ถิงและเจอร์รี่ ผู้อยู่เบื้องหลังงานเทรดแฟร์ด้านคราฟต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

    วันหนึ่งในฤดูฝน ที่ร้าน happening library โครงการดาดฟ้า ลาซาล เราได้มีโอกาสต้อนรับผู้มาเยือนจากประเทศไต้หวัน

    ชายหนุ่มชื่อ เจอร์รี่ เยน (Jerry Yen) ส่วนหญิงสาวชื่อ เฉิน จิง ถิง (Chen Jing Ting) ทั้งคู่เป็นสามี-ภรรยา และเป็นผู้จัดงานเทรดแฟร์ด้านคราฟต์ในไต้หวันที่ชื่อว่างาน Pop Up Asia ซึ่งจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2016 เป็นงานเทรดแฟร์ที่เติบโตขึ้นทุกปี และมีผู้เข้าร่วมงานปีละหลายหมื่นคน

    ในวันนั้นเรานัดแบรนด์ดีไซน์ 5 แบรนด์ที่เป็นเพื่อนๆ ของ happening มาลองพรีเซนต์ผลงาน สินค้าและไอเดียให้ถิงกับเจอร์รี่ได้ฟังและช่วยคอมเมนต์ ทั้ง 5 แบรนด์ ได้แก่ Cat Soup แบรนด์ที่ออกแบบเสื้อผ้าโดยได้แรงบันดาลใจจากแมว ผสมกับไอเดียแปลกๆ น่ารักๆ, Fluffy ice-cream แบรนด์ที่เริ่มต้นจากการทำซิลิโคนถนอมสายชาร์จมือถือรูปไอศกรีม ก่อนจะขยายไปสู่สินค้าอื่นๆ, White Hat นักวาดสาวที่มุ่งมั่นกับการวาดดอกไม้แล้วทำสินค้าจากภาพวาด, Wax Valley Candle Co. แบรนด์เทียนหอมที่ผลิตสินค้าด้วยไอเดียน่าประทับใจ และ Japfac แบรนด์กระเป๋ารุ่นใหม่ที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง

    การพูดคุยเป็นไปอย่างเกร็งๆ ในช่วงแรก แต่ก็ค่อยๆ ลื่นไหลในเวลาต่อมา ดีไซเนอร์บางรายพยายามพรีเซนต์เป็นภาษาอังกฤษแม้จะไม่ถนัดนัก แต่บางรายก็พรีเซนต์อย่างคล่องแคล่ว ในระหว่างการพูดคุย เราได้ยินประโยคที่เจอร์รี่เอ่ยถามดีไซเนอร์ชาวไทยอยู่บ่อยๆ 2 ประโยค

    "คุณต้องการอะไร"

    "คุณพอใจกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือยัง"

    และต่อไปนี้คือเรื่องราวของถิงกับเจอร์รี่ และสถานการณ์ปัจจุบันของ Pop Up Asia กับแวดวงงานคราฟต์ในเอเชีย

การพบปะของคนรักศิลปะ

    ย้อนไปปลายศตวรรษก่อน การรับรู้เรื่องศิลปะหรืองานดีไซน์ของชาวไต้หวันก็คล้ายกับในเมืองไทยเมื่อสัก 10 กว่าปีที่ผ่านมา คือหากคุณเป็นเด็กเรียนเก่ง ความคาดหวังของพ่อแม่ก็คือการให้คุณได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ เพื่อที่จะได้ทำงานดีๆ แล้วหาเงินได้เยอะๆ หากเด็กคนไหนบอกว่าอยากทำงานศิลปะ พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะรับไม่ได้ แต่พอถึงปี 2000 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ในปีนั้นมีการเปิดโรงเรียนสอนศิลปะและดีไซน์เกือบ 100 แห่งในไต้หวัน คนรุ่นนั้นหลายคนเลือกเรียนด้านดีไซน์และศิลปะ

    พอถึงปี 2004 คนที่เรียนจบด้านนี้ส่วนใหญ่ก็ตกงาน...

