หลายคนคงคุ้นเคยกับวงหญิงล้วนที่มีซาวนด์ทางดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยการร้องประสานของ Yellow Fang ตั้งแต่ปล่อยเพลงแรกออกมาให้ฟังในปี 2008 ซึ่งเริ่มต้นจากคอนเสิร์ต Home Sweet Home ของ Sqweez Animal ได้ให้โจทย์พวกเธอแต่งเพลงและเล่นเปิด จึงแต่งมา 3 เพลง นั่นคือ 'วาเลนไทน์' 'เก็บผ้า' และ 'เลี้ยง' เป็นจุดเริ่มต้นให้ทำเพลงกันต่อมาเรื่อยๆ
Yellow Fang ประกอบด้วย 3 สมาชิก ได้แก่ แป๋ง-พิมพ์พร เมธชนัน (ร้อง, กีตาร์), พิม-ปิยะมาศ หมื่นประเสริฐดี (ร้อง, เบส), แพรวา-แพรวา จิรประวัติ ณ อยุธยา (ร้อง, กลอง) รู้จักกันจากการเป็นรุ่นพี่และรุ่นน้องที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะร่วมเล่นดนตรีจนมาเป็นสมาชิกวงที่เหนียวแน่นถึงทุกวันนี้ ซึ่งนอกจากเรื่องดนตรีแล้ว พวกเธอยังประสานการใช้ชีวิตและการเดินทางไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
พวกเธอเล่าให้ฟังว่าการทำงานช่วงแรกๆ ของวงที่ไม่สังกัดค่าย แต่ละคนคุ้นชินกับการเล่นสดมาเป็นปีๆ การเข้าห้องอัดจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและต้องใช้การเรียนรู้ ทั้งในเรื่องของความพอดีและความไม่เข้าใจในกระบวนการต่างๆ ของการทำเพลง
การทดลองอะไรใหม่ๆ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับพวกเธอ เริ่มตั้งแต่การซื้ออุปกรณ์เอง หรือหาคนใกล้ๆ ตัวมาช่วยโปรดิวซ์กันอีกที เช่น ต้า-อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา (นักร้อง, มือกีตาร์ และนักแต่งเพลง วง Paradox), ต้น-ธนัญชัย ชนะโชติ (โทนี่ ผี), เจ-มณฑล จิรา (โปรดิวเซอร์), ปริญญ์-ปริญญ์ อมรศุภศิริ (Death of a Salesman), Yaak Lab และศิลปินอีกมากมาย ส่งผลให้ Yellow Fang เรียนรู้การทำงานในห้องอัดได้อย่างระดับมืออาชีพ เริ่มรู้ว่าถ้าอยากได้เสียงแบบนี้ต้องทำอย่างไร จะสื่อสารกันอย่างไร ไม่เคอะเขินกันเหมือนในช่วงแรก
จากนั้นวิธีการทำงานก็ลงตัวตอนที่ได้โปรดิวเซอร์มือโปรอย่าง เท็ดดี้-ธีรดล ธีโอดอร์ แกสตัน (มือกีตาร์วง Flure) มาดูแลการทำงานของวงจนถึงทุกวันนี้ แพรวาพูดถึงความรู้สึกที่ทำงานกับเท็ดดี้ว่า
"ด้วยความที่เราไม่มีค่าย เราจึงไม่มีเวลาแน่นอนในการทำ Yellow Fang เรียกว่าเป็นโปรดักชั่นตามใจฉันเลยก็ว่าได้ เพราะพวกเราค่อนข้างโลเลและทำงานกันช้า ไม่เหมือนทำงานในค่าย ในบางครั้งรับฟังกันแล้วใช้เวลาเยอะ เพราะทุกคนอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ถ้ามีใครช่วยเคาะ มันก็เร็วดี ส่วนพี่เท็ดดี้พยายามเคี่ยวเข็ญให้เขียนเพลง หรือมีเวลาให้กับการทำเพลงมากกว่านี้ เขาบอกว่าพวกเราไปได้ไกลกว่านี้มากๆ อาจจะได้ทัวร์ทุกวันหรือมีงานตลอด แต่พวกเราไม่ได้อยากอยู่กับดนตรีอย่างเดียว เพราะไม่ได้ทำเพื่อหารายได้ มันควรอยู่ในจุดที่บาลานซ์กับชีวิตทั้งสามคน จนถึงตอนนี้ก็เป็นจุดที่โอเคกับทุกคน"
