จ้า อพาร์ตเมนต์คุณป้า ชีวิตที่มีดนตรีเพื่อปรับใจให้แจ่มใส และดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรง #ชีวิตดีเริ่มที่เรา

    ซอยเล็กๆ ถัดจากถนนสุขุมวิทเต็มไปด้วยความสงบ และร่มเงาจากอาคารสูงที่พาดผ่านบริเวณหน้าบ้านของ จ้า-ทรรศน์ฤกษ์ ลิ่มศิลา พอดิบพอดี เขาออกมาต้อนรับเราด้วยท่าทีสบายๆ เป็นกันเอง พร้อมกับแมวขี้อายที่แวะเข้ามาทักทายและวิ่งออกไปหลบยังที่ประจำ 

    นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่เขาให้สัมภาษณ์ โดยปราศจากเพื่อนร่วมวง 

    ใครเป็นแฟนคลับวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า คงรู้จักชายคนนี้เป็นอย่างดี เขาเป็นมือกลองประจำวงดนตรีอินดี้ที่ดำเนินมาถึงปีที่ 17 แล้ว พวกเขามีอัลบั้มฮิตขวัญใจสายติสต์ อย่าง บางกอกเลิฟสตอรี (2546), โรแมนติกคอมเมดี้ (2549), สมรสและภาระ (2551), รักรสนิยม (2559) และเมื่อปี 2561 พวกเขาเพิ่งปล่อยอัลบั้มชื่อเรียบง่ายว่า อพาร์ตเมนต์คุณป้า แบ่งเป็น 2 พาร์ตที่พาแฟนเพลงเข้าไปท่องในโลกของ 'หมอกฝัน' และ 'ควันเมือง'

    ในยามที่เป็นนักดนตรี เขาส่งมอบความสุขให้กับแฟนๆ บนเวที ควบคู่ไปกับการเป็นอาจารย์สอนกลองชุด ประจำคณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตสุวรรณภูมิ แต่อีกบทบาทหนึ่งที่น้อยคนจะรู้คือ เขาเป็นนักดนตรีบำบัดให้กับเด็กออทิสติก ในโรงพยาบาลสมิติเวชมานานกว่า 20 ปีแล้ว ก่อนที่จะเป็นมือกลองให้กับวงอพาร์ตเมนต์คุณป้าเสียด้วยซ้ำ

    การเป็นนักดนตรีบำบัดของเขา เริ่มขึ้นหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ Berklee College of Music เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา จ้าเข้าอบรมด้านดนตรีสำหรับเด็กที่สถาบันยูริเทอร์มิกส์ เซ็นเตอร์ และเข้าสอนดนตรีเด็กอยู่ที่โรงเรียนมีฟ้าอยู่พักใหญ่ ทำให้เขาพอมีประสบการณ์ในการสอน และวิธีการเข้าหาเด็กเล็กอยู่บ้าง จนเมื่อปี 2543 โรงพยาบาลสมิติเวชเปิดแผนกเด็กพิเศษ และกำลังมองหาคนสอนในคลาสดนตรีบำบัด เขาจึงเป็นหนึ่งคนที่ถูกชักชวนให้เข้าร่วมโครงการนี้

    จ้าเล่าให้เราฟังว่า ในแต่ละคลาสมีเด็กอยู่ประมาณ 6-7 คน เขารับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการสอน ขณะเดียวกันก็มีพยาบาลกับนักจิตเวชคอยดูแล และช่วยเสริมทัพความสนุกให้กับเด็กๆ การทำงานกับเด็กพิเศษไม่ใช่เรื่องยาก เพราะพวกเขามีพฤติกรรมคล้ายกับเด็กเล็กที่เขาคุ้นเคยอยู่แล้ว

    "สมัยเด็กผมมีโอกาสได้พบเจอกับเด็กออทิสติกบ่อยๆ และได้คลุกคลีกับพวกเขาอยู่บ้าง พอมีโอกาสไปสอนดนตรีให้เด็กเล็ก เราจึงเข้าใจว่าพวกเขามีความคล้ายกันนะ เราเซตเพลงที่เด็กๆ น่าจะชอบไว้ แล้วก็เอาเพลงเหล่านั้นมาทำกิจกรรม ส่วนใหญ่เป็นการอิมโพรไวส์นะ เพราะถ้าเตรียมไปทีไร มักจะวุ่นตลอด" เขาหัวเราะ และพูดต่อว่า... "อย่างเวลาอยู่ในคลาส ถ้ามีเด็กคนหนึ่งพูดเรื่องอะไรขึ้นมา เราก็จะเล่น ร้องเพลงไปตามเรื่องที่เขาเล่า"

