เส้นทางชีวิตของเจ้าสำนักกำมะหยี่ อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง

    ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 วิภว์ บูรพาเดชะและฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งผู้คลุกคลีกับวงการหนังสือมายาวนานกว่า 10 ปี เธอคือผู้อยู่เบื้องหลังวรรณกรรมแปลร่วมสมัยหลายเล่ม โดยเป็นทั้งนักแปล  บรรณาธิการ หรือกระทั่งผู้จัดพิมพ์ ในนามของสำนักพิมพ์กำมะหยี่

    ด้วยแบรนดิ้งเด่นชัดจากสันหนังสือสีม่วง งานเขียนที่ได้รับการคัดมาแปลและจัดพิมพ์อย่างพิถีพิถัน ความหลากหลายอันประกอบไปด้วยงานนักเขียนระดับโลกและคลื่นลูกใหม่ร่วมสมัย ยกตัวอย่าง ฮารูกิ มูราคามิ, มิลาน คุนเดอรา, พอล ออสเตอร์, คาซึชิเงะ อาเบะ, โยโกะ ทาวาดะ ฯลฯ เหล่านี้เองที่ทำให้กำมะหยี่เป็นสำนักพิมพ์ที่นักอ่านไทยสายวรรณกรรมจำนวนไม่น้อยรักใคร่

    แต่ในความสำเร็จของสำนักพิมพ์สันสีม่วงนี้ ยังมีส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไปไม่ได้อย่าง มิว-อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง ผู้ก่อตั้งที่ทำทุกหน้าที่ตั้งแต่คัดเลือกเรื่อง หานักแปล เคาะการดีไซน์ เป็นกองบรรณาธิการตรวจสอบแก้ไขความถูกต้อง ติดต่อร้านหนังสือ บริหารสำนักพิมพ์ ดูแลสต็อก หรือกระทั่งสวมบทบาทนักแปลในบางครั้ง

    ชีวิตของมิวอยู่ที่ต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากเธอต้องย้ายตามหน้าที่การงานของสามีชาวฝรั่งเศส แต่เมื่อถึงเวลางานหนังสือที่จัดปีละ 2 ครั้ง เธอจะกลับไทยมาประจำบูท เพื่อพบปะเหล่านักอ่านผู้สนับสนุนสำนักพิมพ์ ซึ่งวันที่เราไปสัมภาษณ์ก็เป็นวันสุดท้ายที่เธออยู่ไทยพอดี

    เราย้ายจากบูทกำมะหยี่มาพูดคุยกันที่ร้านกาแฟในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มิวหรือที่เธอเรียกตัวเองว่า ป้าเจ้าสำนัก อยู่ในชุดกระโปรงสีบานเย็น สวมหมวกเบเร่ต์สีครีม ดูแตกต่างจากคำบรรยายในเว็บไซต์ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ว่า มิวคือ 'เด็กละครผมสั้นใส่เสื้อยืดรัดรูปสวมกางเกงเลเดินไปเดินมาของเพื่อนๆ'

    ไหนๆ ก็อ่านคำโปรยมาขนาดนี้แล้ว คงถึงเวลาเปิดอ่านเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงคนนี้เสียที รับรองว่าเส้นทางชีวิตเธอนั้นสุดโลดโผนและสนุกไม่แพ้หนังสือในเครือสำนักพิมพ์เธอเชียวล่ะ

บท 1 วัยเยาว์

    จุดเริ่มต้นในการอ่านของแต่ละคนมีที่มาอันหลากหลาย บ้างมาอ่านตอนโต บ้างเจอหนังสือถูกใจตั้งแต่เด็ก บ้างมาจากคนในครอบครัว ซึ่งมิวเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้รับอิทธิพลการอ่านจากแม่ของเธอ

    "เป็นนักอ่านตั้งแต่เด็กๆ เพราะแม่เป็นครูอยู่ต่างจังหวัดและเป็นนักอ่าน แม่รับสตรีสาร แล้วแม่จะดึงเซ็กชั่นเด็กให้เราอ่านทุกสัปดาห์ หลังจากนั้นก็ขยับไปอ่านนิยาย พระอภัยมณี อ่านหนังสือที่มีในบ้าน ก็อ่านไปเรื่อยๆ เรื่องมันตื่นเต้น มีสิ่งมหัศจรรย์มากมาย" เรานั่งฟังมิวพูดอย่างเพลิดเพลิน อารมณ์ในท่าทางและน้ำเสียงแสดงออกถึงความเป็นคนมั่นใจ

