง (2551), เพื่อนเฮี้ยน โรงเรียนหลอน ตอน เพื่อนร่วมห้อง (2558), The Collector คนประกอบผี (2561) จนถึงผลงานล่าสุดคือ โฮมสเตย์ (2561)  การเขียนบททำให้เขาได้เรียนรู้และเข้าใจความคิดของมนุษย์ ทำให้แต่ละการกระทำของตัวละครถูกกลั่นกรองมากกว่าเดิม เอกบอกว่าเขารู้สึกเติบโตขึ้นทุกครั้งที่เขียนบท

    "โฮมสเตย์ มันคือเราที่โตขึ้น ลุ่มลึกขึ้น เข้าใจมนุษย์มากขึ้น ไม่ค่อยห้าวเท่ากับตอน 13 เกมสยองแล้ว ลึกๆ เราก็เสียดายความบ้าคลั่งพวกนั้นนะ ตอนนี้เรานิ่งเกินไป เราเข้าใจโลกเกินไป 'เออ ไม่ต้องไปเดือดหรอก เราทำอะไรไม่ได้หรอก' แต่ตอน 13 เกมสยอง คือ 'ไม่ได้! เราต้องลุยดิ เราต้องฆ่าเด็กแว้น' แต่ตอนนี้เราเข้าใจว่า เด็กแว้นเขาก็มีปัญหาของเขา เราไม่ควรจะรุนแรง เรากลายเป็นคนละคนไปแล้ว เหมือนมันย้อนกลับนะ ตอนที่เราไม่มีเวที เราห้าวและอยากเขียนมาก เลือดพลุ่งพล่าน แต่พอเรามีเวทีของตัวเอง มันกลับเปลี่ยนไปหมด โคตรไม่พอดีเลย แต่โลกมันก็เป็นแบบนี้แหละ"

    ความเข้าใจนี้ ส่งผลต่อการ์ตูนในเพจ 'เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ (Eakasit Thaisaat)' เช่นกัน เพราะไม่นานมานี้ เอกเพิ่งมีเวลากลับมาวาดการ์ตูนอีกครั้งหลังห่างหายไปนาน ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี ทั้งจากแฟนคลับและผู้ที่ผ่านมาพบเจอ

    "พอดีช่วงนี้ เรามีเรื่องไวรัสเข้ามา แล้วเราพึ่งได้ iPad มาใหม่ รู้สึกคันมืออยากวาด ก็เลยลองวาดลงเพจดู ปรากฎว่า คนแชร์เยอะ เรารู้สึกว่ามันเป็นโอกาสดีนะ เราก็เลยหยิบคาแรกเตอร์หนึ่งในนั้น คือ คุณสมอ๊อก มาวาดต่ออีกพาร์ทหนึ่ง ตอนนี้ก็ยังงงๆ อยู่ ว่าจะทำยังไงต่อไป จริงๆ เพจนี้เราตั้งมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่เราทำอะไรไม่ค่อยเป็น ก็มีลงงานบ้าง เรียกว่าพึ่งมาจับเป็นเรื่องเป็นราว ก็ตอนนี้แหละ"

     เอกเล่าถึงความตั้งใจแรกในการเขียนการ์ตูนเรื่องนี้ว่า "ตอนนั้นเราแค่อยากจะพลิกความรู้สึกของคนบ้าง อย่าง คุณสมอ๊อกจะมีคาแรกเตอร์ดึงอารมณ์คนให้ใจเย็นลง เพราะเรารู้สึกว่า สังคมโซเชียลทุกวันนี้มันเร็วมาก เห็นใครผิดก็พร้อมประหารตลอดเวลา คนที่พยายามดึงมักจะถูกด่าว่าโลกสวย สำหรับเรามันไม่ใช่คำด่านะ เราไม่ได้โลกสวยจนเลี่ยน จนไม่ดูตาม้าตาเรือ แต่เราอยากให้คนใจเย็นลงซักนิด แล้วย้อนกลับไปคิดอีกมุมบ้างเท่านั้น"

    เอกบอกกับเราว่า คุณสมอ๊อกคงเป็นตัวแทนของเขาในวัย 46 ปีที่มองโลกเปลี่ยนไป

    "พอเราอายุเท่านี้ เรารู้สึกสงสารกับทุกสิ่งที่เราเห็น สมมติมีฆาตกรเกิดขึ้นมาแล้วสังคมตราหน้า แต่เรามองว่าพ่อแม่เขาจะเป็นยังไง เพราะเราเองก็มีลูก ถ้าเกิดลูกเราไปฆ่าใคร มันเจ็บเหมือนกันนะถ้าเขามาด่าเรา ขณะที่ตัวฆาตกรเองก็เคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่โดนอะไรบางอย่าง ทำให้เขากลายเป็นฆาตกร เราเลยอยากจะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้บ้าง เราไม่ได้ส่งเสริมให้ทุกคนทำผิดนะ แต่เราแค่อยากให้สังคมใจเย็นๆ แล้วทบทวนตัวเอง กลับมาดูคนรอบตัวว่า เราดูแลเขาดีหรือยัง ลูก พ่อแม่ เพื่อน เราทิ้งใครไว้ข้างหลังไหม เราสร้างฆาตรกรโดยไม่ได้จำเป็นขึ้นมารึเปล่า มันอาจจะฟังดูเหมือนคนแก่พูดนะ แต่พอถึงอายุหนึ่ง ตัวเราจะมองเห็นโลกเป็นแบบนี้จริงๆ"

    ขณะเดียวกัน เอกก็สร้างคาแรกเตอร์คุณฉลามไว้เป็นตัวแทนความห้าวเป้งในวันเก่า เพื่อให้การ์ตูนของเขามีหลายแง่มุมมากขึ้น

    "เราหวังลึกๆ ว่า ในความสนุก ความน่ารัก การ์ตูนของเราจะกระตุ้นอะไรบางอย่าง ให้คนย้อนกลับมาคิดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกปัจจุบันได้บ้าง ก็คงดีไม่น้อย"

    เอกทิ้งท้ายไว้เช่นนั้น ก่อนที่บทสนทนาจะจบลงอย่างเรียบง่าย

Favorite Something
  •   oldboy (2003), Mother (2009)
  •   คำตอบ - Safeplanet, กุหลาบสีดำ - T bone
  •   AKIRA - Otomo katsuhiro, ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน - Austin Kleon
  •   อ.เกริก ยุ้นพันธุ์, หลวงปูชา สุภัทโท

นิษณาต นิลทองคำ

กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา

จรูญรัฐ วิธูสุวรรณ

อดีตช่างภาพนิตยสาร มาเปิดบริษัทของตัวเองได้สักพัก ยังสนุกกับงานถ่ายภาพอยู่เสมอ โดยเฉพาะการถ่ายภาพผู้คน ตอนว่างจะชอบหนีไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แก้เบื่อด้วยการถ่ายสถานที่และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