    "ในปี 2005 ฉันยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ฉันมีไอเดียทำอีเวนต์สนุกๆ ร่วมกับเพื่อนๆ เป็นอีเวนต์ชื่อว่า Campo ซึ่งเป็นงานที่มีการแสดงศิลปะหลายๆ อย่าง เช่น ฉันเอาวิดีโอที่ตัวเองทำมาฉาย ขายสินค้าดีไซน์โปรดักต์ของเพื่อนๆ ที่อยากแสดงตัวตน ทำไปทำมาก็กลายเป็นอีเวนต์รายเดือนในไต้หวัน เพื่อนของเพื่อนชวนกันเข้ามาร่วม เป็นอีเวนต์ที่เป็นศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่ไปโดยปริยาย งานจึงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ" ถิงเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่เธอเข้ามาเกี่ยวกับแวดวงนี้ "ตอนปี 2005 มันก็เป็นแค่อีเวนต์สนุกๆ กับเพื่อนๆ ในตอนนั้นที่ไต้หวันยังไม่มีงานแบบนี้ บางคนยังไม่รู้ว่าจะเรียกงานแบบนี้ว่าอะไรเลย" เธอหัวเราะ "บางคนเรียกว่าเป็นอาร์ตมาร์เก็ต บางคนเรียกว่าเป็นงานครีเอทีฟ คนส่วนใหญ่รู้แค่ว่าเรามีดนตรี มีงานศิลปะ มีเพื่อนๆ มีเครื่องดื่ม คนที่มาก็มีความสุข ทุกเดือนเรามาเจอกัน มาแลกเปลี่ยนไอเดียบางอย่างกัน ตอนนั้นมันค่อนข้างบริสุทธิ์ เราเรียกงานเราว่า Campo ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นชื่อบริษัทของเรา ตอนนั้นฉันก็ได้ประสบการณ์ในการทำอีเวนต์ และการทำงานร่วมกับคนที่น่าสนใจหลายๆ คน แต่มันก็ยังไม่ใช่ธุรกิจ"

    "Campo เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า 'พื้นที่' ครับ มันคือพื้นที่ให้คนมาเจอกัน เวลาผู้คนได้มาเจอกัน ก็มักจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น" เจอร์รี่เล่าถึงไอเดียของแคมโปที่เป็นพื้นที่แฮงเอาต์แลกเปลี่ยนไอเดียของศิลปินรุ่นใหม่ ที่ก่อกำเนิดในช่วงปีที่ยังไม่มีพื้นที่แบบนี้มากนัก

    เพราะมีเด็กที่เรียนด้านดีไซน์และศิลปะว่างงานอยู่ไม่น้อย งานแคมโปจึงเป็นเหมือนศูนย์รวมของคนกลุ่มนี้ไปโดยปริยาย งานขยายตัวใหญ่ขึ้นจนมีศิลปินที่เคยมาร่วมงานหลายพันคนเลยทีเดียว สื่อมวลชนหลายคนถึงกับบอกว่า แคมโปมีส่วนในการสร้างมูฟเมนต์นี้ขึ้นมาในไต้หวัน

    พอเรียนจบ ถิงตัดสินใจทำงานนี้เป็นอาชีพ เธอตั้งบริษัทร่วมกับเพื่อนๆ แต่ทำได้สักพัก บริษัทแรกของเธอก็ไม่ประสบความสำเร็จ เธอฮึดสู้อีกครั้งโดยตั้งบริษัทใหม่ด้วยตัวเอง ถิงบอกตัวเองได้อย่างมั่นใจว่าเธอชอบงานด้านนี้จริงๆ

    "ฉันประทับใจเวลาที่ศิลปินลงมือทำสิ่งที่ลุ่มหลง พวกเขาดูเปล่งประกายค่ะ" ถิงบอกเราด้วยรอยยิ้มและตาเป็นประกาย

    บริษัทที่สองของถิงชื่อว่า Campo Bag เริ่มต้นด้วยการเป็นเอเจนซี่ให้กับศิลปิน พาศิลปินไปขายงานในที่ต่างๆ รวมทั้งในต่างประเทศด้วย เจอร์รี่เข้ามาร่วมงานกับถิงในปี 2010 ถึงตอนนี้ถิงก็มีประสบการณ์ด้านนี้แล้วไม่น้อย พอได้เจอร์รี่มาช่วยดูด้านธุรกิจก็ยิ่งทำให้งานของทั้งคู่ชัดเจนมากขึ้น