    นิสัยการอ่านของมิวต่อยอดไปเรื่อยๆ ถึงช่วงประถมศึกษาปีที่ 5 ก่อนย้ายไปเรียนโรงเรียนประจำ เธอมักใช้เวลาว่างขลุกตัวอ่านวรรณกรรมเยาวชนในห้องสมุด และเมื่อถามต่อว่า 'ทำไมถึงเลือกเรียนต่อคณะอักษรฯ' เธอก็หัวเราะร่วน

    "ไม่ได้เลือกเอง ถ้าคุยไปจะรู้ว่าชีวิตฉันไม่ได้เลือกเองสักอย่าง เรียนอักษรฯ เพราะสอบเทียบตอน ม.5 ได้ เราอยากเรียนธรรมศาสตร์ หัวขบถ แต่พ่อบอกว่าให้เลือกอันดับ 1 อักษรฯ จุฬาฯ ให้พ่อสักอัน ก็เลือกให้พ่อ แล้วดันสอบติด ไม่คิดว่าจะทำได้ พอสอบติดก็ไปเรียน"

    ด้วยความที่พ่อทำงานรับราชการที่ระยอง และเห็นว่ามีบริษัทญี่ปุ่นมากมาย จึงอยากผลักดันให้ลูกสาวเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อมาต่อยอดทำงานที่นี่ นิสิตปี 1 คณะอักษรฯ อย่างเธอจึงตามใจบุพการีและพบว่าเธอกับภาษานี้ไปกันไม่ได้

    "เรียนไปคอร์สนึงก็ไม่ไหวค่ะ ไม่สามารถ เจอคันจิตัวจีน มันไม่มีหลักการใดๆ ทั้งสิ้น เห็นตัวนี้เป็นตัวนี้ได้อย่างไร ฉันไม่เห็นรูปที่อยู่ในนั้น มันต้องจำ เลยดร็อป ไปบอกพ่อว่าจะเรียนละครค่ะ ที่เลือกเรียนละครเพราะทุกคนเริ่มต้นเท่ากันหมด ไม่มีใครเรียนพิเศษด้านละครมาแล้ว ไม่เหมือนสาขาภาษาที่มีคนพูดได้อยู่แล้วมาเรียน การแข่งขันมันสูง ยิ่งถ้าเป็นภาษาอังกฤษ เราอยู่ล่างๆ คนที่เก่งก็เก่งมากจนเราไม่อาจสู้ได้ในชาตินี้ เราก็ไปทางอื่น เรียนละครสนุกดี พี่ๆ ดูมีองค์กัน มีท่ามีทางมีสไตล์ สมัยนั้นไม่ต้องใส่เครื่องแบบไปก็ได้ อาจารย์ดูเท่ๆ เก๋ๆ เราก็ตามไปเรียนกับเขา เข้าไปก็เท่าๆ กับคนอื่น"

    แม้ไม่ได้เรียนวรรณกรรมมาโดยตรง แต่การเรียนละครที่ต้องอ่านบทละครต่างๆ อย่าง อีดิปุส (Oedipus) หรืองานจากปลายปากกา วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ก็ทำให้เธอได้ทักษะการวิเคราะห์ตัวละครที่สำคัญต่อการทำหนังสือมาด้วย

บท 2 ชีวิตเปลี่ยน

    หลังจากเรียนจบ มิวเริ่มชีวิตวัยทำงานด้วยการทำละครเวที ก่อนขยับไปทำงานรายการทีวี ซึ่งช่วงนั้นเธอเริ่มอินกับการอ่านมากขึ้นจากงานเขียนของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ แต่แล้วชีวิตการทำงานก็สะดุดลงราวกับละครเมโลดราม่า เธออกหักผิดหวังจากความรักจนต้องกลับบ้าน

    ด้วยความที่นานๆ ทีลูกสาวจะโศกเศร้าขนาดกลับบ้าน กอปรกับพ่อของเธอเพิ่งกลับจากทริปฝรั่งเศสและชอบคนกับความสวยงามของที่นั่น เขาจึงส่งเธอไปอยู่ประเทศนี้ทันที