    ถ้าคุณกำลังสงสัยว่าคลาสดนตรีบำบัดหน้าตาเป็นยังไง ให้ลองนึกภาพเวทีขนาดใหญ่ มีนักร้องในดวงใจกำลังแสดงดนตรีสด และคุณกำลังกระโดดร้องเพลงด้วยความสนุกสนาน คลาสดนตรีบำบัดของจ้าก็เช่นกัน เขาสร้างคอนเสิร์ตขนาดย่อมให้เด็กๆ ผลัดกัน ร้อง เต้น เล่นให้สนุกสุดเหวี่ยง โดยมีเสียงกลองจังหวะสนุกสนานเป็นดนตรีประกอบ ซึ่งเขาค้นพบว่าเด็กหลายคนมีส่วนร่วมไปกับเพลงร็อกมากกว่าเพลงช้าฟังสบาย

ภาพระหว่างการสอนในคลาสดนตรีบำบัด

    "ผู้ปกครองบางคนมองว่าพื้นที่ตรงนี้มันเป็นความสุขของลูก มันเหมือนเราไปดูคอนเสิร์ต เหมือนการไปโบสถ์แล้วได้ร้องเพลง เขาได้มาเจอเพื่อน ทำกิจกรรม ได้ตีกลองง่ายๆ ร้องเพลง ถึงจะไม่ตรงจังหวะแต่เขาก็มีความสุขในแบบของเขา พอเขาสนุก เขาก็จะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และกล้าทำอะไรมากขึ้น"

    กิจกรรมง่ายๆ อย่างการแข่งกันยืนในกรอบสี่เหลี่ยม หรือการแสดงเป็นก้อนหิน ถูกนำมาใช้เสริมความอดทนให้กับเด็กๆ ที่มีปัญหาสมาธิสั้น หรือการฝึกให้เด็กพูดตามง่ายๆ ด้วยการร้องเพลง การนับจังหวะกลอง หรือหยิบยกคำพูดของเด็กๆ มาร้องเล่นให้เป็นเรื่องราว เรียกเสียงหัวเราะให้ดังขึ้นทั่วห้อง

    แม้บรรยากาศภายในคลาสจะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน แต่ก็มีช่วงเวลาที่พวกเขาก้าวร้าว หรืออารมณ์ฉุนเฉียวอยู่บ้าง ทำให้จ้าต้องปรับตัวและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดคิด แต่เขาก็ยังยิ้มกว้างยืนยันกับเราว่า เด็กๆ ในคลาสไม่เกเร และเข้าหาไม่ยากเลยซักนิดเดียว

    "คนชอบคิดว่าเด็กเหล่านี้เข้าหายาก จริงๆ แล้วไม่เลย เขาเป็นเหมือนคนทั่วไป ที่อาจจะมีปัญหาไม่ค่อยพูด เข้าสังคมไม่ค่อยเก่ง หรือไม่ค่อยมีสมาธิ เวลาเราเจอเขาครั้งแรก เราก็เข้าไปคุยเลย มันเริ่มจากเรื่องง่ายๆ เลยนะ อย่างเสื้อสวยจัง ชอบการ์ตูนตัวนี้เหรอ มันแค่นั้นเลย ไม่ได้มีการถามชื่อด้วยซ้ำ บางคนอาจจะอาย บางคนขี้กลัว บางคนเข้ามาเงียบๆ แต่พอเปิดเพลงให้ฟัง เขากลับชอบใจ กระโดดโลดเต้นเลยก็มี"

    โดยปกติแล้ว โรคออทิสติกเป็นความผิดปกติในสมองซึ่งแสดงอาการได้หลายรูปแบบ เด็กบางคนอาจไม่เข้าใจคำพูด ความรู้สึก หรือความต้องการของผู้อื่น หรือมีพัฒนาการด้านภาษาและสติปัญญาช้า ทำให้เด็กไม่สามารถที่จะสื่อสารกับคนรอบข้างและสังคมได้ ดนตรีบำบัดจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและกล้าแสดงออกมากขึ้น

    "มีน้องคนหนึ่ง ตอนแรกเขาไปโรงเรียนแล้วไม่ยอมพูดกับเพื่อน ไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย ผมก็ไม่อยากจะเชื่อเหมือนกัน แต่พอเขามาเรียนดนตรีกับเราได้ซัก 2-3 คอร์ส ประมาณ 3-4 เดือน คุณแม่เขาบอกว่า เขาสามารถกลับไปพูดคุยเล่นกับเพื่อนๆ ในสังคมได้ อาจารย์ที่โรงเรียนยังถามเลยว่า ผมสอนอะไร ซึ่งผมก็ไม่รู้หรอก ผมก็สอนไปตามประสบการณ์และความรู้สึกของผม แต่ก็มีนะเด็กบางคนที่มาเรียนแล้วไม่ชอบเลย มันเหมือนการลองผิดลองถูกว่าเด็กแต่ละคนเหมาะกับอะไร"

    นอกจากเสียงดนตรีจะมีส่วนช่วยเด็กๆ ในคลาสบำบัดแล้ว เสียงเพลงยังเป็นตัวช่วยสะสางจิตใจของจ้าให้แจ่มใส ในยามที่ต้องพบเจอกับปัญหาในชีวิตอีกด้วย