การไปต่อหลังการผลิบาน

    หลังจากปี 2005 ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็เริ่มหันมาให้ความสนใจกับมูฟเมนต์นี้ มีการเปิดคอนเซปต์ช็อป ซีเล็กต์สโตร์หลายแห่ง หลังจากนั้นภาครัฐก็เริ่มให้ความสนับสนุนศิลปะและงานดีไซน์ กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้แวดวงนี้ในไต้หวันผลิบานจนมีศิลปินมากมายในปัจจุบัน

    เจอร์รี่บอกว่าในตอนแรกเริ่ม ตลาดศิลปะของไต้หวันเป็นเหมือนกับเวทีที่ใช้โชว์ผลงานของศิลปิน แต่พอมีการจัดมากขึ้น มีคนสนใจมากขึ้น อีเวนต์แนวนี้ดูจะเป็นที่ให้มาแฮงเอาต์มากกว่าจะมาค้นหาสิ่งใหม่ๆ เป็นสาเหตุให้เจอร์รี่และถิงตัดสินใจหยุดพักงานชั่วคราว

    "ตอนนั้นเราเดินทางมาเชียงใหม่เพื่อหาไอเดียใหม่ๆ เราไม่อยากทำอาร์ตมาร์เก็ตแล้ว เพราะมันกลายเป็นที่แฮงเอาต์มากกว่าจะเกิดการซื้อขายหรือการสร้างโอกาสกันอย่างจริงจัง เราไม่อยากเป็นเจ้าของร้านด้วย เพราะเราชอบเดินทางและพบปะผู้คนมากกว่า ในที่สุดเราก็ตัดสินใจทำ Pop Up Asia ในรูปแบบเทรดแฟร์ เพราะคิดว่ามันเป็นรูปแบบที่ช่วยศิลปินได้จริงๆ การจัดแฟร์แบบนี้น่าจะทำให้ศิลปินขายงานได้เป็นจำนวนมาก และยังรักษามูฟเมนต์ด้านคราฟต์และศิลปะต่อไปได้ด้วย เราสามารถไปจัดที่เมืองอื่นๆ ก็ได้ หรือชวนคนจากประเทศอื่นๆ มาที่ไต้หวันก็ได้ และเพราะเราอยากให้เทรดแฟร์นี้ช่วยส่งเสริมศิลปินในการทำธุรกิจที่ยั่งยืน เราจึงโฟกัสที่บีทูบี (Business to Business)" เจอร์รี่เล่าถึงที่มาของ Pop Up Asia

    "เป้าหมายของผมคือการช่วยอาร์ตมาร์เก็ตในไต้หวัน และพางานของศิลปินไปสู่ต่างประเทศ เราเคยพางานศิลปินไต้หวันไปประเทศต่างๆ เพื่อสร้างความร่วมมือและสร้างโอกาสระหว่างกัน ดังนั้นพอถึงปี 2016 เราก็เริ่มคิดว่านอกจากแค่ขายสินค้าหรืองานศิลปะไปยังต่างประเทศแล้ว หากเราอยากจะสนับสนุนศิลปินจริงๆ เราต้องสร้างระบบที่ดีขึ้นมาด้วย เราจึงสร้าง Pop Up Asia ขึ้นมาเป็นระบบสำหรับศิลปินที่อยากสร้างรายได้จริงจังจากผลงานของตัวเอง เรามีสโลแกนสองประโยคสำหรับ Pop Up Asia คือ Turn your passion into a Living เพราะสำหรับศิลปินต้องมีแพสชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่จะสร้างผลงาน และทำให้ผู้คนเห็นแพสชั่นที่อยู่ในผลงาน อีกประโยค Build up craft business ecosystem เราอยากเชื่อมโยงตลาดศิลปะต่างๆ เข้าด้วยกัน ช่วยเหลือศิลปินในที่ต่างๆ ให้สร้างธุรกิจขึ้นให้ได้ นี่คือเหตุผลที่เราทำ Pop Up Asia"