    หญิงสาวปาดน้ำตาปัดมาสคาร่าไปขอวีซ่าและเดินทางไปใช้ชีวิต 2 ปีครึ่งที่ปารีสอย่างลอยไปลอยมา เพราะแรกถึงเธอไม่รู้จะเรียนอะไร บวกกับในใจไม่อินกับการละครแล้ว สุดท้ายเลยเลือกเรียนต่อภาษาไทยที่สถาบันสอนภาษาแห่งหนึ่ง

    ใช่ คุณอ่านไม่ผิดหรอก มิวเรียนภาษาไทยที่ฝรั่งเศสจริงๆ

    อย่างที่บอกว่าชีวิตเธอล่องลอยมาก ดังนั้น เธอจึงต้องเรียนอะไรก็ได้เพื่อต่อวีซ่า ซึ่งพี่ที่รู้จักก็แนะนำช่องทางนี้ กลายเป็นลูปชีวิตที่กลางวันไปเรียน กลางคืนรับจ้างเสิร์ฟอาหารอยู่พักใหญ่ แล้วเรื่องราวก็ดำเนินมาถึงคอนฟลิกต์ ตัวเอกตัดสินใจยุติชีวิตที่นี่แล้วเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนทันที

    แม้แทบไม่มีความทรงจำดีๆ เหลือติดในลิ้นชักทรงจำ แต่ถึงกระนั้นสิ่งที่หญิงสาวได้กลับมาด้วยคือ ประสบการณ์ที่แกลเลอรีกับพิพิธภัณฑ์จำนวนไม่น้อย ทั้งยังได้พัฒนาภาษาฝรั่งเศสแบบก้าวกระโดดจากการฝังตัวที่ห้องสมุดประชาชน

    ภาพตัดจากมหาวิหารน็อทร์-ดามมาเป็นวัดพระแก้ว เธอได้งานเป็นเลขานุการที่บริษัทหมวกกันน็อกสัญชาติฝรั่งเศสอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะลาออกมาเพื่อแต่งงานกับแฟนชาวฝรั่งเศสที่คบกันแบบรักๆ เลิกๆ

    ทว่ามิวก็ทำสิ่งที่คาดไม่ถึงอีกครั้ง เธอยกเลิกการแต่งงาน ตัดสินใจกลับบ้าน และเริ่มทำงานหนังสือจากจุดนี้

บท 3 เข้าสู่โลกหนังสือ

    ระหว่างที่คุยกัน พวกเราขำกันไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งกับเรื่องราวจากน้ำเสียงผสมอารมณ์ของผู้หญิงคนนี้ เอาเข้าจริง เหตุการณ์ที่เธอประสบมา ถ้าเป็นตัวเราเจอคงไม่สนุกนัก แต่เพราะความเอาตัวรอดเก่งผสมกับนิสัยทำอะไรตามใจตัวเองนี่แหละที่ทำให้ชีวิตมิวจัดจ้านโลดโผนได้ขนาดนี้ ซึ่งคนที่เธอรู้สึกขอบคุณที่สุดคงหนีไม่พ้นบุพการี ผู้ทั้งเชื่อมั่นและสนับสนุนเสมอมา

    "สงสารพ่อแม่มาก มันกลับมาอีกแล้ว รอบนี้จะทำอะไร เขาก็มองตาปริบๆ กลับมาบ้านครั้งนี้เริ่มเสนองานแปล ต้องทำอะไรสักอย่างเพราะกลับไปทำงานไม่ได้แล้ว เขามีคนใหม่ เราก็ไม่อยากทำแล้ว เล่มแรกคือ 'ปาฏิหาริย์รักต่างภพ' กับสำนักพิมพ์แพรว เป็นนิยายรักโรแมนติกเบสต์เซลเลอร์ของฝรั่งเศส แล้วก็ไล่มาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เราเป็นคนเสนอ มีแพรว วงกลม และนานมีบุ๊คส์ ช่วงนั้นหนังสือแปลฝรั่งเศสไม่ค่อยเยอะ งานร่วมสมัยก็ไม่ค่อยมี"