เท็ดดี้พัฒนาวิธีการทำงานเพลงอย่างก้าวกระโดด และยังเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้วงทำเพลงใหม่ๆ และน่าจะสำเร็จเป็นอัลบั้มใหม่ภายในปีนี้ด้วย
แพรวาเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Yellow Fang ได้ไปเล่นเทศกาลดนตรีที่ต่างประเทศว่า ตอนนั้นมีการหาวงจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเล่นในปีแรกของเทศกาลดนตรี Summer Sonic แล้วได้รับการติดต่อให้กลับไปเล่นอีกครั้งในปีต่อมา หลังจากนั้น Yellow Fang จึงเริ่มมีชื่ออยู่ในเทศกาลดนตรีต่างประเทศเรื่อยมา ซึ่งตอนนี้ถ้าเราลองค้นหาคำว่า Thai Indy Band ก็มักจะเจอชื่อ Yellow Fang อยู่ในนั้น
พิมเล่าถึงความรู้สึกที่ได้โอกาสไปเล่นเทศกาลดนตรี "รู้สึกเป็นเกียรติมากกับการเดินทางไปเล่นเฟสติวัล ต่างประเทศ เพราะไม่รู้ว่าประเทศเอเชียด้วยกันเขากระหายอยากฟังเรา เหมือนเราเป็นตัวแทนของผู้หญิงธรรมดา ชอบแฟชั่น แต่งตัวก็เป็นผู้หญิง คนก็จะพุ่งเข้ามาคุย ด้วยความที่เป็นวงผู้หญิงเล่นดนตรี อย่างคนไทยรู้จักเราอยู่บ้างแล้ว ก็จะร่วมสนุกกันอีกแบบ แต่ต่างประเทศไปเล่นแล้วคือคนให้ความสนใจมาก ก็รู้สึกชนะใจเขาแล้ว"
ในส่วนของการออนทัวร์ฝั่งเอเชีย เริ่มจากเพื่อนคนญี่ปุ่นชวนไปเล่นที่ญี่ปุ่น ซึ่งระหว่างอยู่ที่นั่นก็เกิดโปรเจกต์เพลง 'Morning' และได้ไปเล่นช่อง Underground Live Broadcast ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น อย่าง DOMMUNE(ドミューン)
แป๋งช่วยเสริมว่า "เรารู้สึกว่าเพลงพาพวกเรามาไกลมากในช่วงเวลา 10 กว่าปี ซึ่งบางทีเราแค่อยากไปเล่นงานนี้หรืออยากไปประเทศนี้ แต่พอไปถึงแล้วได้รับการดูแลที่ดีก็จะรู้สึกประทับใจมาก คงเป็นเพราะเราไม่ได้คาดหวังด้วย ทั้งเรื่องค่าตอบแทนหรือสิ่งที่ต้องเจอ"
ทั้งสามคนเล่าให้ฟังถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่สามารถเชื่อมต่อกันผ่านเพลง อย่างวง Kikagaku Moyo ที่พวกเธอชื่นชอบก็เป็นวงที่เพลงเพราะแบบเอ็กโซติก เนื่องจากเพลงของวงนี้ไม่ใช้ภาษาใดในโลกเพื่อสื่อสารในเพลง แต่ใช้อารมณ์และความรู้สึกที่ถูกกลั่นกรองออกมาเป็นเสียงขณะเล่นดนตรี ทำให้พวกเธอได้เปิดโลกทัศน์ทางด้านดนตรีมากขึ้น และเกิดความสนุก ความตื่นตาตื่นใจในการเปิดรับสิ่งใหม่จากการเดินทางไปเล่นตามเทศกาลต่างๆ