    ด้วยความที่เคยพาศิลปินไปทำงานในหลายประเทศ มีเพื่อนๆ ในต่างประเทศก็ไม่น้อย ถิงกับเจอร์รี่จึงใช้สายสัมพันธ์ที่สร้างสมมา 10 กว่าปีในการชักชวนศิลปินจากประเทศต่างๆ ให้มาร่วมงานเทรดแฟร์ครั้งแรกของตน งานปีแรกจัดที่ ซงซาน คัลเจอรัล แอนด์ ครีเอทีฟ ปาร์ก (Songshan Cultural and Creative Park) โดยใช้พื้นที่แวร์เฮาส์หนึ่งหลัง ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย พวกเขาได้ศิลปินกว่า 100 รายจาก 8 เมืองในเอเชียมาออกบูท และมีผู้มาร่วมงานถึง 12,000 คน ปีต่อมาถิงกับเจอร์รี่เพิ่มพื้นที่เป็น 2 แวร์เฮาส์ และเพิ่มเป็น 3 แวร์เฮาส์ในปี 2018 ซึ่งงานได้ขยายออกไปเป็นการชวนศิลปินจาก 20 เมือง และมีผู้มาร่วมงานถึง 50,000 คน

บรรยากาศงาน Pop Up Asia 2018

    "ปีนี้เป็นปีที่สำคัญมากๆ ของ PUA ปีนี้เราใช้พื้นที่ถึง 4 แวร์เฮาส์ในการจัดงาน เพื่อที่จะสื่อสาร 4 ขั้นตอนของธุรกิจแฮนด์เมด แวร์เฮาส์แรกเราพูดเรื่อง 'Made by Hand' เป็นเรื่องของงานคราฟต์ที่ทำด้วยมือ ที่เราจะเลือกงานคราฟต์ที่คุณภาพดีมานำเสนอ แวร์เฮาส์ต่อมาคือ 'Limited Production' และต่อด้วย 'Locally Made' ซึ่งเราจะพูดถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่างๆ และแวร์เฮาส์สุดท้ายคือ 'Customization Service' ซึ่งเราเชื่อว่าศิลปินหลายรายไม่ได้มีรายได้จากการขายชิ้นงานเท่านั้น แต่ยังสามารถทำงานของตัวเองให้เหมาะกับความต้องการพิเศษของลูกค้าได้อีกด้วย นี่คือ 4 ประเด็นหลักที่เราอยากพูดถึงในปีนี้ เราคาดหวังให้คนที่ทำงานแฮนด์เมดและดีไซเนอร์ที่ทำแบรนด์ของตัวเองได้มาร่วมงานนี้ เพื่อที่จะเข้าใจประเด็นเหล่านี้ เพราะคุณจะได้พบกับแบรนด์มากกว่า 100 ร้านที่มาออกบูทในงาน และเป็นปีแรกที่จะมีศิลปินจากอเมริกาและยุโรปมาร่วมงานด้วย" เจอร์รี่เล่าถึงงานในปี 2019 ให้ฟัง

    หลังจากทำงานด้านนี้มาหลายรูปแบบ เจอร์รี่บอกว่าหัวใจที่เขาและเธอทำงานนี้คือ มันต้องสนุก และต้องมีความเป็นเอเชีย

    "Pop Up Asia ไม่ได้พรีเซนต์แค่ไต้หวัน แต่มันพรีเซนต์เอเชียด้วย มันเป็นงานที่ตั้งใจจะบอกศิลปินว่า คุณสามารถทำให้ฝันของคุณเป็นจริงได้ในเอเชีย"

    ในช่วงหนึ่งของการสนทนา เราขอให้ถิงกับเจอร์รี่เล่าถึงสถานการณ์งานคราฟต์ในเอเชียให้เราฟัง