    'เพียงเรามีกัน แค่นั้นพอ' คือหนังสือเล่มที่มิวแปลและภูมิใจมากที่สุด เพราะเล่มหนา สนุก ประกอบกับเป็นช่วงที่เธอกำลังอินเลิฟกับรักครั้งใหม่ซึ่งกลายมาเป็นสามีในปัจจุบัน

    มิวในบทบาทนักแปลเริ่มหางานเขียนใหม่ๆ มาเสนอแปลตามสำนักพิมพ์ จนมาเจอกับ โจ้-วชิรา รุธิรกนก และได้เขียนงานให้อะเดย์ แฮพเพนนิ่ง ฟรีฟอร์ม และมติชนสุดสัปดาห์ จนช่วงก่อนแต่งงาน เธอก็ได้รู้จักกับ 10 เดซิเบลผ่านทางบล็อกของเขา

    "วันหนึ่งเขามาระยอง ทักมาว่าอยากเจอเรา ฉันก็ลังเลๆ แต่เขาก็มาหาแล้ว ไม่ไปก็ยังไงอยู่ เลยนั่งรถจากแกลงไปบ้านเพ นั่งคุยกัน ช่วงนั้นพยายามเอาต้นฉบับไปเสนอที่ต่างๆ แล้วคุณสิบก็บอกว่างั้นเราทำเลยสิ เขาบอกว่าเดี๋ยวจัดการเอง ไปหา บ.ก. คนทำไฟล์ทำปก แล้วจะส่งสายส่งให้ด้วย ฉันก็ได้ๆ เพราะช่วงนั้นยุ่งๆ ใจอยู่กับการแต่งงาน" พวกเราประสานเสียงหัวเราะดังลั่น

    "แล้วเขาก็ไปทำธุระของเขาจนเสร็จออกมาเป็นเล่ม เล่มแรกคือ 'คณิตศาสตร์ รส.' เขาขายเองอะไรเองทุกอย่าง มันเริ่มต้นเป็นสำนักพิมพ์กำมะหยี่ที่ตรงนั้น แล้วเรารู้จักกับคุณนพดล เวชสวัสดิ์ ช่วงนั้นมี 'ราตรีมหัศจรรย์ (After Dark)' แล้วมติชนไม่ทำ คุณนพดลก็มาเสนอเราว่าทำไหม มีสำนักพิมพ์แล้วก็ทำเล่มนี้สิ เราเลยทำ จากนั้นก็ทำอีก 2 เล่มคือ 'ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย (Norwegian Wood)' กับ 'แกะรอยแกะดาว (A Wild Sheep Chase)' ของคุณสิบก็ทำบ้างไม่ทำบ้างจนไม่ทำเลย หลังจากนั้นก็เป็นงานแปลมาตลอด"

    นับจากปีก่อตั้ง พ.ศ. 2551 กำมะหยี่ทำหนังสือมาแล้วกว่า 10 ชาติ 78 ชื่อเรื่อง ซึ่งการเป็นสำนักพิมพ์หนังสือแปลก็มีทั้งความยากง่ายต่างจากสำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานนักเขียนไทยอย่างเดียว

    "สมัยนี้ติดต่อกันง่าย และการคัดเรื่องแปลคือคัดจากสิ่งที่มีการคัดมาแล้ว เป็นการกรองขั้นที่ 2 ไม่ได้เอาช้างเผือกมาฝึก เป็นช้างที่เดินได้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำให้วิ่งได้หรือเปล่า แต่ทีนี้ก็จะมีกับดักอยู่มากมาย เช่น เป็นหนังสือที่ฮิตมากในประเทศเขา พอมาบ้านเราแล้วมันไม่ไป ก็เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนการเสี่ยงดวง ทีนี้พอจับอะไรไม่ได้ เราก็ต้องจับให้ได้ว่าทำไมเราถึงเลือกเล่มนี้มาเป็นหลักมากกว่าดูว่าเขาได้รางวัลอะไรมาหรือเขาขายดีมาก ตัวเลขพวกนั้นเราไม่อยากมอง เพราะมันขายดีบ้านเขา แต่ไม่ได้แปลว่าจะขายดีบ้านเรา"

