การส่งต่อความหมายและความรู้สึกสู่อีกขั้นผ่านภาพถ่ายของ ทอม-ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์

    บทสนทนาครั้งนี้กับ ทอม-ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ แน่นอนว่าต้องเกี่ยวกับการถ่ายภาพและภาพถ่าย นอกจากการเป็นช่างภาพแฟชั่นมืออาชีพที่มีผลงานปรากฏอยู่ในหน้านิตยสาร และรางวัลมากมายที่ได้รับจากการส่งภาพเข้าประกวดทั้งจากไทยและต่างประเทศมาแล้ว อีกด้านหนึ่งเขาคือศิลปินนักถ่ายภาพผู้ผสมผสานเนื้อหาภาพถ่ายที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผ่านมุมมองส่วนตัวออกมาเป็นชิ้นงานได้อย่างน่าสนใจ 
    หากใครเคยพบเจอตัวจริง จะรู้ว่าทอมเป็นคนน่ารักเป็นกันเอง และเต็มไปด้วยพลังบวกที่เอ่อล้นออกมาสู่คนรอบข้างเสมอ ดังนั้นโอกาสนี้เราจึงขอให้เขาเล่าแนวคิดและมุมมองการทำงานหลังกล้อง รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์และกระบวนการต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ กว่าที่จะสำเร็จออกมาเป็นผลงานภาพถ่ายที่ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมอย่างทุกวันนี้
การนำความสนใจส่วนตัวมาใช้สร้างสรรค์ผลงาน
    ความสนใจในแง่มุมที่หลากหลายของเขาสื่อสารผ่านภาพถ่ายบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น The Last Farewhale (2014) ชุดภาพถ่ายที่นำนางแบบแฟชั่นเข้าไปถ่ายกับซากวาฬ ให้คนตระหนักถึงการเสียชีวิตของวาฬจากอ่าวไทยและจำนวนวาฬที่ลดลงทั่วโลก หรือภาพถ่ายชุด Anatomy 101 (2016) ที่ทำร่วมกับช่างภาพแฟชั่น ปุย-สุรชัย แสงสุวรรณ เพื่อรณรงค์ให้คนทั่วไปสนใจเรื่องการบริจาคอวัยวะ ซึ่งนำไปจัดนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแม้จะมีประเด็นที่แตกต่างกัน แต่ก็มีเรื่องของแฟชั่นเข้าไปเชื่อมโยงอยู่ในผลงานเหล่านั้น
ภาพถ่ายชุด Anatomy 101 (2016)
    "เทคนิคของผมน่าจะเป็นเรื่องนวัตกรรมที่ผสมผสานศิลปะภาพถ่ายกับแฟชั่น เพื่อสะท้อนประเด็นต่างๆ ในสังคมหรือเรื่องราวของสิ่งที่ดูใกล้ตัวทำให้มันน่าสนใจ เข้าใจ และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น การจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ผ่านกระบวนการค้นคว้าที่ทุกอย่างสามารถเล่าเรื่องประเด็นต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกัน แล้วเว้นพื้นที่ให้คนได้คิดและตัดสินใจในประเด็นนั้นๆ น่าจะเป็นกระบวนการที่สำคัญในการสร้างสรรค์"
    อย่างภาพชุดล่าสุดที่แม้จะใช้วิธีการนำเสนอที่ต่างไปจากงานชิ้นอื่นๆ แต่ยังคงความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม
    "ภาพที่ชอบมากที่สุดตอนนี้น่าจะเป็นภาพที่ชื่อว่า The AfterLife ที่เพิ่งได้รับรางวัล Editor's Choice จาก The Independent Photographer, Visual Story Telling Awards 2019 ภาพนี้มันพูดถึงสิ่งที่ผมสนใจในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธรรมชาติและปัญหาของท้องทะเล โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพแฟชั่น และทำให้เห็นว่าภาพที่ดีมันสามารถสื่อสารได้โดยไม่ต้องใช้องค์ประกอบใดๆ มากมาย ให้มันพูดด้วยตัวของมันเอง"