    "สถานการณ์ของเอเชียคือเราต้องหาเอกลักษณ์ของเราให้ได้ เพราะตอนนี้วัฒนธรรมจากตะวันตกแข็งแรงมาก เราดูหนังฮอลลีวู้ด เรารู้จักดาราฮอลลีวู้ด แต่ไม่รู้จักเอกลักษณ์ของเราเอง เป้าหมายของเราคือเราอยากรู้จัก และอยากให้คนรู้จักเอเชียมากขึ้น แล้วเราจะสามารถสร้างแนวร่วมของศิลปินเอเชียขึ้นมา และที่เราเลือกที่จะสนับสนุนศิลปิน ก็เพราะเราคิดว่าศิลปินสามารถสื่อสารด้วยภาษาที่งดงาม เป็นภาษาที่อยู่เหนือภาษาปกติ เพราะศิลปินสื่อสารด้วยหัวใจ เราจึงสนับสนุนการใช้ภาษาศิลปะในการทำความรู้จักและสร้างตัวตนของเอเชีย เป้าหมายต่อไปของเราคือการสร้างระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบขายส่ง (Wholesale) หรือบีทูบี ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยให้ศิลปินสามารถกลับมาโฟกัสกับการสร้างสรรค์ได้มากขึ้น และแม้ว่าเราจะเริ่มต้นได้อย่างดีเยี่ยมในไต้หวัน แต่เป้าหมายของเราคือการช่วยศิลปินในทุกประเทศในเอเชียให้เติบโตอย่างแข็งแรงไปด้วยกัน" หนุ่มไต้หวันกล่าวด้วยท่าทางสบายแต่จริงจังอยู่ในที

คำแนะนำสำหรับดีไซเนอร์

    เพราะงาน Pop Up Asia จะยังขยายเติบโตและจัดต่อเนื่องไปทุกปี เชื่อว่ายังมีศิลปินและแบรนด์ดีไซน์อีกจำนวนไม่น้อยสนใจไปร่วมงานนี้

    นี่คือคำแนะนำจากถิงและเจอร์รี่

    "ถ้าคุณอยากสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน มีเรื่องสำคัญ 3 อย่างที่ต้องคำนึงถึง สิ่งแรกคือคุณต้องระลึกว่าคุณกำลังทำธุรกิจ หมายความว่างานของคุณต้องมีคุณค่าบางอย่างต่อผู้คน อาจจะเป็นคนคล้ายๆ กับคุณหรือกลุ่มแฟนๆ ของคุณก็ได้ สิ่งที่สองคือธุรกิจของคุณต้องขยับขยายได้ จากประสบการณ์ของเราพบว่าศิลปินหลายรายไม่สามารถทำงานที่เป็นปริมาณมากได้ ไม่สามารถทำงานกับโรงงานได้ ทำได้แค่ผลิตด้วยตัวเองแล้วก็ขายเอง ดังนั้นปีนี้เราจึงใช้ธีม Micro Production เพื่อเป็นการผลักดันศิลปินเบาๆ ให้สามารถทำชิ้นงานในปริมาณที่มากขึ้นได้บ้าง แม้ว่าคุณจะเป็นคนตัวเล็กๆ ก็ตาม และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อคุณรู้ตัวว่าคุณกำลังทำธุรกิจ และอยากขยายธุรกิจ คุณต้องมีความสุขมากขึ้นด้วย เหมือนที่เราได้พบกับศิลปินไทย 5 แบรนด์ในวันนี้ ที่เรามักจะถามทุกคนว่า 'คุณต้องการอะไร' หรือ 'คุณพอใจกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือยัง' ผมคิดว่าสองคำถามนี้คือแรงจูงใจที่ดี มันคือการ Turn your passion into a living ครับ"

    "สิ่งแรกที่ฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับแบรนด์ก็คือ บุคลิกภาพ" ถิงให้ความเห็นบ้าง "ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกของสินค้า หรือเป็นตัวตนของศิลปินก็ตาม เพราะงานศิลปะ งานดีไซน์ มันเกี่ยวกับการแสดงตัวตน (Express yourself) คุณต้องเริ่มต้นจากตัวเอง คุณต้องใส่บุคลิกของคุณลงไปในโปรดักต์ของคุณ มันจะทำให้คุณแตกต่างจากคนอื่น เรื่องต่อมาก็คือ Pop Up Asia ไม่ใช่เรื่องของประเทศประเทศเดียว หมายความว่าไม่ว่าคุณจะมาจากประเทศไหน สินค้าของคุณควรจะเหมาะสำหรับทุกๆ ประเทศ แต่มันไม่ได้หมายความว่าต้องเหมาะกับทุกคนนะ ในแต่ละเมืองอาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบงานของคุณ ในไต้หวันอาจจะเป็นกลุ่มหนึ่ง ที่โตเกียวอาจจะมีอีกกลุ่ม คุณแค่ต้องหาคนกลุ่มที่ชอบงานของคุณในแต่ละเมืองให้เจอว่าคนแบบไหนที่จะเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของคุณ เราอยู่ในยุคสมัยที่สื่อสารกันได้ง่าย เดินทางได้ง่าย คุณควรจะรู้จักคนให้เยอะ พูดคุยกับคนที่แตกต่าง ทั้งในประเทศของคุณและในต่างประเทศ อย่าอยู่แต่ในเมืองของคุณหรือในบ้านของคุณ การมาออกงานที่ได้พบปะผู้คนเยอะๆ แบบ PUA ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง"