    เจ้าสำนักกำมะหยี่จึงนิยามการทำหนังสือของเธอว่าเป็น 'การปรุงมาเสิร์ฟ' มากกว่าจะถามผู้อ่านว่าชอบกินรสไหนแล้วปรุงมาให้ หรือให้เห็นภาพกว่านั้น ฉันคงต้องยกคำอธิบายในเพจสำนักพิมพ์กำมะหยี่ที่ว่า 'เราทำหนังสือที่เราชื่นชอบ และเชื่อมั่นว่าจะมีคนอ่านที่รู้สึกเหมือนกัน' มาไว้ตรงนี้

    ส่วนไอเดียเรื่องสันปกสีม่วง มิวเฉลยว่าเป็นไอเดียของ อาร์ต-สุรัติ โตมรศักดิ์ เจ้าของ Try2benice Graphic Design Studio ผู้เก่งกาจเรื่องการออกแบบให้เป็นที่น่าจดจำ โดยรู้จักและติดต่อผ่าน วิภว์ บูรพาเดชะ ที่เคยได้อาร์ตออกแบบแบรนดิ้งให้นิตยสาร happening นั่นเอง

บท 4 บทส่งท้าย

    แม้กำมะหยี่จะดูเป็นสำนักพิมพ์ขนาดไม่เล็กนัก ทว่าจริงๆ แล้วทีมงานหลักมีเพียง 2 คนเท่านั้นคือ มิวและพี่ที่สนิทอีกคนหนึ่งผู้คอยรับดูแลเรื่องที่เมืองไทยให้ ส่วนนักแปล กองบรรณาธิการ และฝ่ายศิลปกรรมเป็นฟรีแลนซ์ทั้งหมด โดยมีเครือข่ายนักแปลประจำอยู่แล้ว บางโอกาสก็เปิดรับตามโซเชียลมีเดียบ้าง

    'แล้วจัดการอย่างไรถ้ามีข้อผิดพลาดเรื่องแปลผิดหรือหนังสือมีปัญหา' ฉันถามด้วยความสงสัยใคร่รู้ในฐานะที่ตัวเองก็เป็นนักอ่านคนหนึ่ง

    "เรามีทีม บ.ก. ที่เก่งมาก เรารู้ว่าเรามีจุดแข็งตรงไหนเพื่อเอาไปอุดจุดอ่อน ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ เราเลือกคนเก่าๆ เพราะการแปลไม่ใช่แค่ฝีมือแต่ต้องอึด แต่ก็มีพลาดแหละ บางทีแก้ผิดเองก็มี เราต้องยอมรับ แล้วเวลามีปัญหาผิดพลาดแบบนี้ เราต้องพยายามลืม ฮึดขึ้นมาให้ได้ อย่าจมกับมันแล้วโทษตัวเอง บอกตัวเองตลอดเวลาว่าคราวหน้าเอาใหม่ แล้วอยู่คนเดียวด้วยไง เวลาตื่นมาชอบกลัวว่าจะมีปัญหาอะไรไหมวะ แต่ก็ดีนะ มันทำให้เราลุกจากเตียง ไม่งั้นก็นอนอืด"

    ส่วนหนังสือดีในมุมมองของคนที่ทำสำนักพิมพ์มาเกิน 10 ปี เธอให้คำตอบน่าสนใจ ซึ่งยึดโยงไปถึงเกณฑ์การเลือกหนังสือมาแปลในนามของกำมะหยี่ด้วย

    "ต้องคมและเฉียบขาด ขณะเดียวกันก็ทำให้เราเห็นมุมเปิดหูเปิดตา ไม่ใช่งานเก่าๆ เดิมๆ มันต้องมีแง่มุมใหม่ๆ เทคนิคการเปรียบเทียบที่แปลกใหม่ มีความพิเศษ อีกอย่างต้องมีอารมณ์ขัน ส่วนใหญ่หนังสือที่เลือกมาตลกทั้งนั้น แต่อาจลึกไปหรือปุ่มตลกไม่ตรงกัน แต่มันมีความตลกทุกเล่ม แล้วเล่มไหนที่ไม่ขำก็ไม่ผ่าน เพราะนั่นคือจุดที่ควรตรงกันระหว่างเรากับนักเขียน แปลว่าเราให้คุณค่าในสิ่งเดียวกัน และไม่ให้คุณค่าในสิ่งเดียวกัน ถ้าเขาพูดเสียดสีอะไรแล้วเราไม่ขำก็แปลว่าเห็นไม่ตรงกันกับเขา แต่ถ้าขำ คิดได้ไงเนี่ย คิดแบบนี้มานานแล้ว อย่างนั้นเราเอา"