ผลงาน The AfterLife (2019)
จากกระบวนการสร้างสรรค์ สู่การจัดแสดงผลงานในนิทรรศการ
    ทอมเป็นคนหนึ่งที่ชอบดูนิทรรศการศิลปะและภาพถ่ายอยู่เสมอ เพราะนอกจากจะได้ไปดูแนวทางการทำงานสร้างสรรค์ของศิลปินอื่นๆ แล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่จะได้พูดคุยกับผู้คนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่เมื่อถึงเวลาที่เขาจัดแสดงงานของตัวเองแล้ว นอกจากคอนเซปต์ สถานที่ จำนวนภาพ วิธีการเล่าเรื่อง การจัดไฟ ข้อมูลบรรยายใต้ภาพ พิธีเปิดนิทรรศการ รวมถึงการประชาสัมพันธ์แล้ว เขาบอกว่าในกระบวนการเบื้องหลังนั้นยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งศิลปินควรให้ความสำคัญอย่างมาก
    "อีกเรื่องหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญในรายละเอียดมากๆ ก็คือเรื่องการเลือกเครื่องพิมพ์และชนิดของกระดาษ ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องตัดสินใจเลือกให้ดีที่สุด เครื่องพิมพ์และประเภทกระดาษในการพิมพ์ที่ให้งานพิมพ์คมชัดในทุกรายละเอียดและเฉดสี จะช่วยตอบโจทย์งานพิมพ์ที่ต้องการความประณีต งานที่ต้องการแสดงรายละเอียดของ ภาพ แสง สี เงา และมิติได้อย่างถูกต้องตามที่ช่างภาพต้องการ"
    เขาบอกว่ากระบวนการผลิตชิ้นงานภาพถ่าย ทั้งการเลือกเครื่องพิมพ์ สี และกระดาษ ล้วนเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญในการสื่อสารความหมายจากภาพให้ผู้ชม "เอาจริงๆ มันก็คือทุกอย่างที่อยู่ในภาพนั้น การที่เราตัดสินใจว่าจะใส่อะไรให้อยู่ในภาพหนึ่งภาพนั้น มันคงจะมีนัยเพื่อสื่อสารถึงสิ่งที่ช่างภาพหรือศิลปินคนนั้นเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโทนของภาพ สีของภาพ ประเภทของภาพ ภาพถ่ายแต่ละหมวดหมู่ มันก็มีความหมายหรือสิ่งที่ทำให้คนอื่นรู้สึกเป็นลักษณะเฉพาะตัว"
The Family Portrait (2018) ผลงานที่แสดงถึงความรัก การยอมรับ และการสนับสนุนของครอบครัวที่มีสมาชิกเป็น LGBTQI โดย ปัน ปัน นาคประเสริฐ เป็นผู้แต่งหน้าและแต่งกายให้กับคุณพ่อ เกษม นาคประเสริฐ ด้วยตัวเอง
    "ซึ่งการใช้เครื่องพิมพ์ที่มีคุณภาพสูงมาช่วยก็สามารถช่วยสื่อสารถึงสิ่งเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี สำหรับผม เครื่องพิมพ์ 'Epson P-Series' สามารถรองรับการพิมพ์บนผิววัสดุและขนาดที่หลากหลาย ทำให้การผลิตงานในนิทรรศการสามารถจบได้ด้วยการใช้เครื่องพิมพ์เพียงเครื่องเดียว และหมึกแท้ของ Epson สามารถช่วยให้การพิมพ์เพื่องานแสดงออกมาตรงตามคุณภาพที่ต้องการเสมอครับ"
สัมผัสความรู้สึกที่มีต่อภาพถ่ายผ่านการพิมพ์ในแบบที่ไฟล์ดิจิทัลให้ไม่ได้