    "วันนี้เราได้พบกับแบรนด์ไทย 5 แบรนด์ เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจสำหรับเรา" เจอร์รี่พูดต่อ "ปกติเราจะเป็นที่ปรึกษาให้กับแบรนด์หรือศิลปินไต้หวันหรือยุโรป แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้สื่อสารกับดีไซเนอร์ชาวไทย อย่างหนึ่งที่เราอยากแนะนำ คือคุณต้องหาความเชื่อมโยงระหว่างสินค้าของคุณกับตัวของคุณ ถ้าคุณทำสมุดบันทึกขาย คุณต้องแยกให้ออกว่าคุณจะโปรโมตความคิดของคุณที่สื่อสารผ่านสินค้าที่เป็นโน้ตบุ๊ก หรือคุณแค่จะขายโน้ตบุ๊กเท่านั้น ชื่อของแบรนด์ต้องเชื่อมโยงกับสินค้า และควรจะเชื่อมโยงกับตัวคุณหรือความคิดของคุณเองด้วย อีกเรื่องที่สำคัญก็คือเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังสินค้าหรือชิ้นงานของคุณ ผมเห็นสินค้าบางอย่างที่ดูน่าสนใจมาก แต่ผมยังไม่รู้ว่าทำไมดีไซเนอร์ถึงทำงานชิ้นนี้ออกมา อย่างเช่น ถ้าคุณทำสินค้าเป็นรูปไอศกรีม คุณก็สามารถบอกที่มาง่ายๆ ว่าเป็นเพราะคุณชอบทานไอศกรีมมาก เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังสินค้าของคุณเป็นสิ่งสำคัญมาก และสิ่งสำคัญอีกเรื่อง ซึ่งผมเห็นด้วยกับถิงก็คือ คุณต้องรู้จักลูกค้าของคุณ เพราะเขาคือคนที่จะสนับสนุนคุณ ดังนั้นถ้าคุณจะมาร่วมงาน PUA คุณอาจจะต้องเตรียมคิดถึง 3 เรื่องนี้เอาไว้ด้วย เพราะคุณจะได้พบกับตลาดใหม่ ผู้คนใหม่ๆ แน่นอน" เจอร์รี่ปิดท้ายด้วยยิ้มกว้าง

    "คุณต้องการอะไร"

    "คุณพอใจกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือยัง"

    คำถามที่เจอร์รี่และถิงทิ้งท้ายให้เหล่าศิลปินยังคงลอยอยู่ในบรรยากาศอันร่มรื่นของโครงการดาดฟ้า ในขณะที่พวกเราทุกคนแยกย้ายกลับไปมุ่งมั่นทำแพสชั่นของเราให้อยู่ในชีวิตจริงให้ได้ต่อไป

Favorite Something
  •   Jerry Maguire (1996)
  •   Linkin Park
  •   The Alchemist - Paulo Coelho
  •   Mark McClure

วิภว์ บูรพาเดชะ

ผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening, บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening, กรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc), นักเขียน, นักแต่งเพลง, นักฟังเพลง และนักอ่านตัวยง

วรรณวนัช บูรพาเดชะ

ที่ปรึกษาทีม happening shop, เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและหนังสือ 'ญี่ปุ่นอุ่นอุ่น', นักเขียน ช่างภาพโฟโต้บุ๊ก 'Nagasaki Light' และไกด์บุ๊ก 'Kagawa Memories' นอกจากภาพถ่ายและงานเขียน สิ่งที่เธอสนใจเป็นพิเศษคือการนั่งสมาธิและการโปรยมุขไม่ขำ