    ช่วงนี้กำมะหยี่กำลังทำงานเขียนคอลเล็กชันร้านหนังสือและคนรักหนังสืออยู่ พร้อมกับคัดเลือกงานใหม่ๆ มาจัดพิมพ์ให้พวกเราอ่านกันอย่างขะมักเขม้น และพอถามถึงอนาคตของสำนักพิมพ์ มิวก็ตอบไวราวกับครุ่นคิดมาแล้วนานพอดู

    "คิดว่าจะอยู่อีกสัก 9 ปี พอปี 2571 จะไม่ทำแล้ว ปิดเลย เพราะตอนนั้นอายุเท่าไหร่แล้ว คงไม่อยู่ยงคงกระพัน ตอนนี้ตาก็เริ่มไป ตั้งเวลาไว้น่ะดี เพราะทำหนังสือไม่ได้ทำแค่หนังสือแล้วไปขาย แต่มีเรื่องการทำสต็อก เคลียร์สต็อก เราก็ควรจะปิดดีๆ ไม่ควรเหลือทิ้งให้ใครสะสางต่อ วางแผนให้ชัดเจนว่าช่วงนี้จะทำอะไร"

    แม้ฟังดูน่าเสียดายที่สักวันหนึ่งกำมะหยี่จะไม่พิมพ์งานออกมาอีกแล้ว ทว่ามิวยังเชื่อว่าจะมีคนทำหนังสือรุ่นใหม่ๆ มารับช่วงต่อสืบสานวงการนี้ต่อไป และในช่วงที่เธอยังมีแรงและพลังทำงานนี้อยู่ ทุกคนคงได้เห็นหนังสือสันสีม่วงตามชั้นวางในร้านหนังสืออีกหลายต่อหลายเล่ม

บทตาม

    โดยทั่วไป เมื่อเราสัมภาษณ์บุคคลน่าสนใจ เราจะขอ Favorite Something อันได้แก่ คน หนัง เพลง หรือหนังสือที่เขาหรือเธอเสพมาให้ทุกคนได้ทราบด้วย โดยนำเสนอเป็นรายชื่อต่างๆ ต่อท้ายบทความเพื่อให้ผู้อ่านสืบค้นต่อ ทว่าครั้งนี้ มิวให้รายชื่อ Favorite Something มาพร้อมกับเหตุผลประกอบที่ถ้าไม่เอาลงก็คงเสียดาย เราจึงขอนำมาไว้ ณ บทนี้ด้วย

บุคคล

    1) ฟิลิปป์ กาบูล็อง : สามี - ทนท. (ท่านนายทุน) ของกำมะหยี่ ถ้าไม่ได้แรงสนับสนุนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นกำลังใจและเงินทุนจากเขา ก็คงไม่ได้ขยับขยายจากการเป็นนักแปลมาทำสำนักพิมพ์ และทำต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าช่วงหลังกำมะหยี่จะพอยืนได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องขอเงินทุนไปโปะเพิ่มสักเท่าไหร่แล้ว แต่การมีคนที่ไว้ใจ เข้าใจ ให้กำลังใจ ไม่เคยเสื่อมคลาย มีคนให้กรี๊ดกร๊าดบอกข่าวดี ให้ฟูมฟายแจ้งข่าวร้ายอยู่ข้างๆ ตัว นับเป็นโชคดีอย่างที่สุดของคนคนหนึ่ง เขาเก่งมากที่เป็นลมใต้ปีกช่วยประคองมาได้นานขนาดนี้ เพราะฉันเป็นคน 'หนัก' มากในทุกความหมาย ก็เลยชอบเขาเพราะเขาชอบเรา

    2) เฟรดดี เมอร์คิวรี : นักร้องนำวง Queen - ป้าเฟรดดี้ผู้เป็นที่รัก เป็นผู้ที่มีความสามารถในการร้องเพลง เล่นดนตรี มีความกล้าหาญที่จะทำสิ่งที่ตนเองต้องการ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีอารมณ์ขัน มีความคิดสร้างสรรค์ มีความโดดเด่นอย่างท้าทายหาใครเปรียบไม่ได้ เป็นไอดอลประจำใจตลอดกาล