ในหนึ่งเดือน Yellow Fang อาจรับงานไม่บ่อยนัก เพราะแป๋งเชื่อในหลักการเดินทางว่าควรใช้ช่วงเวลานานๆ เพื่อทำความรู้จักกับสถานที่และผู้คนอย่างแท้จริง "ไปเที่ยวแค่ 3-4 วันจะไม่มีทางเจอสิ่งใหม่แน่นอน ต้องไป 2-3 อาทิตย์ แล้วจะเกิดความรู้สึกแรร์เกิดขึ้น เป็นการรีชาร์จอีกแบบหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อสัมผัสบรรยากาศหรือวัฒนธรรมประเทศนั้น แล้วไม่ได้ไปจุดแลนด์มาร์กหรือแหล่งท่องเที่ยว จะไปตามพื้นที่ท้องถิ่นเพื่อสัมผัสความเป็นประเทศนั้น อย่างเวลาไปทัวร์ อาจจะเล่นแค่ไม่กี่วัน ที่เหลือก็เที่ยวต่อเป็นอาทิตย์ๆ การที่เราไปเล่นทำให้รู้จักคนในพื้นที่ เราไม่ได้วางแผนว่าวันนี้ไปไหน ทำอะไรบ้าง คือไปถามเขาเอาว่ามีอะไรน่าเที่ยวบ้าง สนุกมากเวลาไปเจอคนแล้วคุย แล้วก็เป็นเพื่อนกันเลย ได้เพื่อนใหม่ในแต่ละที่ เราไม่ได้ไปทัวร์เพื่อหาเงิน แต่เราเชื่อมต่อกันด้วยเพลง คัลเจอร์ และไลฟ์สไตล์"
การเดินทางเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในเทศกาลดนตรี ทำให้เห็นวงต่างๆ ฟังเพลงหลายแนว และเหมือนได้ค้นพบโลกใหม่ ทำให้พวกเธอเปิดใจในเรื่องของดนตรีมากขึ้น อย่างปัจจุบันพวกเธอคิดว่า Yellow Fang ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องดนตรีสามชิ้นตลอดไป เวลาไปต่างประเทศก็จะไปร้านดนตรีของประเทศนั้นๆ เพื่อดูว่ามีอะไรน่าสนใจให้นำมาเล่นได้บ้าง เช่น การนำเสียงของซีตาร์ที่เป็นเครื่องดนตรีของอินเดียมาใช้ในเพลง Morning เป็นต้น นอกจากนี้การได้เดินทางไปเล่นดนตรีบ่อยๆ ทำให้พวกเธอเริ่มจัดการกับความเหนื่อยได้มากขึ้น ส่งผลให้ความกังวลของการเล่นน้อยลง สบายใจ และอินกับเพลงได้มากขึ้น
แพรวายังแบ่งปันความประทับใจระหว่างการเล่นดนตรีที่เมืองไทยกับต่างประเทศว่า "การเดินทางไปเล่นดนตรีในแต่ละที่จะได้ความรู้สึกกลับมาไม่ซ้ำกันเลย คนดูต่างประเทศจะตื่นตาตื่นใจเหมือนเพิ่งเคยเจอกันครั้งแรกแล้วประทับใจ แต่เมืองไทย ถ้าไปเล่นร้านนี้ เรารู้อยู่แล้วว่าสนุกโคตร อย่าง ลาดกระบัง ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ หรือเมืองมหาวิทยาลัย เรารู้เลยว่าสนุกมาก เราจะต้องเจอน้องคนนี้แน่นอน เราเคยเจอหน้าคนนี้แล้วสามรอบ เดี๋ยวเขาจะมาคุยกับเรา มันก็อบอุ่นใจ เหมือนเราได้กลับบ้าน
"ส่วนเวลาไปเล่นเทศกาลดนตรีต่างประเทศ ก็จะเจอคนใหม่ๆ เจอ energy ใหม่ๆ ลองทำอะไรใหม่ๆ ขำๆ มีเพื่อนคนหนึ่งที่เกาหลี เขาบอกว่าดู Yellow Fang แต่ละครั้งไม่ค่อยเหมือนกัน บางทีเพลงนี้พิเศษขึ้นมา แต่เขายังสนุกกับการมาดูเรา"
ไม่เพียงแต่ประสบการณ์ทางด้านดนตรีเท่านั้น พิมยังเล่าเสริมอีกว่า "ตอนไปเล่น SXSW Music Festival ที่ออสติน เท็กซัส อเมริกา ในคืนวันศุกร์ที่คนคึกมากๆ พวกเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ยิงกันโดยบังเอิญ ซึ่งขณะที่กำลังทำภารกิจหาร้านขายของชำอยู่ ตอนนั้นพวกเราอยู่ในปั๊ม แล้วเห็นแก๊งสเตอร์ยืนขิงกันอยู่สักพัก จนเราได้ยินเสียงปืน 6 นัดติดกัน สิ่งที่ทำได้คือวิ่ง วิ่งไปก่อน เหมือนในหนังเลย แล้วเช้าวันต่อมาก็ต้องเดินทางไปทำงานกันปกติ โดยแยกกันมาจากคนละที่แล้วต้องมาเจอกันให้ได้"