    "ผมเคยคุยกับตุล (ตุล ไวฑูรเกียรติ) ว่าจริงๆ แล้วดนตรีมันบำบัดได้ทุกอย่าง อย่างเวลาผมเป็นไมเกรน ผมนอนหลับตาฟังเพลงแจ๊ซซักพัก มันก็ทำให้ผมหายปวดหัวได้ เวลาเครียดแล้วได้ไปดูคอนเสิร์ตหรือเวลาผมขึ้นไปเล่นบนคอนเสิร์ต เรื่องที่เคยกังวลมันหายไปหมดเลยนะ มันดีขึ้นมากๆ มันมีสารที่ทำให้เรามีความสุขหลั่งออกมา"

    โดยปกติแล้ว ระหว่างออกกำลังกาย ร่างกายคนเราจะหลั่ง 'สารเอ็นโดรฟิน' หรือสารแห่งความสุขออกมา ช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้น และช่วยลดภาวะความเครียด ความซึมเศร้าให้ทุเลาลงได้ เช่นเดียวกัน การได้พักผ่อน ฟังเพลงที่ชอบ ก็มีส่วนช่วยให้จิตใจเราแจ่มใส และส่งผลให้สุขภาพกายเราพร้อมสำหรับการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ได้เช่นกัน

    ขณะเดียวกัน เสียงเพลงก็เป็นเพื่อนออกกำลังกายคนสำคัญที่เขาขาดไม่ได้ เมื่อไม่นานมานี้ จ้าตรวจพบว่ามีคอเลสเตอรอลสูงขึ้น ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้น เขาจึงหันกลับมาดูแลตัวเอง เริ่มจากควบคุมอาหาร ควบคู่กับการออกกำลังกายในฟิตเนส เข้าคลาสโยคะและพีราทิสบ้าง หรือเปลี่ยนบรรยากาศออกไปวิ่งที่สวนลุมพินีในวันที่อากาศแจ่มใส พร้อมกับเปิดเพลงที่ชอบฟังระหว่างออกกำลังกายไปด้วย

    "ผมไม่ใช่คนวิ่งเก่งนะ ผมวิ่งเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น ส่วนใหญ่ผมจะวิ่งบนลู่วิ่งที่สามารถเปิดเพลงดูคอนเสิร์ตได้ เพลงเป็นกำลังใจหลักให้ผมออกกำลังกายเลยนะ มันช่วยให้เรารู้สึกสนุกระหว่างออกกำลังกาย แป๊บเดียวก็ครบ 40 นาทีแล้ว ถ้าเราวิ่งเฉยๆ ในความรู้สึกเรามันนานมากเลยนะ" เขาปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ

    ตลอดการสนทนา เราสังเกตเห็นว่า จ้าดูเป็นคนอารมณ์ดีและมองโลกในแง่บวก เราคิดว่าการที่เขาได้คลุกคลีกับเสียงดนตรีที่เขารัก ทั้งในการทำงานและชีวิตประจำวัน เป็นตัวช่วยให้เขามีสุขภาพใจแข็งแรง และมีส่วนช่วยให้เขามีแรงดูแลสุขภาพกายยิ่งขึ้น เมื่อร่างกายพร้อม หัวใจพร้อม การส่งมอบความสุขและการส่งต่อความรู้ให้กับคนรอบตัวก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

    บางครั้งความสุขในชีวิตของคนเราก็เกิดขึ้นง่ายๆ แค่ได้ฟังเพลงที่ชอบ แนวเพลงที่ใช่ ผ่านลำโพงบลูทูธและสมาร์ทโฟนคู่ใจ ระหว่างการออกกำลังกาย เป็นความสุขที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย แต่ก็เป็นชีวิตดีที่เริ่มต้นง่ายๆ จากตัวเรา



    สำหรับผู้อ่านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ จ้า-ทรรศน์ฤกษ์ ลิ่มศิลา แล้วอยากเริ่มต้นชีวิตดีๆ ในแบบของตัวเอง สามารถคลิกเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา

นิษณาต นิลทองคำ

กองบรรณาธิการที่กำลังใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ชอบคุยกับผู้คน ท้องฟ้า และเสียงดนตรี เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการฟังเพลง ที่บางทีก็ปล่อยให้เพลงฟังเรา

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพที่เป็นนักเขียนที่เป็นช่างภาพที่ชอบไปเที่ยวที่เป็นนักเขียนหนังสือท่องเที่ยวที่เป็นช่างภาพให้หนังสือตัวเองที่เป็นนักเขียนเอาเวลาว่างจากที่เป็นช่างภาพที่เป็นงานประจำไปเป็นนักเขียนพ็อกเก็ตบุ๊กมา 5 เล่มแล้วและช่วงนี้ก็ชอบปลูกต้นไม้ด้วย