หนังสือ

    1) คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ (Kafka on the Shore) ของ ฮารูกิ มูราคามิ  เป็นนวนิยายที่ส่วนตัวคิดว่าลงตัวที่สุดของ 'พี่ชาย' มีด้านจริง มีด้านแฟนตาซี มีประวัติศาสตร์ ปมจิตวิทยา มีแมว มีจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ มีการย้อนภพ มีตัวละครพลิกเพศ (ขั้นเหนือกว่าของข้ามเพศ) ไปจนถึงการตั้งคำถามกับกฎในสังคม ครบทุกรส เรื่องราวตัดสลับสองฝั่ง ทำให้วางไม่ลง อ่านสนุก หนากำลังดี

    2) A Horse Walks into a Bar ของ David Grossman นักเขียนชาวอิสราเอล เป็นนวนิยายดราม่าที่คล้ายๆ จะนำการแสดงตลกแบบสแตนด์อัพคอเมดี้มาเป็นน้ำตาลเคลือบความขมของสารที่สื่อ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ความตลกที่จี้ใจเรานี่ล่ะที่เสียดแทงลึกที่สุด เพราะเราได้เปิดใจ หันมุมลึกๆ ให้ความรู้สึกขำไปแล้ว  เรื่องราวของนักแสดงตลกสแตนด์อัพคอเมดี้ที่ระหว่างการแสดงได้สอดแทรกชีวิตของตัวเองลงไป โดยมีเพื่อนเก่าวัยเด็กเป็นผู้เล่า ในเรื่องเรายังได้ทำความรู้จักกับประเทศอิสราเอล และธรรมเนียมปฏิบัติของยิวที่น่าสนใจด้วย (กำมะหยี่จะตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยภายในปีนี้)

เพลง

    1) Bohemian Rhapsody - Queen ชอบเนื้อหา วิธีการเล่าเรื่อง และการเรียบเรียงดนตรีที่มีความหลากหลายในเพลงเดียว เป็นเพลงที่ดึงความสามารถของสมาชิกในวงออกมาได้ชัดเจนและทั่วถึง

    2) Hotel California - Eagles ชอบทำนอง เนื้อร้อง และเรื่องราวในเพลง ซึ่งไม่ได้เข้าใจสัญลักษณ์คำเปรียบเปรยทั้งหมดว่าหมายถึงอะไร เช่น We are programmed to receive. You can check out any time you like, But you can never leave! แต่นั่นก็เพิ่มเสน่ห์ ยิ่งอินเข้าไปใหญ่ตอนที่ได้อยู่อเมริกาแล้วไปขับรถเที่ยวข้ามรัฐนอนตามโมเทลข้างทาง

ภาพยนตร์

    1) The Lord of the Rings ทุกภาค เป็นหนังเซตเดียวที่ดูซ้ำได้ และตื่นตาตื่นใจในทุกครั้ง แม้ว่าพล็อตจะไม่ได้ใหม่มาก แต่ความหลากหลายของเผ่าพันธุ์ในเรื่อง ช่วยทำให้หนังน่าดู และดูสนุก

    2) Roma เป็นหนังที่สมจริงและเหนือจริงในคราวเดียวกัน มีสีสันเจิดจ้า แม้ว่าจะเป็นหนังขาวดำ มีฉากที่ทำให้ป้าตะลึงและขำก๊ากใหญ่แบบที่ไม่ได้ขำมานานแล้ว  คือฉากพ่อหนุ่มควงกระบองในห้องพักโรงแรมโชว์ให้สาวดู ส่วนป้าดูแต่กระบองเล็กอันข้างล่าง

Favorite Something
  •   The Lord of the Rings, Roma (2018)
  •   Bohemian Rhapsody - Queen, Hotel California - Eagles
  •   คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ (Kafka on the Shore) - ฮารูกิ มูราคามิ, A Horse Walks into a Bar - David Grossman
  •   ฟิลิปป์ กาบูล็อง, เฟรดดี เมอร์คิวรี

เดือนเพ็ญ จุ้ยประชา

นักเขียนและกองบรรณาธิการที่พบเจอตัวได้ตามหอศิลป์และร้านหนังสือ ชอบกินแซลมอนและชาบู อยากแก่ไปเป็นคุณป้าใจดีและมีฝูงแมวห้อมล้อม