    เมื่อเขาเป็นคนหนึ่งซึ่งใช้ช่องทางออนไลน์เผยแพร่ผลงานของตัวเองสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะทางเว็บไซต์ tompotisit.com หรือเพจเฟซบุ๊ก Tom Potisit Photography แต่เขาก็ยืนยันว่าการพิมพ์ชิ้นงานภาพถ่ายมีคุณค่าและให้ความหมายมากกว่าการเป็นไฟล์ดิจิทัลมากนัก

    "สำหรับศิลปินนักถ่ายภาพ คุณค่าชิ้นงานที่พิมพ์ออกมามันมีมากกว่าการบันทึกเป็นไฟล์มาก การพิมพ์ภาพและการเลือกใช้พื้นผิวของวัสดุที่ใช้พิมพ์มีผลอย่างมากต่ออารมณ์ของภาพ และบางทีก็เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากเหมือนกัน คิดง่ายๆ การถ่ายภาพคือการบันทึกความนึกคิดของช่างภาพ การพิมพ์ภาพคือการทำให้ภาพนั้นดูมีชีวิตขึ้น ถ้าเป็นพวกภาพขาวดำหรือภาพสีเป็นแนวธรรมชาติ ผมก็จะเลือกใช้กระดาษที่มีเท็กซ์เจอร์ ถ้าเป็นงานภาพถ่ายแฟชั่นหรือภาพถ่ายวิวทิวทัศน์ ส่วนใหญ่ผมก็จะเลือกการใช้กระดาษมันเงา อารมณ์ของภาพที่ส่งผ่านพื้นผิวของวัสดุนั้นสำคัญจริงๆ เครื่องพิมพ์คุณภาพสูงจะสามารถถ่ายทอดทุกความรู้สึกให้กับทุกภาพศิลปะ ไปสู่อีกขั้นของประสิทธิภาพงานพิมพ์ได้ ซึ่งในการแสดงนิทรรศการส่วนใหญ่ผมจะแสดงภาพที่มีขนาดใหญ่ เครื่องพิมพ์ที่มาพร้อมกับชุดสีที่รองรับการพิมพ์บนผิววัสดุและขนาดที่หลากหลาย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับผมในการแสดงงานแต่ละครั้ง"

    หลายครั้งที่เขามองผลงานที่พิมพ์ออกมาแล้วยังเซอร์ไพรส์ว่ามีรายละเอียดหรือองค์ประกอบในภาพที่เขาเห็นมากกว่าการมองจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น อีกทั้งกระดาษและหมึกคุณภาพดียังช่วยขับเน้นคุณค่าของงานศิลปะภาพถ่ายที่สามารถอยู่คงทนต่อไปได้อีกเป็นร้อยปีอีกด้วย

ทอมกับภาพถ่ายชุด The Last Farewhale (2014) ของเขา
    ตลอดระยะเวลาที่คุยกับเขาทำให้เรารู้ว่ารายละเอียดที่อยู่ในทุกกระบวนการสร้างสรรค์ ตั้งแต่ประสบการณ์ มุมมอง เทคนิคการถ่ายภาพเฉพาะตัว จนกระทั่งการเลือกเครื่องพิมพ์ สี และกระดาษเพื่อพิมพ์งานสำหรับการจัดแสดง ล้วนมีส่วนสำคัญในการผลักดันผลงานภาพถ่ายของเขาให้ประสบความสำเร็จ
    ก่อนจากกัน ทอมมีคำแนะนำดีๆ สำหรับคนที่มีความฝันอยากเป็นศิลปินนักถ่ายภาพเหมือนกับเขาว่า นอกจากการฝึกฝนทักษะและความพยายามหาความรู้ใส่ตัวแล้ว อีกสิ่งที่ต้องการเน้นย้ำคือการใช้ภาษาที่สอง อย่างภาษาอังกฤษ ที่จะทำให้ศิลปินสามารถใช้สื่อสารกับต่างประเทศได้ ซึ่งนั่นจะช่วยให้ผลงานเดินทางไปได้ไกลขึ้น และทำให้คนรู้จักผลงานมากขึ้นด้วย

ดุสิตา อิ่มอารมณ์

นักเขียน ผู้ใช้พื้นที่ในเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ขี่จักรยาน อ่านการ์ตูน เล่นเลโก้ ฯลฯ โดยเชื่อเต็มหัวใจว่าเวลาที่หมดไปกับความรื่นเริงนี้สามารถเติมเต็มชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