สำหรับ Yellow Fang แล้ว การทำงานเป็นส่วนเล็กมาก แต่สิ่งที่ทำตลอดคือการอดหลับอดนอนเพื่อเที่ยว เพื่อไปดูว่าคลับของต่างประเทศเขาทำงานอย่างไร แล้วนำกลับมาปรับกับงานที่ทำอยู่ ซึ่งการเดินทางไปเล่นดนตรีด้วยกัน ได้เปลี่ยนแปลงพวกเธอ ไม่เพียงการมีโอกาสไปยังสถานที่ใหม่ๆ เจออะไรดีๆ เท่านั้น แต่ยังทำให้ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และดึงส่วนดีที่ได้พบเจอในหลากหลายวัฒนธรรม มาสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางของตัวเองต่อไป
การดำเนินชีวิตของทั้งสามคนมีความคล้ายคลึงกันตรงที่แต่ละคนทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน อย่างแป๋งเป็นทีมโปรโมเตอร์ที่ดูแลการนำศิลปินต่างประเทศมาเล่นในเทศกาลดนตรีอย่าง มหรสพ และมีแบรนด์เสื้อผ้า Trashback Archives ส่วนแพรวามี wibwabwubworld เป็น Glitter Tattoo Service ตามเทศกาลต่างๆ นอกจากนี้เราอาจจะคุ้นหูเธอในชื่อดีเจ PRAEWAPOWER ในคลับไนท์ที่ให้ความบันเทิงกับทุกคน สำหรับพิมยังคงรักในการทำงานศิลปะเรื่อยมา ซึ่งเธออาจจะแปรรูปสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นผลงานได้ในอนาคต โดยอีกมุมหนึ่งเรายังเห็นเธอตามงานแสดงหรือโฆษณาต่างๆ ในฐานะนักแสดงฟรีแลนซ์อีกด้วย
จุดร่วมของทั้งสามคนคือการทำวงและเติบโตในโลกของดนตรีไปพร้อมกัน เมื่อเพลงได้พา Yellow Fang เดินทางไปไกลทั่วโลก และวงกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเธอไปแล้ว
แป๋งพูดถึงการเล่นดนตรีที่เติมเต็มชีวิตของพวกเธอไว้ว่า "แน่นอนอยู่แล้วว่าดนตรีมันเติมเต็มชีวิตเรามากจนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ได้ทำเป็นอาชีพขนาดนั้น เลยไม่รู้สึกเบื่อ คือมันไม่บ่อยไป ไม่น้อยไป กำลังดี ไม่ได้จริงจังว่าต้องทัวร์ทุกวัน หรือวันนี้ต้องแต่งเพลงนะ พูดได้เลยว่าเราไม่ได้เป็นนักดนตรีมืออาชีพหรืออยู่เพื่อเล่นดนตรีเท่านั้น ดนตรีเป็นเหมือนพาร์ตหนึ่งของชีวิต ดนตรีมันอยู่ในจุดที่พอดีกับชีวิตของทั้งสามคน มีเวลาไปเที่ยว อยู่กับครอบครัว มีเวลาทำหลายๆ อย่างในชีวิตพร้อมกันได้"
ในช่วงตลอด 12 ปีมานี้ แฟนเพลงได้เติบโตและหัวใจพองโตไปพร้อมกับ Yellow Fang ในทุกบทบาทและทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น ต้องสารภาพเลยว่าไม่มีครั้งไหนเลยที่เปิดเพลงฟังแล้วเราจะไม่ร้องประสานตามไปด้วย
11936 VIEWS |
รักในการเฝ้ามองท้องฟ้ายามเย็น คุยกับยาย แกล้งหลาน และเล่นกับแมว
นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